• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    เมื่อวานนี้มีญาติน้ำหมึกมาเยี่ยม คนหนึ่งเพิ่งได้รับรางวัลดีเด่นมา

    ไม่ต้องถามก็ดูออกว่าดีใจ เพราะผมก็เคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาก่อน

    แต่ก็เตือนญาติน้ำหมึกรุ่นน้องว่า ให้ใช้รางวัลเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนความฝัน แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเราเก่งแล้วเป็นอันขาด เพราะรางวัลเดียวไม่ได้บอกว่าเราเก่งที่สุดในปฐพี แค่บอกว่าเราชนะคนอื่นในการประกวดครั้งนี้

    ที่ต้องบอกก็เพราะว่านักเขียนหลายคนหยุดผลิตงานหลังได้รับรางวัล เพราะไปเปรียบเทียบกับความสำเร็จครั้งก่อน

    ไม่มีใครในโลกที่สามารถทำงานชิ้นใหม่ได้ดีเท่าหรือดีกว่าชิ้นก่อนเสมอไป

    และประสบการณ์ตรงของผมคือหลังจากได้รับรางวัลซีไรต์แล้ว งานเขียนของผมยังถูกปฏิเสธ

    นี่บอกว่า นักเขียนอย่าเหลิงเป็นอันขาด อย่าคิดว่ามีรางวัลแล้ว ทุกที่จะอ้าแขนรับ

    ก็ดีไปอย่าง ทำให้เราต้องทำงานหนักขึ้น ยิ่งขึ้นที่สูง ยิ่งต้องทำงานหนักกว่าเดิม

    ผมจดจำคำของนักแปล ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน เป็นภาษาญี่ปุ่นมาได้โดยตลอด “นักเขียนต้องคิดว่านักอ่านฉลาดกว่าตนเอง”

    ดังนั้นนักเขียนจึงต้องทำงานหนัก ต้องเสนอสิ่งที่นักอ่านไม่รู้มาก่อน หรือคาดไม่ถึง หรือมองไม่ถึง ไม่งั้นเขาจะอ่านงานของเราทำไม

    ในด้านภาษาก็ต้องฝึกให้ถึงขั้นเป็นนายของภาษา

    ทุกด่านเหล่านี้มีตะกร้าอยู่ข้างๆ ตลอด

    ไม่มีนักเขียนเก่งๆ คนไหนก้าวขึ้นมาแถวหน้าโดยไม่เคยถูกปฏิเสธงาน ตะกร้าสร้างนักเขียนเมื่อร้อยปีก่อน ตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิม ดังนั้นเมื่อถูกปฏิเสธงาน ก็ไม่ต้องซีเรียส แค่เขียนเรื่องใหม่

    ไม่ต้องมีอีโก้ อีโก้มีไว้สำหรับคนเขียนหนังสือไว้อวดคน เขียนงานเสร็จหนึ่งชิ้น ก็เขียนชิ้นต่อไป

    นักอยากเขียนส่วนมากมักตายในด่านนี้ เมื่องานลงตะกร้าก็เลิกเขียน

    ตะกร้ามีประโยชน์มาก ผมบอกนักเขียนใหม่เสมอว่า ให้วิเคราะห์งานที่ถูกปฏิเสธงานทุกครั้งว่า ทำไมมันจึงถูกปฏิเสธงาน มันไม่ดีตรงไหน ไม่ดีอย่างไร หรือว่าบรรณาธิการตาไม่ถึง ถ้าบรรณาธิการตาไม่ถึง ทำไมจึงตาไม่ถึง

    ถ้าวิเคราะห์ไม่ได้ ไม่มีทางเป็นนักเขียนที่ดีได้เด็ดขาด

    นักเขียนต้องวิเคราะห์งานของตัวเองและคนอื่นได้

    ย้ำ - นักเขียนต้องวิเคราะห์งานของตัวเองและคนอื่นได้

    อีกจุดหนึ่งที่ต้องระวังมากๆๆๆ ก็คือ ให้วิเคราะห์สถานการณ์ที่งานได้รับการตีพิมพ์ด้วย

    อย่าด่วนสรุปว่างานของเราดี เขาจึงตีพิมพ์

    ไม่จริงเสมอไป มีบรรณาธิการไม่น้อยที่อ่านหนังสือไม่เป็น และตีพิมพ์งานไม่ดีด้วย

    การวิเคราะห์รอบด้านแบบนี้จะทำให้เราเก่งขึ้น และเรียนรู้จากงานทุกชิ้นที่เราเขียน

    อย่าเหลิง อย่าเชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินไป

    คิดเสมอว่านักอ่านฉลาดกว่าเรา

    วินทร์ เลียววาริณ
    29-3-24

    0
    • 0 แชร์
    • 3
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    แจ้งให้ทราบว่า งานหนังสือนี้ เรามีหนังสือลดราคา 100.- จำนวน 33 ปก

