• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    (บทความอาจารย์แสงอรุณตอนต่อ)

    เพื่อนคนหนึ่งของอาจารย์แสงฯเล่าว่า "แสงอรุณรักชีวิตชนบท สมัยเรียนมัธยม 5-6 ทั้งสองมักไปสูดไอดินหลังฝนตก ชอบดูต้นไม้ในป่าหลังฝนตก แสงอรุณบอกว่ามันทำให้เขา เบิกบานอิ่มเอิบหัวใจ"

    ตอนเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 ฝีมือการวาดเขียนของแสงอรุณก็ล้ำหน้าเพื่อน ๆ อย่างทาบไม่ติด มือของเขาอ่อนนุ่ม หมุนแท่งดินสอในมืออย่างคล่องแคล่ว นิ้วที่ยาวเกือบเท่ากันทุกนิ้วเคลื่อนไหวตลอดเวลาและมีชีวิตเมื่อได้แตะดินสอหรือพู่กัน เขาบอกว่าถ้าได้นวดมือด้วยน้ำข้าวอุ่น ๆ ตอนเช้า จะดีขึ้นมาก

    วทัญญู ณ ถลาง เพื่อนร่วมชั้นมัธยมโรงเรียนสวนกุหลาบเล่าว่า แสงอรุณนั่งหลังชั้นแถวสุดท้ายเพราะร่างสูง เขาเป็นคนเงียบแต่ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ  เขียนรูปได้ดี ฝีมือสเก็ตช์ของเขาเฉียบขาด ชอบฟังดนตรีคลาสสิก

    ตอนเรียนสถาปัตย์ปีที่ 5 นิสิตต้องไปเรียนวิชาประติมากรรมที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเรียนกับปรมาจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์ก็จดจำศิษย์ฝีมือดีคนนี้ได้ดี

    วันหนึ่งแสงอรุณติดธุระไม่ได้ไปเรียน ท่านก็ถามนิสิตคนอื่นว่า "นายคนที่ชอบปั้นนั่นหายไปไหนนะ ?"

    กาลต่อมาเมื่อเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในวิชาที่เขาถ่ายทอดก็คือประติมากรรม เพราะเล็งเห็นความสำคัญของวิชานี้ วิชาประติมากรรมทำให้เข้าใจวิชาสถาปัตยกรรมดีขึ้น เพราะทั้งสองวิชานี้ใช้หลักเดียวกันคือการรักษาสมดุลของ solid กับ void (ความไม่ว่างกับความว่าง)

    เขาชอบความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ครั้งหนึ่งขณะผ่านไปที่เยาวราช สะดุดตากับรูปปั้นควายตัวหนึ่งบนแผงลอย มันเป็นควายในน้ำ ศิลปินปั้นตัวควายเฉพาะส่วนที่พ้นน้ำ ดังนั้นพื้นโต๊ะที่วางควายก็คือผิวน้ำ เขาชอบความสดใหม่แบบนี้

    แสงอรุณมีฝีมือในการเขียนภาพลายเส้นและภาพวาดสีน้ำ เขาเขียนว่า "...เส้นสีดำสีเดียวเท่านั้น เราสามารถถอดความอลังการของธรรมชาติ ถ่ายจินตนาการ และความบันดาลใจ ตลอดจนความคิดปรารถนาของเราออกมาให้ปรากฏเป็นภาพได้อย่างสมบูรณ์ ได้ผลอภิรมย์ทางใจอย่างสูง"

    ความสนใจทั้งทางด้านออกแบบอาคาร ประติมากรรม และความรักงานจิตรกรรม หล่อหลอมชายหนุ่มให้เป็นผู้ที่เข้าใจศิลปะแต่ละแขนงในเชิงลึก ทว่าความชอบศิลปะก็มีราคาของมัน เขาสอบได้ที่โหล่ในวิชาคำนวณ!

    ในชั้นมัธยมปลาย อาจารย์ประจำชั้นตั้งระเบียบว่า ใครที่สอบคำนวณได้ที่โหล่ต้องนำของมาฝากให้คนที่สอบได้ที่หนึ่ง แสงอรุณก็นำรางวัลไปมอบให้คนที่ได้ที่หนึ่ง เป็นนิตยสารศิลปะจากอังกฤษ Illustrated London Times ราวกับจะบอกเพื่อนว่า "เฮ้ย ! เรียนศิลปะสนุกกว่าโว้ย!"

