• วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    ผมเริ่มเขียนหนังสือจริง ๆ น่าจะอายุประมาณ 14-15 สิ่งที่เขียนคือนิยายภาพ พอกล้อมแกล้มได้ว่าเป็นการเขียนหนังสือ เพราะต้องคิดพล็อตแต่งเรื่องเอง ต้องมีบทสนทนา มีพัฒนาของตัวละคร แม้ว่าตอนนั้นไม่รู้หรอกว่า ต้องเขียนยังไง เริ่มยังไง เดินเรื่องอย่างไร ทำด้วยสัญชาตญาณมากกว่า

    ผมมาเขียนเรื่องสั้นจริง ๆ ตอนอายุประมาณ 28-29 ถือว่าเริ่มช้า ถ้าเทียบกับมาตรฐานของนักเขียนหนุ่มหลายคน เช่น กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่เขียนตอนอายุยังไม่ถึงยี่สิบ

    แปลว่าตอนที่ผมเริ่มเขียน เขามีประสบการณ์เขียนเรื่องสั้นนำไปแล้วสิบปี และไม่ใช่สิบปีธรรมดา

    แต่กนกพงศ์ไม่ใช่คนธรรมดา จึงยกเว้นให้คนหนึ่ง

    อย่างไรก็ตาม การเริ่มเขียนตอน 28-29 ก็ไม่ถือว่าช้าเมื่อเทียบกับนักเขียนทั่วโลก บางคนเร่ิมตอนอายุหกสิบ 70-80 ก็มี

    ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เริ่มตอนราวสี่สิบ เขียนปุ๊บก็ดังทันที เพราะเวลาก่อนหน้าลงมือเขียนนั้น ได้บ่มเพาะการเขียนมานานแล้วจนได้ที่

    แปลว่าอะไร?

    แปลว่าการอ่านก็คือการฝึกเขียนอย่างหนึ่ง

    นี่คือเหตุผลที่ทำไมผมจึงเน้นเรื่องการอ่านอย่างหลากหลาย นักเขียนดี ๆ ทั้งหมดที่ผมรู้จักอ่านอย่างหนักหน่วงมาก่อน ถ้าพูดด้วยภาษาไม่ค่อยสุภาพคือ ‘อ่านแม่งทุกอย่าง’

    การอ่าน ‘แม่งทุกอย่าง’ ทำให้ได้ศึกษากลวิธีการเขียนทางอ้อม มันฝังในจิตใต้สำนึกของเราโดยไม่รู้ตัว

    ผมจึงคิดว่ายากมากที่นักเขียนคนหนึ่งจะทำงานได้ดีโดยไม่ชอบอ่าน ไม่อ่าน หรืออ่านน้อย เพราะจะขาดบทเรียนทางอ้อมแบบนี้

    ไม่มีทางเลยที่นักเขียนใหม่คนหนึ่งจะเก่งในเวลาไม่กี่ปี อาจจะยกเว้นอัจฉริยะสักสองสามคน แต่นักเขียนใหม่ต้องถามตัวเองว่า เราเป็นอัจฉริยะหรือเปล่า ถ้าไม่ ก็ฝึกฝนไป ไม่ต้องรีบร้อน

    เอาละ ถ้าถูไถนับว่าผมเริ่มเขียนตอน 14-15 ตอนนี้ก็เขียนมาแล้วราว 45 ปี

    ช่วงเวลา 45 ปีที่ว่านี้ มีลมหายใจเป็นหนังสือมาตลอด เวลาดูหนังก็วิเคราะห์ว่าทำไมโครงเรื่องเป็นอย่างนี้ ทำไมพระเอกเก่งเกินมนุษย์ ทำไมนางเอกโง่อย่างนั้น ทำไมต้องมีฉากนี้

    สิ่งนี้ช่วยได้มาก ไม่ว่าจะอ่านหนังสือหรือดูหนัง ทั้งหมดก็คือบทเรียนทางอ้อม

    จึงบอกเสมอว่า นักเขียนใหม่ต้องอ่านมาก ดูหนังมาก วิเคราะห์มาก

    สำหรับนักอ่านทั่วไป ไม่ต้องอ่านลงลึกแบบนี้ก็ได้ แต่ถ้าอยากเป็นนักเขียน ต้องอ่านแบบวิเคราะห์สถานเดียว ถ้าวิเคราะห์ไม่เป็น ยากนักจะเป็นนักเขียนที่ดี

