• วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    เมื่อวานนี้ผมเล่าว่า ผมทำงานที่อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงกว่านี้สมองคิดพล็อตไม่ออก

    นี่ไม่ได้ล้อเล่น

    บางคนตั้งค่าอุณหภูมิห้องที่ 25 หรือสูงกว่าเพื่อประหยัดค่าไฟ แต่ผมมองกลับกัน ผมจะตั้งค่าอุณหภูมิห้องให้เหมาะที่สุด เพื่อที่จะทำงานได้ดีที่สุด ประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าไฟ!

    อุณหภูมิห้องสำหรับแต่ละคนแตกต่างออกไป ตามสรีระ ระบบการเผาผลาญของร่างกาย สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

    ผมเองเคยลองมาหลายอุณหภูมิแล้ว 21 องศาเหมาะที่สุดสำหรับตัวเอง สมองแล่นดี ถ้าตั้งที่ 23-25 คิดอะไรไม่ออก

    ความจริงตะวันตกมีการศึกษาเรื่องนี้ว่า อุณหภูมิเท่าไรจึงให้ประสิทธิภาพงานสูงสุด

    ผลวิจัยส่วนมากสรุปที่ตัวเลข 21-23 องศาดีที่สุด ถ้า 25 องศาขึ้นไปจะลดประสิทธิภาพการทำงาน

    ท่านลีกวนยูแห่งสิงคโปร์ชอบใช้ชีวิตอยู่ในอุณหภูมิ 22 องศา ส่วนเวลาหลับตั้งค่าที่ 19 องศา

    ก็แล้วแต่คน บางคนชอบเย็นมาก บางคนออกไปทางอุ่นๆ

    ก็มาถึงเรื่องของช่างแอร์คนหนึ่งไปซ่อมห้องทำงานของท่านรัฐมนตรีผู้มีข่าวคอร์รัปชั่นมาตลอด หลังซ่อมเสร็จ รัฐมนตรีบอกว่า "ทำไมห้องผมร้อนจัง คุณตั้งไว้กี่องศาเนี่ย?"

    "39 องศาครับ"

    "ทำไมตั้งค่าสูงอย่างนี้?"

    "อ้าว! ก็เพราะท่านเป็นสัตว์เลือดเย็นไม่ใช่หรือครับ เห็นแดกภาษีประชาชนโดยไม่รู้สึกอะไร"

    เรื่องนี้แต่งขึ้นที่อุณหภูมิห้อง 25 องศา พล็อตจึงเพื้ยนๆ ไปบ้าง ขออภัย เดี๋ยวจะปรับกลับมาที่ 21 องศา

    วินทร์ เลียววาริณ
    17-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 28
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    ชายคนหนึ่งเล่าความลับของเขาให้เพื่อนคนหนึ่งฟังว่า "ผมเคยสับสนกับชีวิตมานาน ผมเพิ่งรู้ตัวตอนเรียนมัธยมปลายว่า ผมชอบทั้งหญิงและชาย ทำให้ผมตกใจมาก ผมโตมาในครอบครัวที่สอนว่า โฮโมเซ็กชวลเป็นเรื่องผิดอย่างยิ่ง

    "ผมมีความสัมพันธ์กับหญิงและชายในเวลาเดียวกัน แต่ความสัมพันธ์ทั้งสองนั้นก็ยุติลง เพราะผมไม่สามารถยอมรับตัวเองได้...

    "ผมกลัวและเกลียดตัวเองที่ชอบผู้ชาย ทุกครั้งที่ผมมีความสัมพันธ์แบบนี้ ผมมีความสุขและทุกข์มหันต์ในเวลาเดียวกัน..."

    ชายคนนั้นบอกว่า "ในที่สุดผมก็ยอมรับความจริงเกี่ยวกับตัวผมเอง ตอนนี้ผมกล้าบอกคนอื่นว่า ผมเป็นไบเซ็กชวล คนอื่นก็ยอมรับผมด้วยดี"

    เราจะให้คนอื่นยอมรับเราได้อย่างไร หากเราไม่ยอมรับตัวเองก่อน?

    ...........

