• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    เมื่อวานนี้ฝนตกหนักในกรุง ต้นไม้ใหญ่ล้มบนถนนวิทยุ บางคนอาจชี้ว่านี่ก็คือเหตุผลที่เราไม่ควรปลูกไม้ใหญ่ใกล้อาคาร

    หากไปเดินย่านดาวน์ทาวน์แถวถนนออร์ชาร์ด สิงคโปร์ จะพบว่ามีต้นไม้ใหญ่ริมถนน ใจกลางเมือง มากกว่าถนนวิทยุด้วยซ้ำ

    ต้นไม้ล้มไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้กลางทุ่ง ในป่า ก็ล้มเหมือนกัน

    บ้านเราชอบใช้เหตุนี้เป็นตรรกะที่จะไม่ปลูกต้นไม้

    แปลว่าถ้ากินข้าวท้องเสียหนึ่งครั้ง ก็จะไม่กินข้าวตลอดชีวิตเช่นนั้นหรือ?

    ผมรู้จักคนที่เทคอนกรีตรอบบ้านทุกตารางนิ้ว เพราะ "เดี๋ยวใบไม้ร่วง" "เดี๋ยวงูมา" เดี๋ยวโน่นเดี๋ยวนี่

    นี่เป็นวิถีชีวิตที่อาจารย์แสงฯใช้คำว่า'วิธีของคนไร้รสนิยม'

    ความเสียหายของทัศนคติการสร้างเมืองแบบนี้มีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาล มากกว่าเงินที่ได้มาจากนักทัศนาจร เพราะสภาพธรรมชาติที่เสียหายไปอย่างเดียวก็ประเมินค่าไม่ได้แล้ว

    อาจารย์แสงฯยกตัวอย่างความพยายามที่จะสร้างอุทยานนครของสิงคโปร์ เขาเห็นว่าเราควรทำตัวเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจุดใดของเรือนของเขา ก็มีต้นไม้นานาชนิด

    อาจารย์แสงฯมองว่าความเป็นเมืองไม่อาจสลัดทิ้งธรรมชาติโดยเด็ดขาด เพราะคนก็คือธรรมชาติ คนไม่อาจแยกตัวออกจากธรรมชาติ คนเป็นส่วนหนึ่งของมัน คนกับต้นไม้เป็นพี่น้องกัน เมืองต้องมี 'ไวยากรณ์ศิลป์' การใช้ไวยากรณ์ศิลป์ในแนวเดียวกันทำให้ "รูปพรรณของบ้านเมืองมีความกลมกลืน เชื่อมประสานกันไปโดยตลอด"

    ไวยากรณ์ศิลป์มีความหมายถึงจังหวะ ท่วงทำนองของการออกแบบที่รักษาความสมดุลเป็นเอกภาพ ทั้งผู้คน บ้านเรือน กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คือป่า สายน้ำการปล่อยให้มีมลภาวะทั้งทางอากาศ ทางเสียง ก็คือการทำลายไวยากรณ์ศิลป์ เช่น ตึกแถว เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณาอันอัปลักษณ์ รองรับด้วยความโลภซึ่งเป็นค่านิยมของคนสมัยใหม่

    ตัวอย่างที่อาจารย์แสงอรุณยกมาก็เช่นเมืองพัทยาที่ล้มเหลวในเรื่องทรรศนะโดยสิ้นเชิง และเมืองเชียงใหม่ที่ถูกทำลายอย่างน่าเสียดาย

    อาจารย์แสงฯบอกว่าเชียงใหม่ยุคก่อนที่สวยงามเพราะสร้างเมืองแบบมีไวยากรณ์ศิลป์ ใช้กฎเกณฑ์ทางศิลปกรรมเดียวกัน อาคารมีขนาด รูปแบบ วัสดุการก่อสร้างกลมกลืนกัน ใช้มาตราส่วนของมนุษย์เป็นหลัก หมายความว่าอาคารบ้านเรือนไม่ชิงดีชิงเด่นกัน ปลูกพืชสวนป่าแซมเมือง เป็นอุทยานนคร แต่เราก็ทำลายมันลงอย่างน่าเสียดาย อาจารย์แสงฯบ่นถึงกาแลที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กว่าไร้คุณค่าทางสรีรศาสตร์ เขาว่าเราไม่ควรให้อาคารสูงกว่ายอดไม้ ควรใช้วัสดุกลมกลืนกับธรรมชาติ ผลิตในท้องถิ่นถ้าเป็นไปได้ รูปแบบควรสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น

    พืชนานาพรรณไม่เพียงทำให้งดงาม ยังเป็นแหล่งอาหาร เป็นที่อยู่ของนกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ความสมบูรณ์ของป่าไม้ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ไม่แล้ง นี่ก็คืออุทยานนคร เมืองในฝัน เมืองที่ดีที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ อาจารย์แสงฯเห็นว่า เมืองทั้งหลายในโลกควรเป็นอุทยานนคร ในอดีตเมืองส่วนใหญ่ของไทยล้วนเป็นอุทยานนคร กรุงเทพฯก็เพิ่งพ้นสภาพอุทยานนครมาไม่ถึงร้อยปี เชียงใหม่ไม่ถึงห้าสิบปี ว่าแล้วอาจารย์ก็ถอนใจเฮือกใหญ่

    มีที่ดินรอบบ้าน แต่ไม่ปลูกต้นไม้ ก็เหมือนมีกับข้าวเต็มโต๊ะ แต่เลือกกินแต่ข้าวเปล่า

    มีคนถามอาจารย์แสงฯว่า "แล้วจะทำอย่างไร ?"