    การได้ศึกษากับอาจารย์ระดับปรมาจารย์ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ทำให้แสงอรุณในวัยหนุ่มเห็นคุณค่าของการสอนที่ดี มีเมตตา มีวิญญาณความเป็นครู

    นี่คือที่มาของครูที่ดีที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะของไทย ผู้ที่ลูกศิษย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เรียกสั้น ๆ ว่า อาจารย์แสงฯ ตั้งแต่นั้นเงาร่างนี้ก็ปรากฏในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต

    .....................

    นิสิตชั้นปีที่หนึ่งทุกคนต้องผ่านการเรียนกับอาจารย์แสงฯ ในวิชาสเก็ตช์ภาพ ใช้ดินสอดำเป็นหลัก อาจารย์สันติ ฉันทวิลาสวงศ์ ศิษย์คนหนึ่งเล่าว่า ตอนเรียนปีหนึ่ง นิสิตรุ่นพี่คนหนึ่งแอบมาบอกคนทั้งชั้นว่าอาจารย์แสงฯเป็นคนดุมาก อารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย ดังนั้นเวลาอาจารย์เข้ามาในห้อง ให้ทุกคนลุกขึ้นยืนต้อนรับอย่างดี

    เวลานั้นไม่มีนิสิตใหม่คนใดรู้ว่าหน้าตาอาจารย์แสงฯเป็นอย่างไร รุ่นพี่ก็บอกว่าเป็นคนร่างใหญ่ ตัวดำ

    ไม่นานคนร่างใหญ่ ตัวดำ ท่าทางดุก็เดินเข้ามาในชั้นเรียน นิสิตทั้งชั้นก็ลุกขึ้นต้อนรับโดยพร้อมเพรียงกัน ชายคนนั้นมีสีหน้างุนงงอย่างยิ่ง ปรากฏว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ฉายสไลด์ หัวเราะอย่างขำ ๆ กันทั้งห้อง

    ครั้นนิสิตใหม่พบอาจารย์แสงฯตัวจริง กลับตรงข้ามกับสิ่งที่รุ่นพี่อำ อาจารย์แสงฯบอกศิษย์ว่า "พวกคุณไม่ต้องทำความเคารพผม ไม่ต้องยกมือไหว้ผม เพราะผมไม่สนใจ สาระอยู่ที่เรียน"

    อาจารย์แสงฯไม่ชอบให้วาดรูปในห้องเรียน มักพานิสิตออกไปทำกิจกรรม 'ศิลป์สัญจร' นอกมหาวิทยาลัย วาดรูปตามสวนสาธารณะ วัดวาอารามต่าง ๆ บางครั้งพานิสิตไปต่างจังหวัด เช่น อ่างศิลา บางแสน บุรีรัมย์ ฯลฯ

    หลังจากวาดรูปเสร็จแล้วก็ถึงเวลาตรวจการบ้าน โดยการวิจารณ์งานหน้าชั้น ว่าไปทีละชิ้น ฝีปากของอาจารย์คมกริบเหมือนใบมีดโกน แต่ก็สอดแทรกอารมณ์ขันเข้าไปเสมอ

    หัวใจของการวิจารณ์ของอาจารย์แสงฯคือการชี้แนะ ชี้ให้เห็นว่างานชิ้นนั้น ๆ ดีหรือไม่ดีอย่างไรด้วยการวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรม การวิเคราะห์ วิจารณ์งานศิลปะแบบนี้ทำให้นิสิตเรียนรู้ได้เร็วกว่าการตรวจการบ้านธรรมดา เป็นการพัฒนางานไปโดยปริยาย

    ในชั่วโมงแรกของการวิจารณ์ อาจารย์แสงฯหยิบงานชิ้นหนึ่งของนิสิตขึ้นมา ถามว่า "นี่เป็นของใคร"

    เพื่อนชื่อ เศรษฐวัฒน์ หาญศิริวัฒนา ตอบว่า "ของผมครับ"

    อาจารย์แสงฯบอกว่า "วิชานี้คุณได้เกรด A ไม่ต้องมาเรียนอีก"

    แต่ไม่มีใครที่ได้ A แล้วไม่โผล่หน้ามาอีก เพราะการได้ดูชมอาจารย์วิจารณ์งานนั้นเป็นภาคบันเทิงที่ไม่มีใครอยากพลาด

    สำหรับผมเอง งานสเก็ตช์ของผมในชั้นปีที่ 1 อยู่ในเกณฑ์ธรรมดา ภาพแรกๆ ได้ C บ้าง B บ้าง ก็ฝึกจนพอจับเคล็ดได้ ท้ายเทอมจึงได้ A มาชิ้นหนึ่ง