    ชายอีกคนหนึ่งเล่าว่า "เส้นผมของผมร่วงลงมาทุกวัน ผมอายุเพียงยี่สิบกว่า แต่ผมดูแก่เกินวัย กบาลของผมโล่งเตียนขึ้น ๆ ทุกวัน ทุกครั้งที่มองดูตัวเองในกระจกเงา ผมกลุ้มใจมาก ผมเสียเงินมากมายในการปลูกผม ลองสูตรใหม่ ๆ ทุกสูตร เสียเงินไปกับแชมพูใหม่ ๆ ลองใส่วิก แต่ก็ไม่ชอบ ไปหาหมอหลายคน เสียค่าหมอสารพัด แต่ผมก็ยังหัวล้านอยู่..."

    ชายหัวล้านเล่าว่า "วันหนึ่งผมก็ตัดสินใจได้ เช้านั้นผมโกนเส้นผมออก ผมขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน ไม่มีใครสนใจกบาลของผมเลย ผมเดินเข้าที่ทำงาน ไม่มีใครสนใจอีกนั่นแหละ วันนั้นเป็นวันที่ผมมีความสุขที่สุด"

    เราจะให้คนอื่นยอมรับเราได้อย่างไร หากเราไม่ยอมรับตัวเองก่อน?

    จาก รอยเท้าเล็ก ๆ ของเราเอง / วินทร์ เลียววาริณ

    0
    • 0 แชร์
    • 19
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    ช่วงสงกรานต์ นั่งอ่านนวนิยาย ดาวซานถี่ (Three-Body Problem) เล่ม 1 จบ

    เป็นของขวัญจากผู้อ่านท่านหนึ่งที่กรุณามอบให้

    ยังไม่สามารถคอมเมนต์ใหญ่ เพราะยังมีอีกสองเล่ม

    ความเห็นวูบแรกคือ น่าสนใจ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่การเล่าเรื่องส่วนใหญ่ห้วนมากๆ

    สำนวนเล่าแปลกๆ ไม่แน่ใจว่าแปลตรงจากต้นฉบับอย่างนี้หรือเปล่า เพราะห้วนเหมือนบทภาพยนตร์มากกว่านวนิยาย เช่น

    บทที่ 1 ประเทศจีน ค.ศ. 1967 (แล้วตัดเข้าเรื่อง)

    บทที่ 2 สองปีต่อมาที่เทือกเขาต้าชิงอันหลิง (แล้วตัดเข้าเรื่อง)

    บทที่ 4 สามสิบแปดปีต่อมา (แล้วตัดเข้าเรื่อง)

    แต่นิยายมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสดใหม่ แม้จะหงุดหงิดทุกครั้งที่อ่านนิยายที่สิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาวเหมือนคน

    ไว้อ่านให้จบก่อนค่อยเล่า (ถ้าอ่านจบนะ)

    ป.ล. หลังจากอ่านจบเล่ม 1 ก็เห็นว่าบทภาพยนตร์ซีรีส์ Three-Body Problem ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิดตอนแรกมาก อย่างน้อยความห้วนก็หายไป

    0
    • 0 แชร์
    • 25
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    โพสต์ก่อนเล่าว่าผมเขียนหนังสือแนวเสริมกำลังใจไป 20 เล่ม บางคนอาจรู้สึกว่ามาก แต่มันไม่ใช่แนวที่ผมเขียนมากที่สุด เป็นแค่หนึ่งในห้าของหนังสือที่ผมเขียน

    ที่มากกว่าแนวกำลังใจคือแนววรรณกรรม ได้แก่รวมเรื่องสั้นกับนวนิยาย จนถึงวันนี้ก็เขียนไปแล้ว 25 เล่ม

    รางวัลแทบทั้งหมดที่ได้ก็มาจากตระกูลนี้

    แต่มันก็ไม่ใช่แนวที่เขียนมากที่สุดเช่นกัน

    แนวที่เขียนมากที่สุดน่าจะเป็นสารคดีด้านต่างๆ ราว 30 เล่ม

    แนวประวัติศาสตร์กับแนววิทยาศาสตร์ก็ไม่น้อย อย่างละราว 10 เล่ม

    แนวนักสืบ 9 เล่ม

    แค่ร้อยกว่าเล่มก็หืดขึ้นคอ ไม่รู้ท่าน ไอแซค อสิมอฟ เขียนได้ยังไงตั้ง 500 เล่มในระยะเวลา 50 ปี เท่ากับปีละ 10 เล่ม

