• วินทร์ เลียววาริณ
    1 ปีที่ผ่านมา

    วันก่อนลงคำของ เฮอร์มานน์ เฮสเส “If you hate a person, you hate something in him that is part of yourself.”

    อ่านแล้วงงกันถ้วนหน้า เพราะเราสามารถยกตัวอย่างมากมายขึ้นมาแย้งคำกล่าวนี้ เช่น

    "ผมเกลียดพวกโฮโมเซ็กชวล แต่ผมไม่เป็นโฮโมเซ็กชวล มันจะเป็นส่วนหนึ่งของผมได้ยังไง"

    หรือ "ผมเกลียดยิว แต่ผมไม่ใช่ยิว ยิวจะเป็นส่วนหนึ่งของผมได้ยังไง"

    ถ้าตีความแบบนี้ก็จะงง เพราะใช้ตรรกะคิด และมองแบบหมายความตามคำ (literally)

    แต่ความาหมายของคำกล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องของตรรกะ มันเป็นนามธรรม

    ยกตัวอย่าง เช่น เราเกลียดพวกโฮโมเซ็กชวล เพราะสภาวะโฮโมเซ็กชวลอาจเป็นความกลัวของเรา เราไม่ชอบหากมันเกิดกับเรา เราจึงเกลียดคนที่สะท้อนความกลัวของเรา

    เป็นต้น

    แต่จะเข้าใจคำกล่าวนี้ ก็ต้องรู้ที่มาของมัน คำกล่าวนี้มาจากนวนิยายเรื่อง Demian: The Story of Emil Sinclair's Youth ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส เป็นนวนิยายที่อ่านยาก เพราะเป็นงานสำรวจจิตใจของตัวละคร Emil Sinclair

    เรื่องโดยย่อคือ Emil Sinclair เป็นเด็กหนุ่มที่หลงทาง เขารู้สึกเหมือนอยู่ในโลกมายา จมในความลวงตา ไม่รู้ว่าชีวิตของเขาคืออะไรกันแน่ เขาค่อยๆ เรียนรู้จากเพื่อนชื่อ Max Demian แล้ว 'ตื่น' ในที่สุด

    เฮสเสเองก็ผ่านประสบการณ์แบบนี้ในชีวิต จนต้องขอรับการรักษาทางจิตจากศิษย์ของ คาร์ล ยุงก์ (Carl Jung) เขาชอบงานของยุงก์ ต่อมาก็สะท้อนวิธีคิด-วิเคราะห์แบบยุงก์ในนวนิยายของเขา

    คาร์ล ยุงก์ กล่าวว่า “Everything that irritates us about others can lead us to an understanding of ourselves.” (ทุกอย่างที่รบกวนใจเราเกี่ยวกับคนอื่น นำเราไปสู่ความเข้าใจตัวเราเอง)

    มนุษย์เรามักมองโลกแบบปลอดภัยไว้ก่อน แบบที่เราเคยชิน เราสร้างเกราะมาปกป้องจุดอ่อนของเรา เกราะชิ้นหนึ่งคือความเกลียด

    แต่โลภภายนอกก็เหมือนกระจกสะท้อนตัวเราเอง ถ้าเรามองคนอื่นให้ลึก เราจะเห็นตัวเราเอง

    โลกภายนอกที่เรามองเห็นสะท้อนโลกภายในของเราเอง

    การสำรวจสภาวะจิตและความคิดของตัวเองเป็นระยะๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

    ถ้าจมชีวิตอยู่กับความเกลียดทั้งวันทั้งคืน ก็จะไม่เหลือเวลาใช้ชีวิตจริงๆ

    วินทร์ เลียววาริณ
    26 สิงหาคม 2566

    0
    • 0 แชร์
    • 58

บทความล่าสุด