    แต่สิ่งที่ดีที่สุดมิใช่คะแนน หากคือประสบการณ์การวิจารณ์ศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ เปี่ยมความรู้ ความเมตตา และอารมณ์ขัน

    (รูปประกอบ ภาพสเก็ตช์ฝีมือเพื่อนร่วมชั้น เศรษฐวัฒน์ หาญศิริวัฒนา)

    วินทร์ เลียววาริณ
    26-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 11
  • วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    แมทธิว ริคารด์ (Matthieu Ricard) เกิดในครอบครัวปัญญาชน เป็นบุตรของนักปรัชญามีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส ตั้งแต่เด็กบ้านของเขาหัวกระไดไม่เคยแห้ง มีปัญญาชนไปเยี่ยมเสมอ ตั้งแต่นักคิด นักเขียน จิตรกร นักดนตรี หลายคนเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล ทั้งหมดชอบไปถกคุยกัน

    ปี 1972 แมทธิวเรียนจบปริญญาเอกสาขาพันธุกรรมโมเลกุลจากสถาบันปาสเตอร์ กรุงปารีส ในวัย 26 เขารู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตในสภาพแวดล้อมนั้น เขารู้สึกว่ามีบางสิ่งขาดหายไปในชีวิต เขาเชื่อว่ามีคำตอบในโลกตะวันออก

    เขามุ่งหน้าไปที่อินเดีย

    บิดาของเขาไม่พอใจนักที่เขาไปค้นหาคำตอบในโลกตะวันออก แต่เขาก็ไปจนได้ นักพันธุกรรมโมเลกุลหนุ่มละทิ้งทุกอย่างไปศึกษาพุทธทิเบต ณ อารามแห่งหนึ่งที่กาฐมาณฑุ เนปาล เทือกเขาหิมาลัย

    ผ่านไปราว 26 ปีใต้ร่มกาสาวพัสตร์ แมทธิวก็กลับบ้าน และมีโอกาสถกปรัชญาชีวิตกับพ่อ บทสนทนาของทั้งสองกลายเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ชื่อ The Monk and the Philosopher หนังสือเกี่ยวกับปรัชญาสมัยใหม่ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง

    เขากลายเป็นคนมีชื่อเสียงทันที

    และกลายเป็นคนดังอีกครั้งในปี 2007 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทางประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ทดลองสแกนสมองของเขา และประกาศว่าเขาเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลก

    ................

    ในช่วงที่ แมทธิว ริคารด์ ศึกษาพุทธที่เนปาล เขาฝึกสมาธิคนเดียวในกระท่อมบนภูเขานานห้าปี

    เขาเรียนจากพระทิเบตว่า เราต้องรับรู้การผูกพัน อัตตาเป็นตัวขับเคลื่อนการยึดมั่นถือมั่น แต่เราสามารถขจัดมันทิ้งด้วยการอยู่กับปัจจุบันและความเมตตา

    อาจารย์ของเขาสอนว่า “ขบวนรถไฟแห่งความคิดและสภาวะจิตเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหมือนรูปทรงของก้อนเมฆบนท้องฟ้า แต่เราชอบยึดมั่นให้ความสำคัญกับมัน”

    การทำสมาธิเป็นทางหนึ่งที่จะ ‘ขโมย’ จิตของเราคืนมา

    เขาใช้หลักสามอย่างในการทำสมาธิ นั่นคือความเมตตา การเจริญสติ และการวิเคราะห์

    รากฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทำให้เขามองโลกแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็เป็นรากของพุทธศาสนาเช่นกัน เขาบอกว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต

    “ภายในตัวเราทุกคนคือการออกแบบของโลก เรามีความสามารถที่จะเข้าถึงและเข้าใจจักรวาล เพื่อกลายเป็นรูปแบบอื่น ๆ”

    สรรพสิ่งในโลกเป็นการหมุนเวียนเปลี่ยนรูปของสิ่งเดิม

    เขาบอกคนที่มาเยือนว่า “เธออาจมีโมเลกุลของ เจ็งกิส ข่าน ในตัวเธอ”

    สรรพสิ่งและชีวิตเชื่อมโยงกันในรูปแบบต่าง ๆ

    บางครั้งเขาชี้ที่ถ้วยชาแล้วกล่าวว่า “นี่คือน้ำชาที่เธอดื่มตอนนี้ อีกหกชั่วโมงมันจะกลายเป็นเธอ”