    อ้อ! ในงานหนังสือที่ผ่านมา ผู้อ่านหลายคนมาถามว่า คุณพุ่มรักตายไปแล้วหรือไร หรือว่าถูกมนุษย์ต่างดาวจับไป

    ก็สัญญาว่า เขียนนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้เสร็จ จะรีบลงประกาศตามคุณพุ่มรักกลับมา

    ที่บ้านให้อภัยหมดแล้ว

    วินทร์ เลียววาริณ
    16-4-24

    (อ่านโพสต์ก่อน https://www.facebook.com/photo/?fbid=1024129909075700&set=a.208269707328395)

    0
    • 0 แชร์
    • 20
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    ผมเขียนหนังสือแนวเสริมกำลังใจมาครบ 20 ปีพอดีแล้ว จำนวน 20 เล่มพอดีเช่นกัน

    มันเริ่มมาจากผมตัดสินใจเป็นนักเขียนอาชีพในปี 2547 หลังจากเป็นนักเขียนไซด์ไลน์มาราว 16-17 ปี ไหนๆ จะเปิดตัว ก็ต้องเปิดเว็บไซต์สื่อสารกับผู้อ่าน

    เมื่อมีเว็บไซต์ ก็ปล่อยให้ว่างไม่ได้ ต้องเขียนอะไรสักอย่างปะหน้าเว็บต่อเนื่อง เพื่อให้เว็บมีความเคลื่อนไหว

    และต้องเขียนเรื่องที่จบในตอน ไม่ยาวเกินไป

    เป็นที่มาของบทความเสริมกำลังใจ

    ความจริงงานเขียนปะหน้าเว็บตลอด 20 ปีนี้ไม่ใช่บทความเสริมกำลังใจล้วนๆ มันรวมเรื่องความคิด มุมมองต่อโลก ปรัชญา และเกร็ดสารพัด

    ผมโปรแกรมตัวเองให้เขียนสัปดาห์ละเรื่อง โพสต์ลงทุกวันเสาร์เช้า ไม่รู้ว่าจะทำได้นานเท่าไร

    แต่ก็ทำมา 20 ปีแล้ว ไม่เคยขาดตอน ยกเว้นมีเรื่องฉุกเฉินจริงๆ แสดงว่าอึดพอประมาณ

    พอเขียนเสร็จจำนวนหนึ่ง ก็รวมเล่ม เล่มแรกคือ รอยเท้าเล็กๆ ของเราเอง

    ตามมาด้วยเล่มที่ 2 3 4... จนถึง 20 ตั้งชื่อชุดว่า winspiration เอ้อ! ใช้ภาษาฝาหรั่งด้วยแน่ะ!

    ราวกับเป็นนกรู้ว่าจะต้องเขียนนาน หน้าแรกของหนังสือ รอยเท้าเล็กๆ ของเราเอง ผมยกคำของเล่าจื้อว่า "การเดินทางไกลหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก"

    หลังจากเดินมาหลายพันลี้กับหนังสือ 20 เล่ม ก็พบว่ายังไปไม่ถึงหมื่นลี้

    'หมื่นลี้' สำหรับผมหมายถึงวันตาย คือลี้หายตายจาก เพราะยังไม่เห็นวี่แววว่า (อยาก) จะหยุดเขียนเมื่อไร

    อาจจะอ้างว่ายังมีข้าวต้องซื้อ ผงซักฟอกต้องจับจ่าย แต่จริงๆ แล้วเป็นพวกเสพติดงานเขียน

    สำหรับนักเขียนที่เป็นโรค workaholic หมื่นลี้คงไม่มาถึงง่ายๆ

    วินทร์ เลียววาริณ
    เมษายน 2567
    ปีที่ 20 @winspiration

    0
    • 0 แชร์
    • 18