• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    เมื่อวานนี้คุยเรื่องตึกสูง มีทั้งความเห็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดีครับ เป็นการถกที่เปิดมุมมองดี

    ก็ขอขยายความต่ออีกนิด เป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการออกแบบสถาปัตยกรรม

    นักศึกษาวิชาออกแบบสถาปัตยกรรมจะได้ยินคาถาศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ปีแรกว่า "Form follows function." แปลว่าให้ออกแบบตึกตามหน้าที่ใช้สอย

    เช่น เจ้าของบ้านสามีภรรยาใช้ห้องน้ำแยก ก็ต้องออกแบบเป็นสองห้องน้ำที่เชื่อมกับห้องนอน ถ้าเจ้าของบ้านไม่ใช้อ่างอาบน้ำ ก็ไม่ต้องใส่อ่างเข้าไป ไม่ว่าจะเท่แค่ไหน

    ถ้าสร้างบ้านในเขตร้อน ก็ไม่เปิดช่องแสงทิศตะวันตก เพราะทำให้บ้านร้อน ถ้าฝนตกแรง ก็ต้องทำชายคากว้าง

    แต่กระนั้นสถาปนิกไม่น้อยที่อาจได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก ตั้งธงในใจว่าอยากสร้างบ้านกระจกในเมืองไทยที่ร้อนจัด ผลก็คือต้องติดเครื่องปรับอากาศและรับมือน้ำฝนที่รั่วซึมเข้ามา

    เท่ แพง และอยู่ไม่สบาย

    ก็มาถึงเรื่องสร้างตึกสูงที่สุดในโลกในประเทศไทย

    ถ้าหน้าที่ใช้สอยของโครงการนั้นจำเป็นต้องสร้างสูงขนาดนั้น เช่น มนุษย์ต่างดาวบุกโลกทิ้งระเบิดนิวตรอน ทำให้แผ่นดินเมืองไทยหดเล็กลงล้านเท่า เหลือแผ่นดินเล็กนิดเดียว จำเป็นต้องขึ้นสูง หรือเพราะชั้นบนของตึกสามารถรับพลังศักดิ์สิทธิ์ ทำให้อายุยืนขึ้นร้อยปี อย่างนี้ก็ควรรีบสร้าง

    แต่การสร้างตึกสูงที่สุดในโลกที่นักการเมืองวางนโยบายนี้ ดูเหมือนเป็นการให้คำตอบก่อนตั้งคำถาม

    เป็น preconceived idea ว่า ตึกสูงดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ หรือชาวโลกสนใจ หรือต้องการชื่อเสียง ต้องการการยอมรับในกินเนสบุ๊ค

    สมัยผมเป็นเด็ก หาดใหญ่มีโรงแรมสร้างใหม่สูง 7 ชั้น ชื่อโรงแรมคิงส์ เป็นตึกเดียวในภาคใต้ที่มีลิฟต์ ทันใดนั้นมันก็กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในภาคใต้ ทุกคนต้องไปเที่ยวชม แต่ไม่นานคนก็เบื่อ เพราะมีตึกใหม่ที่สูงกว่า

    ครั้งที่ศูนย์การค้าไทยไดมารูติดตั้งบันไดเลื่อน ใครๆ ก็ไปเยือนห้าง เพื่อลองใช้บันไดเลื่อน ไม่นานก็ไม่มีใครสนใจ

    ของแบบนี้เห่อได้ชั่วคราว แต่ศิลปะวัฒนธรรมเช่นเมืองน้อยในญี่ปุ่นที่ไม่มีตึกสูง ดึงคนไปเที่ยวได้ตลอดเวลา

    อาคารสูงในสมัยก่อนหรือสมัยโบราณ ไม่ได้ตั้งธงว่าจะทำสูงที่สุดในโลก เพราะไม่มีอะไรให้เปรียบหรือแข่งขัน เช่น พีระมิด ไอเฟล หอเอนปิซา ฯลฯ มันสูงของมันในสมัยที่สร้าง บางที่อาจตั้งใจให้สูงเพื่อจะสามารถ "เอื้อมมือเกาตีนพระเจ้า" แต่คุณค่าของมันในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ความสูง