    การอ่านมากและศึกษางานของนักเขียนทางอ้อมแบบนี้ช่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะเมื่อลงมือเขียน ก็เหมือนเริ่มวิ่งตรงกลางลู่เลย ไม่ใช่ที่จุดสตาร์ท ดังตัวอย่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

    นักเขียนใหม่บางคนอาจสงสัยว่า ถ้าในชีวิตนี้ ฉันจะเขียนแต่นิยายรักอย่างเดียว ทำไมฉันจะต้องอ่านเรื่องวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ปรัชญา ชีววิทยา เคมี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ดนตรี ฯลฯ

    มองในมุมหนึ่งก็จริง แต่ถ้าคิดอย่างนี้ ก็จะได้เขียนแบบเซม-เซมไปตลอดชีวิต นี่มิได้บอกว่าเซม-เซมไม่ดี แค่บอกว่ามันเซม-เซม ยากที่จะหามุมมองใหม่ ๆ ในการเขียนเรื่องเดิม

    พูดง่าย ๆ คือต่อให้จะเขียนเรื่องซ้ำซาก ก็ต้องมองด้วยสายตาที่หลุดจากความซ้ำซาก

    45 ปีฟังดูเหมือนว่าเชี่ยวชาญแล้ว แต่จริง ๆ ยังมีเรื่องให้เรียนรู้ทุกวัน

    เขียนหนังสือมาแล้ว 45 ปี So what?

    คนที่อยากทำงานเขียนหรืออยากเป็นนักเขียนอาชีพพึงจำไว้เสมอว่า นักเขียนต้องเดินนำหน้านักอ่านอย่างน้อยสองก้าวเสมอ ไม่งั้นก็ไม่มีเหตุผลที่นักอ่านต้องอ่านงานของเรา

    ดังนั้นนักเขียนจึงต้องฝึกตลอดเวลา ไม่หยุด ต่อให้เขียนมานานแค่ไหนก็ตาม

    หยุดฝึกฝนทั้งฝีมือและความคิดเมื่อไร คนอ่านก็เดินนำเราไปแล้วทันทีสองก้าว

    สองก้าวก็เหลือพอให้นักเขียนคนหนึ่งหมดอาชีพ และโลกก็ลืมเขาในเวลาสิบวินาที

    วินทร์ เลียววาริณ
    15-10-24

    0
    • 0 แชร์
    • 7
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    สมัยผมเป็นเด็ก ผู้ใหญ่สั่งสอนและห้ามหลายเรื่อง อย่าทำเรื่องนี้ ไม่ให้ทำเรื่องนั้น

    แต่เด็กก็คือเด็ก มีนิสัยแย้งโดยอัตโนมัติ หลายเรื่องก็ไม่ฟัง หรือเจตนาไม่ฟัง เพราะรู้สึกว่าการขบถต่อผู้ใหญ่แสดงว่าเราแน่จริง

    จนเมื่อพบปัญหาที่ตรงกับคำเตือน ก็เริ่มเข้าใจผู้ใหญ่

    ยกตัวอย่าง เช่น พ่อแม่ห้ามเล่นปลั๊กไฟ ก็ไม่ให้ความสนใจ ครั้งหนึ่งผมเสียบปลั๊กผิดช่อง ปรากฏว่าไฟดับทั้งบ้าน

    จนกระทั่งผมเป็นพ่อคน ห้ามลูกเล่นปลั๊กไฟและเต้าเสียบ แต่แล้ววันหนึ่งลูกก็เสียบกิ๊บหนีบผมของแม่เข้าไปในเต้าเสียบ ผลก็คือปรากฏเสียงระเบิดตูม มือไม้เด็กเปื้อนรอยไหม้ดำที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร โชคดีที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต

    ผู้ใหญ่สอนเด็กจนปากเปียกปากแฉะ ห้ามปรามไม่ให้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ เด็กก็ไม่ฟัง จนเมื่อเด็กประสบปัญหากับตัวเอง จึงเข้าใจอย่างซาบซึ้ง เช่น ห้ามแหย่หมา ก็ไม่ฟัง แต่เมื่อถูกหมากัด ก็จดจำไปตลอด

    อย่างนี้เรียกว่า learn the hard way

    สำนวน ‘learn the hard way’ หมายถึงการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่หนักหน่วง ไม่สนุก และเจ็บปวด