    คนจำนวนมากไม่มีความสุขเพราะไปเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

    “การเปรียบเทียบคือตัวฆ่าความสุข เราไม่เปรียบตัวเรากับ บิล เกตส์ แต่เปรียบกับเพื่อนบ้าน เรามักสังเกตว่าเพื่อนบ้านใช้รถอะไร ไปเที่ยวที่ไหน”

    เราเปรียบเทียบเสมอ แม้ว่าไม่พูดอะไรออกมา แต่ก็อาจเปรียบเทียบโดยจิตใต้สำนึก

    เขาบอกว่าเราต้องเข้าใจวิธีคิดและความคิดของเรา เช่น เราคิดว่าเราสามารถควบคุมโลก แต่ 99 เปอร์เซ็นต์เป็นความวุ่นวาย เราทำได้เพียงเปลี่ยนจิตของเราเกี่ยวกับมัน

    บางครั้งเราไปซื้อรถ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเดินทางจากจุด ก. ไปจุด ข. แต่เราจดจ่อที่รถจนเราลืมไปแล้วว่าจุด ก. จุด ข. อยู่ที่ไหน

    เขากล่าวว่า การแสวงหาความสบายหรือที่เขาใช้คำว่า pleasant sensations (ความรู้สึกสุขสบาย) ไม่ใช่สิ่งเดียวกับความสงบสุข แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปฏิเสธความรู้สึกสุขสบายเมื่อมันมาหา เพียงแต่ต้องระวังว่าความรู้สึกสุขสบายไม่ใช่สิ่งถาวร และไม่ได้รับประกันความสุขโดยธรรมชาติ

    “เมื่อเรารื้ออัตตาของเราออก เราก็จะเริ่มมองเห็นโลกจริง ๆ... การยึดมั่นถือมั่นกับอัตตาเป็นพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับความทุกข์ที่เรารู้สึก และความทุกข์ที่เราให้คนอื่น อิสรภาพเป็นเรื่องตรงกันข้าม”

    (ท่อนหนึ่งจากบทความ ชายผู้มีความสุขที่สุดในโลก / หิน 15 ก้อนของ สตีฟ จ๊อบส์ / วินทร์ เลียววาริณ

    ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ ชุด S10 ชีวิตที่ดี + หิน 15 ก้อนของ สตีฟ จ๊อบส์ + แถมเป่ย ฉบับทดลองอ่าน

    สั่งจาก Shopee คลิกลิงก์ https://shope.ee/1LIFbnHXOK?share_channel_code=6

    สั่งจากเว็บ คลิกลิงก์ https://www.winbookclub.com/store/detail/238/%28S10%29%20%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B5%20+%20%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%2015%20%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%20%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%9F%20%E0%B8%88%E0%B9%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B9%8C%20%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A1%E0%B8%9F%E0%B8%A3%E0%B8%B5%20%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A2

    0
    • 0 แชร์
    • 15
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    (เล่าเรื่องอาจารย์แสงอรุณต่อ)

    ผมพบอาจารย์แสงฯครั้งแรกในราวเดือนพฤษภาคม 2518 ผมเพิ่งสอบเข้าคณะสถาปัตย์ จุฬาฯได้ และต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์ ผมแต่งชุดนักเรียนปักอักษร บ.ด. กลัดเข็มพระเกี้ยวไปตามนัด เป็นครั้งแรกที่ผมเข้าคณะฯ

    ผู้สัมภาษณ์ผมมีสองคนคืออาจารยแสงอรุณ กับอาจารย์เฉลิม สุจริต เสียชีวิตไปแล้วทั้งคู่

    อาจารย์แสงฯทักผมคำแรกว่า ทำไมซีดเซียวจัง ผมตอบว่าเพิ่งหายป่วย

    อาจารย์แสงฯดูลำดับการเลือกคณะของผมแล้วถามด้วยความแปลกใจว่า "คุณเลือกคณะสถาปัตย์ จุฬาฯเป็นลำดับที่ 1 และคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ศิลปากร เป็นลำดับที่ 2 ทำไมเลือกอย่างนี้?"