    สมัยเรียนสถาปัตย์ฯ อาจารย์สอนเสมอว่า เส้นนอนดีกว่าเส้นตั้ง โดยเฉพาะในเมืองไทย แผ่นดินกว้างขวาง ไม่ใช่เกาะแมนฮัตตัน เราไม่มีเหตุผลที่จะสร้างตึกสูง และโดยหน้าที่ใช้สอย ก็ไม่มีเหตุผลสร้างตึกกระจกทั้งแท่ง

    สถาปนิกที่มีสำนึกเรื่องความงาม ต่างไม่ชอบตึกสูงเป็นแท่งโด่เด่ พวกเขาเห็นว่าการสร้างตึกต้องให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม พวกเขาเห็๋นว่าใครที่สร้างบ้านสร้างตึกโดดออกมา น่าจะมีปมด้อย ไม่มีอะไรดี จึงต้องอวดด้วยวัตถุ

    หลายสิบปีก่อน หลังจากปรากฏแท่งคอนโดสูงหลายสิบชั้นบนเส้นขอบฟ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีคนรณรงค์เรี่ยไรเงินมาซื้อตึกเพื่อทุบออกครึ่งหนึ่ง เพราะแท่งตึกนี้ (แม้จะออกแบบสวย) ทำลายเส้นขอบฟ้าโดยสิ้นเชิง จัดเป็นทัศนอุจาดในคำจำกัดความของอาจารย์แสงอรุณ

    กรอบคิดของนักการเมืองบ้านเรามักวนอยู่ที่เปลือก เราจึงคิดเพียงแค่สร้างตึกสูงที่สุด แข่งสวมกางเกงช้างมากที่สุด สาดน้ำสงกรานต์นานที่สุด

    และอยู่เป็นรัฐบาลให้ยาวนานที่สุด

    ป.ล. พอแค่นี้ดีกว่า ผมชักบ่นมากไปแล้ว กลัวจะได้รับตำแหน่งคนที่ขี้บ่นที่สุดในโลก

    วินทร์ เลียววาริณ
    20-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 6
  • วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    ลีกวนยูสร้างชาติอย่างไร ตอนใหม่ กุนซือของลีกวนยู คลิกลิงก์ https://www.blockdit.com/posts/661f7b808d4a6b4a8599920c 

    0
    • 0 แชร์
    • 2
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    เห็นข่าววันนี้แล้วนึกถึงอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร

    เป็นอาจารย์ผมที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ

    เล่าข่าวก่อน

    วันนี้มีข่าวผู้นำไทยปรึกษาตัวแทน EMAAR Group ผู้สร้างตึก Burj Khalifa (ตึกสูงที่สุดในโลกปัจจุบัน) วางแผนสร้างตึกสูงที่สุดในโลกในประเทศไทย ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า สำนักงาน โรงแรม และศูนย์บันเทิงครบวงจร เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่

    เฮ้อ! ท่องเที่ยวอีกแล้ว!

    วิธีคิดแบบ "ต้องทำอะไรใหญ่ๆ" นี่ อย่าว่าแต่ผู้นำประเทศเลย อาจารย์มหาวิทยาลัยก็เป็น

    ปีหนึ่งผู้บริหารจุฬาฯมีมติสร้างเสาธงสูงที่สุดในประเทศ อาจารย์แสงอรุณพูดกับพวกเรานิสิตในชั้นเรียนวันหนึ่งว่า แทนที่จะเอาเวลาไปพัฒนาคุณภาพการศึกษา กลับไปยึดติดที่เปลือก

    ถ้ายังไปยึดกับขนาดและปรัชญา "ที่สุดในประเทศ" และ "ที่สุดในโลก" ก็แสดงว่ามีปมด้อย

    มีแต่คนที่มีปมด้อยจึงชอบสร้างของสูงที่สุด ใหญ่ที่สุด

    จะสร้างสูงแค่ไหน? สูงขนาดสามารถเอื้อมมือไปเกาตีนพระเจ้างั้นหรือ (นี่เป็นสำนวนอาจารย์แสงอรุณ กวน-T ไม่เบา!)