    คนบางคนต้องเรียนรู้แบบ ‘เจอเอง’ หรือ ‘เล่นจริงเจ็บจริง’ จึงจะเข้าใจชีวิต

    การเรียนรู้แบบ hard way หรือ ‘เล่นจริงเจ็บจริง’ มีประโยชน์ และจดจำได้ตลอดชีวิต

    ขี่จักรยานแบบล้มจริง แล้วจดจำได้ดีกว่า ทำธุรกิจเจ๊ง จะเข้าใจแจ่มแจ้ง ลงทุนกับเพื่อน แล้วถูกเพื่อนโกง จะจดจำได้นาน

    อย่างนี้คือเจ็บแล้วจำ

    เราอาจเตือนคนดื่มเหล้าจัดว่า ระวังตับแข็งหรือเป็นมะเร็งตับ คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อ หรือเชื่อแต่ไม่สนใจ คิดว่าตัวเองเป็นข้อยกเว้น

    จนกระทั่งเมื่อต้องนอนบนเตียงในโรงพยาบาล สายระโยงระยางเต็มตัว ตับถูกเฉือนไปส่วนหนึ่ง และในมือเป็นใบเสร็จค่ารักษาหลายแสนบาท เขาก็มักรู้สำนึก

    นี่คือการเรียนแบบ hard way

    เราอาจเตือนคนสูบบุหรี่จัดว่าเป็นมะเร็งปอดได้ เขาจะไม่ซาบซึ้งคำเตือนนี้มากเท่าตอนที่เขานอนในโรงพยาบาล ลำคอถูกเจาะเป็นรูให้หายใจได้

    สำนึกแบบ hard way

    หลายคนได้รับคำเตือนว่า ถ้าไม่พร้อมจริง อย่าเล่นหุ้น แต่มีความเชื่อมั่นว่าตนเองเก่ง รู้ทันตลาด อ่านตำราเล่นหุ้นมามาก ก็กระโดดลงไป กลายเป็นแมงเม่าอีกตัวที่ตายในกองไฟ

    ดังนั้นเมื่อมีใครมาเตือนเราในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลองเสียเวลาสักนาทีจินตนาการว่า หากเราต้องทนทุกข์ในโรงพยาบาล ครอบครัวขาดเงิน หรือเราถูกไล่ออก ครอบครัวเดือดร้อน หรือเราตาย คนที่เรารักเดือดร้อน ลูกไม่ได้เรียนต่อ เราก็อาจรู้สำนึก และปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยไม่ต้องเดินวิถี hard way

    จากหนังสือ กอดหนาม / วินทร์ เลียววาริณ
    15-10-24

    0
    • 0 แชร์
    • 28
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    วอร์เรน บัฟเฟตต์ อ่านหนังสือวันละราวห้าหกชั่วโมง มาร์ก คิวบัน อ่านหนังสือวันละสามชั่วโมง บิล เกทส์ รักการอ่าน แม้จะยุ่งก็หาเวลาอ่านหนังสือปีละห้าสิบเล่ม

    วอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจและหุ้น ซึ่งเป็นสายอาชีพที่ไม่น่าจะต้องสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ แต่บัฟเฟตต์อ่านหมด เขาแนะนำนักศึกษาให้อ่านหนังสือวันละ 500 หน้า

    เขาบอกว่าการอ่านนั้นเหมือนดอกเบี้ยทบต้น ใคร ๆ ก็ทำได้ “แต่ผมรับรองว่ามีไม่กี่คนที่จะทำ”

    มาร์ก คิวบัน นักธุรกิจพันล้านชาวอเมริกัน เห็นว่าการลงทุนที่ดีที่สุดในชีวิตคือการอ่านหนังสือ เขาบอกว่า คนส่วนมากไม่ยอมสละเวลาเพื่อหาข้อได้เปรียบในความรู้

    ก็คือการอ่าน

    เขาบอกว่าการอ่านทำให้เขาได้เกิดเป็นวันนี้ เขายังบอกว่าสิ่งที่เขาอ่านเป็นสาธารณะ ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยมีใครทำ

    นักธุรกิจ อีลอน มัสก์ อ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก อ่านตั้งแต่นิยายแฟนตาซี เช่น The Lord of the Rings ไปจนถึงหนังสือเกี่ยวกับจรวด อายุเก้าขวบเขาอ่านนิยายไซไฟวันละสิบชั่วโมง และยังอ่าน Encyclopedia Britannica ทั้งชุด

    สตีฟ จ๊อบส์ ก็ศึกษารอบด้าน แม้แต่เรื่องปรัชญาตะวันออกและเซน

    คนเหล่านี้ยืนอยู่บนที่สูง การงานรัดตัว เวลามีจำกัด แต่ทำไมเสียเวลาอ่านหนังสือ?