    ผมตอบว่า "เพราะผมชอบวาดรูปมากครับ"

    บางคนอาจไม่เคยรู้ว่าอาจารย์แสงฯเคยเป็นศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี แห่งคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร และนี่อาจเป็นจุดเชื่อมระหว่างผมกับอาจารย์แสงฯ คือชอบทั้งคณะสถาปัตย์ จุฬาฯและคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร

    อาจารย์ถามว่าชอบตึกไหนในเมืองไทยบ้าง ผมไม่รู้ เพราะมาจากต่างจังหวัด เมืองหาดใหญ่ที่ผมอยู่มีแต่ตึกแถวเก่า ทันใดนั้นผมก็นึกได้ว่ามีอาคารหลังหนึ่งที่ผมผูกพัน คำตอบจึงคือ "ห้องสมุดประชาชนหาดใหญ่ครับ"

    การสัมภาษณ์ผ่านไปด้วยดี หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้พบอาจารย์อีกเลยจนถึงวิชาสเก็ตช์

    อาจารย์แสงฯสอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ศิลปะ วิชาวาดภาพ ทั้งลาย เส้นขาวดำ ภาพสีน้ำ อาจารย์ถนัดหมด จึงเหมาะที่สุดที่จะสอนวิชาสเก็ตช์

    วิชานี้อาจารย์พานิสิตไปตามสถานที่ต่างๆ วัดวาอาราม ฯลฯ ให้เลือกมุมสเก็ตช์เอาเอง

    หลังจากนั้นก็ถึงวันรีวิว อาจารย์หยิบงานสเก็ตช์ของนิสิตแต่ละคนมาวิจารณ์ นี่คือไฮไลท์ของวิชา เพราะการรีวิวของอาจารย์อิงหลักศิลปะ บวกประสบการณ์การทำงานศิลปะของอาจารย์ และภาษาสำนวนที่ 'แซ่บอีหลี ดิลิเฌียส'

    วินทร์ เลียววาริณ
    25-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 23
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โชกุน (Shōgun)​ โดย เจมส์ คลาเวลล์ ตีพิมพ์ในปี 1975 หนังสือโด่งดังทันที เพราะเป็นงานสนุก ผู้เขียนรีเสิร์ชอย่างละเอียด ผูกเรื่องอิงกับเหตุการณ์จริงและบุคคลจริงในประวัติศาสตร์

    โชกุน เป็นเรื่องของศึกชิงอำนาจของขุนศึกญี่ปุ่น ในศตวรรษที่ 16 ช่วงเวลาที่อำนาจตะวันตกเริ่มเข้าไปยุ่มย่าม

    ตัวละครที่เดินเรื่องคือ จอห์น แบล็คธอร์น ชาวอังกฤษผู้เดินทางหลงเข้าไปในญี่ปุ่นราวปี 1600 ตัวละครแบล็คธอร์นจำลองชีวิตของนักสำรวจชาวอังกฤษ วิลเลียม อดัมส์ หลวมๆ

    แบล็คธอร์นไปเกี่ยวข้องกับตัวละครแม่ทัพ โยชิอิ โทรานางะ ซึ่งจำลองชีวิตของ โทกุงาวะ อิเอยาสึ (1543–1616) โดยมีล่ามสาวชื่อมาริโกะ (ซึ่งจำลองชีวิตของ อเคชิ ทามะ) เป็นตัวประสานเรื่อง

    ในโลกของความจริง อเคชิ ทามะ ย่อมไม่มีทางได้พบกับ วิลเลียม อดัมส์ แต่ในโลกของนิยาย ทั้งสองผูกพันกันด้วยบทบาทที่เกี่ยวพันกับการชิงอำนาจ

    หนังเวอร์ชั่นนี้ไม่ได้เล่าเรื่องผ่านสายตาของ จอห์น แบล็คธอร์น เหมือนฉบับก่อน หนังให้น้ำหนักของบทที่ตัวละครญี่ปุ่นมากขึ้น และทำให้เราเข้าใจบริบทต่างๆ ในเรื่องชัดขึ้น บริบทที่มองผ่านคนต่างชาติไม่ชัด

    เรื่องจบที่สงครามเซกิกาฮาระที่ทำให้โทรานางะ (อิเอยาสึ) กลายเป็นโชกุน แต่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เกี่ยวกับสงครามเซกิกาฮาระ แต่คือการเมืองที่นำไปสู่สงครามเซกิกาฮาระ ดังนั้นฉากสงครามจึงไม่จำเป็น เพราะมันไม่ใช่หนังบู๊ มันเป็นหนังประลองปัญญากัน มันคือการเล่นหมากรุกการเมืองที่เดิมพันด้วยชีวิต

    ซีรีส์เวอร์ชั่นนี้ใส่รายละเอียดมากมาย ทำให้สนุกและน่าสนใจ ย่อยเรื่องทั้งหมดลงในสิบตอน จะว่ายาวก็ยาวพอ จะว่าสั้นก็สั้น เพราะอยากจะรับความบันเทิงยาวอีกหน่อย!