    จำเป็นต้องลดเพราะไม่มีที่เก็บแล้ว

    หนังสือส่วนใหญ่อยู่ในสภาพดี บางปกอาจจะเก่าตามสภาพ แต่จะไม่พิมพ์ใหม่อีกแล้ว

    นี่คือรายการหนังสือลด

    1 ความฝันโง่ๆ (กำลังใจ)
    2 เบื้องบนยังมีแสงดาว (กำลังใจ)
    3 อาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก
    4 สองแขนที่กอดโลก (กำลังใจ)
    5 สองปีกของความฝัน (กำลังใจ)
    6 คำที่แปลว่ารัก (กำลังใจ)
    7 ยาเม็ดสีแดง (กำลังใจ)
    8 รอยยิ้มใต้สายฝน (กำลังใจ)
    9 ท้องฟ้าไม่ปิดทุกวัน (กำลังใจ)
    10 1 เปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้ (กำลังใจ)
    11 บางครั้งเราก็ลืมรักตัวเอง (กำลังใจ)
    12 ชีวิตคือปฏิหาริย์! (กำลังใจ)
    13 ในหลุมรัก (เรื่องเกี่ยวกับความรัก)
    14 อาเพศกำสรวล (รวมเรื่องสั้นรางวัล)
    15 เส้นสมมุติ (รวมเรื่องสั้นรางวัล)
    16 สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง (เรื่องสั้นหักมุมจบ)
    17 แมงโกง (เรื่องสั้นหักมุมจบ)
    18 โลกด้านที่หันหลังให้ดวงอาทิตย์ (เรื่องสั้นภาพ)
    19 อุโมงค์ (เรื่องสั้นผี)
    20 ฝนตกขึ้นฟ้า (นวนิยาย)
    21 16 องศาเหนือ (นวนิยาย)
    22 คดีหนอนนิยาย (นิยายนักสืบ)
    23 คดีเจ็ดแพะ (นิยายนักสืบ)
    24 อัฏฐสุตรา (นวนิยาย)
    25 กาลีสุตรา (นวนิยาย)
    26 เดือนช่วงดวงเด่นฟ้าฯ (นิยายวิทยาศาสตร์)
    27 จรูญจรัสรัศมีพราวฯ (นิยายวิทยาศาสตร์)
    28 เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อยฯ (นิยายวิทยาศาสตร์)
    29 อำ (สารคดี)
    30 หลับถึงชาติหน้า (สารคดี)
    31 วินทร์-วินทร์ Situation (สารคดี)
    32 ปล่อยให้ความเปลี่ยนแปลงพาไป (สารคดี)
    33 เขียนไปให้สุดฝัน (ตำราสอนการเขียน)

    .............

    เหลือเล่มละ 100.-

    ซื้อ 10 เล่มเหลือเล่มละ 90.-

    ซื้อ 20 เล่มเหลือเล่มละ 85.-

    มีจำนวนจำกัด หมดแล้วหมดเลย จำหน่ายที่งานหนังสือ ศูนย์สิริกิติ์ บูธ L-44

    0
    • 0 แชร์
    • 15
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    วันนี้ (28 มีนาคม) ตั้งแต่เที่ยง มีงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ จนถึง 8 เมษายน

    บูธของผมอยู่เลขที่ L-44 ตรงข้ามซีเอ็ด

    ผมไปพบผู้อ่านทุกวัน ราว 12.00 - 13.30 น. และ 17.30 - 21.00 น.