    อาจารย์แสงฯเป็นสถาปนิก ศิลปิน นักอนุรักษ์ธรรมชาติ และนักปรัชญา ชื่นชมวิถีเซน และเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเซน

    เซนไม่ชอบทำอะไรที่โฉ่งฉ่าง ผิดธรรมชาติ หรือสร้างอีโก้

    ผมจดจำวิธีมองโลกแบบนี้มาจนทุกวันนี้ และยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งเห็นด้วย

    สร้างใหญ่ที่สุด-สูงที่สุดแล้ว ก็มีคนสร้างใหญ่กว่าสูงกว่าเสมอ ไม่เคยสิ้นสุด

    เราควรสอนเด็กให้รู้จักความงามของความพอดี ไม่ใช่ความใหญ่

    ไม่งั้นเด็กโตขึ้นก็จะกลายเป็นพวกมีปมด้อย

    ยิ่งสูงก็ยิ่งเตี้ย

    ว.ล. 19-4-24

    1
    • 0 แชร์
    • 22
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    ช่วงนี้ต้องเขียนหนังสือแบบโก้วเล้ง

    หรือพ.ต.ต.ประชา...พูนวิวัฒน์...เจ้าของฉายานักเขียนบรรทัดละ7บาท

    เขียนหนึ่งประโยคหรือหนึ่งวลี-ก็ย่อหน้าเลย

    ดูเหมือนยาวแต่อ่านจบเร็ว

    นักเขียนยุคก่อนรับค่าเรื่องที่ความหนาของงาน

    คิดค่าเรื่องเป็นหน้า

    หลายคนจึงเขียนแบบนี้

    ย่อหน้าถี่ๆ

    เรื่องจะได้ยาว

    อา'รงค์-วงษ์สวรรค์...เคยเล่าว่านักเขียนบางคนใช้เครื่องพิมพ์ดีดที่ให้ตัวหนังสือโตๆ...ช่องไฟห่างๆ

    พิมพ์ไม่นานก็หมดหน้ากระดาษ

    ต้นฉบับหนา...แต่เนื้อเรื่องนิดเดียว

    โรงพิมพ์ก็รู้

    แต่ก็หลับตาข้างหนึ่ง

    เพราะเห็นว่าพวกนักเขียนไม่ได้มีรายได้สูงอะไร

    นี่พอเข้าใจได้

    แต่พวกส.ส.ที่กินเงินเดือนสูงๆ...พูดเรื่องนิดเดียวให้ยาวเป็นน้ำท่วมทุ่งนี่...ไม่รู้จะว่ายังไง

    เคี้ยกเคี้ยก

    (คีย์บอร์ดเสีย...ก็ยังอุตส่าห์มีเรื่องมาเล่า)

    วินทร์...เลียววาริณ
    19-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 18
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    ครั้งหนึ่งเมื่อย้ายบ้านใหม่ ผมพบว่าปัญหาในการซื้อเครื่องเรือนเข้าบ้านคือ หาซื้อสินค้าเรียบง่ายไม่ได้

    ไม่น่าเชื่อว่าเมืองไทยที่มีศูนย์การค้าและร้านขายเฟอร์นิเจอร์เกลื่อนเมืองไม่มีโซฟาแบบเรียบ ๆ ที่ไม่มีลวดลาย การหาซื้อโต๊ะอาหารแบบเรียบง่ายไม่มีลูกเล่นใด ๆ เป็นสิ่งที่ยากเย็นอย่างไม่น่าเชื่อ เดินหารอบเมืองจนรองเท้าสึก ไม่พบพานเลย

    เครื่องเรือนแทบทั้งหมดในโชว์รูมใส่รายละเอียดมากมาย ทั้งส่วนโค้งส่วนเว้า ทั้งสลักลาย ใช้วัสดุมากชนิดในงานชิ้นเดียว นัยว่าทำให้คนซื้อรู้สึกว่าคุ้มค่า

    จนเมื่อเดินเข้าร้านเครื่องเรือนที่นำเข้าจากยุโรป จึงพบสินค้าเรียบง่ายดังใจ แต่ราคาโต๊ะตัวละสองแสนบาท โซฟาชุดละสี่แสนบาททำให้ต้องรีบเดินทางหนีจากความเรียบง่ายอย่างรวดเร็ว

    ผมเรียนการออกแบบมาหลายสายทาง และทุกสายสอนตรงกันว่า งานที่ดีที่สุดคืองานที่เรียบง่ายที่สุด และงานที่เรียบง่ายที่สุดออกแบบยากที่สุด