    สังคมมนุษย์เราเดินไปในทิศทางที่แยกอาชีพย่อยยิบขึ้น เราสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้นจนกระทั่งคนเก่งรอบตัวมีน้อยลงเรื่อย ๆ

    นี่อาจเป็นเรื่องดีที่เรามีเซียนในทุกวงการช่วยพัฒนาวิทยาการไปไกลขึ้น แต่ก็อาจเป็นจุดอ่อน เพราะทำให้คนจดจ่ออยู่ในเรื่องเดียว จนเกิดความคิดความเชื่อว่าตนเองไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องอื่นที่ดูไม่เกี่ยวกับอาชีพการงาน

    นักธุรกิจอ่านประวัติศาสตร์มนุษย์ ทนายความอ่านชีววิทยา สถาปนิกอ่านจักรวาลวิทยา พ่อค้าอ่านปรัชญา ฯลฯ (นักเขียน อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก เคยกล่าวว่า นักการเมืองควรอ่านนิยายวิทยาศาสตร์) ล้วนเป็นเรื่องที่ดูไม่จำเป็นและเสียเวลาเปล่า

    ทว่าความจริงคือ ทุกศาสตร์ในโลกสัมพันธ์กันหมด ยิ่งรู้มากเรื่อง ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสเชื่อมโยงแต่ละเรื่อง แต่ละศาสตร์ ยิ่งมีความรู้รอบตัวกว้าง ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งมีโอกาส มันอาจไม่ปรากฏภาพให้เห็นชัดในตอนแรก แต่เมื่อจังหวะลงตัว ข้อมูลมาประสานกัน ก็คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และนวัตกรรมได้

    บางคนมีเป้าหมายชัดเจนว่าอนาคตจะเป็นอะไร และตัดสายวิชาที่ดูไม่เกี่ยวกับทางที่เขาเลือกทิ้งโดยสิ้นเชิง เช่น เรียนแพทย์ ก็ทิ้งหนังสือประวัติศาสตร์ ปรัชญา เรียนกฎหมายก็ทิ้งเรื่องวิทยาศาสตร์ เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็ไม่เคยสนใจเรื่องดาราศาสตร์ จะเป็นนักฟุตบอล ก็ทิ้งทุกวิชา เพราะไม่ทำให้เตะบอลดีขึ้น ฯลฯ ทั้งนี้เพราะมองผ่าน ๆ ว่าวิชาเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับสายงาน

    วิธีคิดแบบนี้ทำให้มองโลกแคบ

    จริงอยู่ การรู้จริงสิ่งเดียวอาจทำให้ประสบความสำเร็จ แต่หากไม่เติมความรู้ โลกทัศน์ใหม่ ๆ ก็เหมือนคนตัวใหญ่หัวเล็กลีบ เพราะพัฒนาตัวเองแค่จุดเดียว

    โชคดีที่เรามีตัวอย่างมากพอที่จะยืนยันว่า คนประสบความสำเร็จระดับสูงมักสนใจหลายอย่าง อยากรู้ทุกเรื่อง

    ความหลากหลายทางความคิดเป็นสิ่งที่จำเป็น

    นี่เองทำให้การอ่านต้องเข้ามาอยู่ในสมการชีวิตของเรา

    มิเพียงต้องอ่าน ยังต้องอ่านหลากหลาย

    จาก มากกว่าสามสิบสอง / วินทร์ เลียววาริณ

    1
    • 0 แชร์
    • 31
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    นิยายจีนกำลังภายในหลายเรื่องพูดถึงวิชาสี่ตำลึงปาดพันชั่ง (四两拨千斤) คือหลักอ่อนพิชิตแข็ง ใช้แรงน้อยกว่าเอาชนะแรงมากกว่า

    ตัวละครนิยายกำลังภายในของโก้วเล้งก็ใช้หลักการนี้ ฆ่าศัตรูโดยออกแรงน้อยที่สุด หากใช้กระบวนท่าเดียวฆ่าศัตรูได้ ก็จะไม่เปลืองแรงออกกระบวนท่าที่สอง

    มันเป็นทั้ง energy conservation และ Minimalism!