    เวลาดังกล่าวกะคร่าวๆ เท่านั้น ถ้ามีคนคุยด้วย ก็อยู่นานขึ้น ถ้าไม่มีก็ไปเดินดูสาวๆ เอ๊ย! ไปดื่มสุรา เอ๊ย! ไปนั่งทำงานที่มุมสงัด

    ที่พลาดไม่ได้คือสำนักอิกอิกซามีหนังสือลดราคาเล่มละ 100.- จำนวนมาก (ลดต่ำกว่า 50%) เพราะกะจะล้างสต๊อกให้หมด (ไม่มีที่เก็บแล้ว) เอาไปซื้อเบนท์ลีย์ขับเล่นช่วงสงกรานต์

    ถ้าซื้อจำนวนเล่มมากขึ้น ก็ลดลงไปอีก อาจต่ำถึง 40%

    รายละเอียดโปรโมชั่นอื่นๆ ค่อยแจ้งให้ทราบครับ

    0
    • 0 แชร์
    • 23
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    หลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง กล่าวว่า “ตามความเป็นจริงแล้ว โลกที่เราอยู่นี้ไม่มี อะไร-ทำไม-ใคร เลย ไม่มีอะไรจะเป็นที่วิตกวิจารเลย ไม่มีอะไรที่น่าร้องไห้หรือหัวเราะ เพราะมันเป็นเรื่องอย่างนั้นธรรมดาๆ เราพูดธรรมดาๆ ได้ แต่มองไม่เห็นธรรมดา ถ้าเรารู้ธรรมสม่ำเสมอ ไม่มีอะไรเป็นอะไรแล้ว มันเกิดมันดับของมันอยู่อย่างนั้น เราก็สงบ”

    ท่านยกตัวอย่างว่า ก้อนทองคำก็ไม่มีราคา ถ้ามนุษย์เราไม่คิดว่ามันมีราคา มันก็จะถูกทิ้งเหมือนก้อนตะกั่วนั่นแหละ

    ดังนั้นความสุขความทุกข์ทั้งหลายในโลกก็เป็นเพียงมุมมองของเราเท่านั้น

    มองให้สุขก็สุข มองให้ทุกข์ก็ทุกข์

    มองว่ามีค่าก็มีค่า มองว่าไม่มีค่าก็ไม่มีค่า

    สุข-ทุกข์ มีค่า-ไม่มีค่า เป็นแค่มาตรสมมุติ

    ถ้าไปเชื่อว่ามันจริง เชื่อเป็นจริงเป็นจังก็เหนื่อยหน่อย

    ถ้ามองแบบนี้ก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นกับเงินทอง รถยนต์ ยศ ยี่ห้อ แบรนด์เนม จนกลายเป็นทาสของมัน

    ดังนั้นอยากมีสุขก็ไม่ต้องดิ้นรนอธิษฐานจากเทวดา แต่สร้างเอง

    สุขทุกข์ไม่ได้มาจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เรากำหนดเองได้

    แค่ปล่อยวาง มันก็มาเอง

    วินทร์ เลียววาริณ
    28-3-24

    0
    • 0 แชร์
    • 21
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    ประโยคของ มาร์ก ทเวน "ผมไม่มีเวลาเขียนจดหมายสั้นๆ ผมเลยเขียนแบบยาวๆ แทน" ฟังเหมือนการกวน-T แต่มีความหมายให้ขบคิด

    ความหมายของประโยคนี้ไม่น่าใช่ "เขียนสั้นยากกว่าเขียนยาว" (แม้ว่าเป็นความจริง) เพราะ มาร์ก ทเวน เก่งกาจพอใช้คำน้อยกินความมาก

    แต่เรื่องบางเรื่องเขียนสั้นจะดี และควรเขียนสั้น เรื่องบางเรื่องเขียนยาวจะดีกว่า

    การเขียนทุกชนิดคือการสื่อสาร แต่ไม่ทุกงานเขียนเป็นศิลปะ

    สำหรับคนในยุค 'แปดบรรทัดพอ' อาจมองการเขียนเป็นแค่การสื่อสาร

    เมื่อมองว่ามันเป็นการสื่อสาร ก็ต้องการให้สื่อให้เข้าใจง่ายที่สุด รับสารให้เร็วที่สุด และสั้นที่สุด เพื่อที่จะรับสารจำนวนมากที่สุด เพราะเรามีภาพในใจว่า คนที่รู้ข่าวจำนวนมากที่สุดคือคนทันโลก (ซึ่ง - ขออภัยที่จะบอกว่า - ไม่เป็นความจริง)

    นี่ทำให้หลายคนมองข้ามสองจุดที่งานเขียนดีๆ สามารถมอบให้ได้ หนึ่งคือแง่คิด สองคือความงามของศิลปะ

    และไม่ใช่ศิลปะทุกชิ้นสามารถสื่อสารได้ใน 8 บรรทัด

    ดังนั้นบ่อยครั้งผมก็พบตัวเองในสถานการณ์ที่ "ผมไม่มีเวลาเขียนอะไรสั้นๆ"

    วินทร์ เลียววาริณ
    27-3-24

    0
    • 0 แชร์
    • 23