    ปรัชญานี้ตรงกับศิลปะแทบทุกแขนง

    ในทางวรรณกรรม งานเขียนที่รกรุงรังยากที่จะเป็นงานเขียนที่ดี เรื่องสั้นที่มีฉากมากมักไปไม่รอด นวนิยายที่มีตัวละครเยอะเกินจำเป็นมักน่าเบื่อ

    ในทางสถาปัตยกรรม บ้านที่ใส่องค์ประกอบทุกอย่างทุกสไตล์ (ที่เจ้าของบ้านชอบ) เข้าไปในหลังเดียวมักออกมาเละ

    ในวงการแฟชั่น เสื้อผ้าของนักออกแบบที่ดีมักเรียบง่าย โดยเน้นที่องค์ประกอบที่ลงตัวทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นลายเส้น รูปทรง สัดส่วน จังหวะ

    ศิลปะเป็นเรื่องของการผสมผสานให้ลงตัว ไม่มีอะไรอื่น สัดส่วนที่ลงตัว สีที่ลงตัว ผิวที่เหมาะสม

    งานเขียนที่ดีคืองานเขียนที่มีองค์ประกอบน่าสนใจและผสมผสานได้ลงตัว

    เช่นเดียวกับอาหาร ดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพยนตร์ ไปจนถึงชีวิตรัก

    ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ งานที่เรียบง่ายมักมีอายุยาวนานกว่า ไม่ว่าวงจรแฟชั่นหมุนเวียนเปลี่ยนไปกี่รอบ ไม่ช้าหรือเร็ว เราก็มักหวนกลับไปหางานเรียบง่ายเสมอ ที่เราชอบเรียกกันว่า 'Back to basic'

    มาถึง พ.ศ. นี้ หาสินค้าที่เรียบง่ายยากขึ้นทุกวัน สไตล์การใช้ชีวิตก็พลอยซับซ้อนขึ้นไปโดยปริยาย

    โทรศัพท์มือถือมีฟังก์ชั่นการใช้งานมากจนไม่น่าเชื่อว่าบรรจุทุกอย่างในเครื่องเล็กนิดเดียวได้อย่างไร กล้องถ่ายรูป วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องไมโครเวฟ ไปจนถึงนาฬิกาข้อมือ ล้วนสามารถตั้งโปรแกรมนับร้อย จนสงสัยว่า ในโลกนี้จะมีใครสักกี่คนที่ต้องใช้ฟังก์ชั่นทั้งหมดเหล่านั้น

    เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเรายุ่งขึ้น ก็เพราะคำว่า การตลาด การแข่งขันในทางธุรกิจทำให้สินค้าที่ผลิตมาสู้กับคู่แข่งต้องมีลูกเล่นมากขึ้น แน่ละ มันทำให้เทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้า แต่มันก็ทำให้ชีวิตเราซับซ้อนขึ้น

    เราควรแยกแยะให้ออกว่า อะไรในชีวิตเป็นความต้องการแท้ อะไรเป็นความต้องการเทียม

    บ่อยครั้งเราพบว่ากำลังสร้างความต้องการเก๊ ๆ ขึ้นมา โดยที่ชีวิตไม่จำเป็นต้องการใช้มันเลย ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่โลกเรามีโทรศัพท์มือถือ ผู้คนทั้งโลกพูดมากขึ้น ไม่มีเรื่องพูด ก็พยายามหาเรื่องพูด

    กรรมกรก่อสร้างที่มาทำงานให้ผมทำงานไปพูดโทรศัพท์มือถือไป เช่นเดียวกับคนขับแท็กซี่ และคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างในซอย

    ลองปิดโทรศัพท์มือถือของคุณทิ้งสักวัน จะพบว่าเรามีเวลามากขึ้นอย่างเหลือเชื่อ ชีวิตก็ดูจะเรียบง่ายมากขึ้นทันตาเห็น

    ชีวิตที่ดีก็เช่นงานศิลปะที่ดี มีองค์ประกอบน้อยที่สุด และมีความเรียบง่ายเป็นหัวใจ

    ใช่ สิ่งที่เรียบง่ายมักมีอายุยาวนานกว่า ไม่ว่าวงจรชีวิตหมุนเวียนเปลี่ยนไปกี่รอบ ไม่ช้าหรือเร็ว เราก็มักหวนกลับไปหาความเรียบง่ายเสมอ

    จากหนังสือ เบื้องบนยังมีแสงดาว / วินทร์ เลียววาริณ

    1
    • 0 แชร์
    • 19