    กีฬายูโดก็ใช้หลักคล้ายกัน ยูโดแปลตรงตัวว่า สายทางอ่อนโยน (the gentle way)

    การต่อสู้แบบนี้ไม่ใช้แรงมาก แต่ถ่ายแรงคู่ต่อสู้ไปหาคู่ต่อสู้เอง ใช้แรงน้อยที่สุดเพื่อผลสูงสุด

    หากคิดว่านี่เป็นไอเดียของคนแต่งนิยายเพ้อฝัน ซึ่งพยายามยกระดับการต่อสู้เป็นปรัชญา ก็อาจต้องคิดใหม่ เพราะหลักคิดแบบนี้มีมานานมาก อย่างน้อยที่สุดปรมาจารย์เต๋า ท่านเล่าจื๊อ ก็พูดมานานสองพันกว่าปีแล้ว

    เต๋าเป็นปรัชญาที่ใช้ได้ทั้งในการดำเนินชีวิตและศาสตร์อื่น ๆ แม้แต่การเมือง การแพทย์ ฮวงจุ้ย โหราศาสตร์ วิทยายุทธ์

    เต๋าเป็นแนวคิดที่ไร้แนวคิด เป็นหลักการที่ไร้หลักการ เป็นสายทางที่ไร้สายทาง ดูเหมือนเรียบง่ายอย่างยิ่ง แต่ก็ซับซ้อนเข้าใจไม่ง่าย

    เต๋าคืออะไรกันแน่?

    ลัทธิเต๋าก่อตั้งโดยเล่าจื๊อ เขียนคัมภีร์ชื่อ เต๋าเต๋อจิง (道德經)

    เต๋า = ทาง เต๋อ = คุณธรรม จิง = คัมภีร์

    แปลแบบหยาบ ๆ ก็ประมาณว่าคัมภีร์ของการเดินทางที่ดี

    คำว่าเต๋า (道) ที่แปลว่าทาง ภาษาอังกฤษแปลว่า The Way แต่ อลัน วัตต์ส เห็นว่าน่าจะใช้คำว่า course มากกว่า way เพราะ way หมายถึงถนนหนทาง หรือทิศทาง จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ส่วน course คือหนทาง การดำเนินไปของเหตุการณ์

    ชีวิตคือการเดินไปตามทาง

    แต่การเดินทางในที่นี้ไม่ใช่ journey หากคือการไหล (flow) ไปตามทางอย่างเหมาะสม

    เต๋ามักใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์หรืออุปมาของ ‘ทาง’ ที่ไหลไปเรื่อย ๆ

    น้ำมักไหลไปตามทางที่มีการต่อต้านน้อยที่สุด มันอ่อนที่สุด แต่ก็แข็งแกร่งที่สุด ตัดไม่ขาดด้วยคมมีด

    เราไม่อาจเก็บสายลมที่กำลังพัดใส่ในกล่อง หรือใส่น้ำไหลในกล่อง เพราะใส่เมื่อไร มันก็ไม่ใช่สายลม ไม่ใช่น้ำไหล

    ดังนั้นเต๋าก็คือ ‘flow’ ของชีวิต

    ไปแบบเรียบ ๆ เงียบ ๆ ไม่โฉ่งฉ่าง ไม่ฝืน ไม่มีแรงต้าน ไม่ออกแรง ดำเนินชีวิตตามธรรมชาติของมัน โดยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เสแสร้ง

    บางท่อนจาก หิน 15 ก้อนของ สตีฟ จ๊อบส์ / วินทร์ เลียววาริณ

    สนใจหนังสือเล่มนี้ ตอนนี้มีโปรโมชั่น Shopee คลิกลิงก์ https://shope.ee/1LIFbnHXOK?share_channel_code=6

    เว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/238/%28S10%29%20%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B5%20+%20%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%2015%20%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%20%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%9F%20%E0%B8%88%E0%B9%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B9%8C%20%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A1%E0%B8%9F%E0%B8%A3%E0%B8%B5%20%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A2 

    1
    • 0 แชร์
    • 15
  • วินทร์ เลียววาริณ
    3 วันที่ผ่านมา
    1
    • 0 แชร์
    • 8