    หนังกระชับ ถ่ายทำสวยงาม ฉากยอดเยี่ยม จุดดีอีกเรื่องคือหนังเสียบปรัชญาเข้าไป ทำให้มีความลึกขึ้น บางตอนได้คะแนน 11/10 บางตอนก็ไม่ถึง โดยรวมเป็นหนังที่ให้ความบันเทิงสูง และให้ความรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ดี จนทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมหนังอิงประวัติศาสตร์และซามูไรญี่ปุ่นที่ฝรั่งทำ จึงออกมาดีได้ขนาดนี้ (อีกเรื่องคือการ์ตูน Blue Eye Samurai ไม่นานมานี้)

    คำตอบคือการเล่าเรื่องเป็นเรื่องสากล และประวัติศาสตร์มนุษย์มีแค่ประวัติศาสตร์เดียว ไม่ว่าประวัติศาสตร์ไหน ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ถ้าคนสร้างหนังเข้าใจ ก็สามารถทำหนังประวัติศาสตร์ของทุกชาติได้ ประเด็นอยู่ที่ว่าคนทำหนังเล่าเรื่องเป็นหรือไม่ รู้ว่าจะเล่าสาระหลักอะไรหรือไม่ และเห็นชัดว่าทีมงานโชกุนชุดนี้รู้ว่าจะทำอะไร

    การเมืองของมนุษย์คือเรื่องการแย่งชิงอำนาจ และประวติศาสตร์ทุกท่อนในอารยธรรมโลก ล้วนเป็นเรื่องเดิมๆ นั่นคืออำนาจเป็นเหมือนความฝันที่หลายคนไขว่คว้า หมายให้กลายเป็นความจริง แต่อาจไม่รู้ว่าตนอยู่ในโลกของความจริงหรือไม่

    (ย่อหน้าถัดไปเป็นสปอยเลอร์)

    ในตอนสุดท้ายของซีรีส์ (A Dream of a Dream) เราเห็นแบล็คธอร์นในวัยชราที่ประเทศอังกฤษรำลึกถึงประสบการณ์ที่ญี่ปุ่น แต่เราไม่รู้ว่าแบล็คธอร์นได้กลับอังกฤษจริงหรือไม่ มันเป็นความจริงหรือความฝัน? หรือความฝันในความฝัน?

    บางทีอำนาจที่ใครๆ ปรารถนา เป็นเพียงภาพลวงตาในความฝัน

    เมื่อลืมตาตื่นจากความฝัน ก็อาจยังอยู่ในอีกความฝันหนึ่ง

    แต่ผู้ที่จมในหลุมอำนาจก็มักเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง และเชื่อว่าอำนาจในมือตนอยู่คู่ฟ้า

    ท้ายที่สุดเขาก็จากโลกไป เหมือนดอกไม้ที่ร่วงปลิวเพราะสายลมแห่งกาลเวลา

    10/10 
    ฉายทาง Disney+

    วินทร์ เลียววาริณ 24-4-24

    ......................
    วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)

    0
    • 0 แชร์
    • 32
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    สัปดาห์ที่ผ่านมา คีย์บอร์ดของผมเสีย ทำให้งานสะดุด เพราะไม่คุ้นชินกับคีย์บอร์ดสมัยใหม่ที่คีย์หนึ่งที ได้อักษรสองตัวเสมอ

    ผู้อ่านหลายคนเสนอมอบคีย์บอร์ดที่ตนมี บางคนจะขนจากต่างประเทศมาให้ ก็ขอบคุณน้ำใจของเขาเหล่านั้น รู้สึกซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง

    เมื่อวานนี้ผมได้รับคีย์บอร์ดจากผู้อ่านคนหนึ่งแล้ว และเริ่มคีย์งานชุด 'เป่ย' ทันที

    โลกโซเชียลมีบางด้านที่จมในเงามืด แต่ก็มีด้านที่หันเข้าหาแสงสว่างเช่นกัน มันทำให้โลกสว่างขึ้น ก็ขอบคุณแสงสว่างนั้นที่ทำให้มีกำลังใจเดินหน้าต่อไปได้

    ว.ล.
    24-4-24

    0
    • 0 แชร์
    • 26