    "ก็ต้องนำหลักปรัชญาของพุทธศาสนามาใช้ คือความร่มเย็น ความสะอาด ความมัธยัสถ์ ความสงบ"

    ความร่มเย็นคือการให้ธรรมชาติเป็นพระเอก ไม่ใช่มนุษย์

    "ธรรมชาติให้ภูมิประเทศแถบนี้เป็นแหล่งผลิตอากาศให้คนหายใจ อันนี้เราควรจะถือว่าเป็นคำสั่งสูงสุดจากธรรมชาติที่มนุษย์จะละเมิดมิได้ เมื่อเราทำลายป่าลงเพื่อการผลิตอาหาร เราก็ต้องทำอย่างประณีตรอบคอบและจะต้องรักษาสมดุลธรรมชาติที่กล่าวมานี้ไว้ตลอดเวลา...

    "ความสงบเป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตมนุษย์ ความสงบทางสายตามีความสำคัญเท่า ๆ กับความสงบทางหูและทางกาย ความสงบทำให้ชีพจรของเราสม่ำเสมอ มีความปกติ รูปแบบของบ้านเมืองทั้งหมดควรวางเป้าหมายในทางไม่เร่งเร้าอารมณ์"

    ที่รั้วบ้านของอาจารย์แสงฯ มีต้นไม้โผล่ตรงเขตที่ดินพอดี เขาไม่ยอมตัดต้นไม้ต้นนั้น แต่ยอมถอยรั้วหลีกต้นไม้ โดยยอมเสียพื้นที่ดินของตน

    อาจารย์แสงฯบรรยายบ้านของเขาเองว่า "ซุ้มประตูทางขึ้นคลุมด้วยลดาวัลย์ ในฤดูหนาวจะให้กลิ่นที่เยือกเย็น เคียงข้างคือชมนาดหรือต้นข้าวใหม่ มีกลิ่นหอมเหมือนข้าวกรุ่นทั้งคืนทั้งวัน"

    ใช้ชีวิตเป็น ก็เป็นชีวิตที่มีความงาม และเป็นชีวิตที่เย็น

    วินทร์ เลียววาริณ
    14-5-24

    0
    • 0 แชร์
    • 2
  • วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    เคยสงสัยไหมว่า กายภาพตัวเราแต่ละคนมีมูลค่าจริงเท่าไร

    ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีจับชาวยิวหลายล้านคนไปฆ่า ฆ่าแล้วก็เอาเส้นผมไปทำเครื่องนุ่งห่มกันหนาว ไขมันใช้ทำสบู่ ฯลฯ ดังนั้นมองแบบคนเป็นสิ่งของ คนก็มีราคา

    ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ มากมาย เช่น คาร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ซัลเฟอร์ โซเดียม แมกนีเซียม สังกะสี ไอโอดีน ไทเทเนียม โครเมียม แมงกานีส ลิเทียม ฯลฯ

    สมมุติว่าเราสลายร่างกายเราออกเป็นธาตุทางเคมีล้วน ๆ ไม่คิดเรื่องการขายอวัยวะ เช่น ไต เราก็สามารถเอาธาตุต่าง ๆ ไปทำประโยชน์ได้เหมือนที่เราขุดธาตุต่าง ๆ มาจากธรรมชาติ

    มีผู้คำนวณคร่าว ๆ ว่าคนที่มีน้ำหนัก 80 กิโลกรัม ประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ ในร่างกายซึ่งเมื่อสกัดออกมาแล้ว จะมีค่าประมาณ 160 ดอลลาร์ ราวหกพันบาท นี่คือมูลค่าทางกายภาพของเรา

    ค่าตัวของมนุษย์ตีมูลค่าจากความสามารถของสมองและการกระทำ ไม่ใช่ที่ตัวร่างกาย ใครจะไปปั่นราคาตัวเองสูงเท่าไร ก็ว่ากันไป เช่น คนเก่งอาจเรียกร้องเงินเดือนสูง ๆ ส.ส. อาจปั่นราคาตัวเองในฤดูหาเสียงได้สูง 10-50 ล้าน นางแบบ ดาราหนังหน้าตาดี อาจมีโอกาสทำเงินได้มากกว่านี้

    บางคนสามารถสร้างมูลค่าของตนได้สูงกว่า 160 ดอลลาร์หลายเท่า บ้างก็สร้างคุณงามความดีมากเกินกว่าจะประเมินได้ แต่มูลค่าจริงของร่างกายก็ยังแค่ 160 ดอลลาร์

    ตลอดชีวิตเรากินและใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปมากกว่าราคาของเราหลายพันเท่า

    เราเป็นหนี้โลกใบนี้มากเกินกว่าที่เราจะชดใช้ได้หมด

    จึงควรที่เราจะถามตัวเองเป็นระยะ ๆ ว่า เราทำประโยชน์อะไรบ้างแก่โลก ถ้าสิ่งที่เราทำมีค่าต่อโลกมากกว่า 160 ดอลลาร์ ก็คือไม่เสียชาติเกิด

    คนบางคนกินข้าวอิ่ม ไม่ทำอะไรในทางสร้างสรรค์ ตรงข้ามกลับทำลายสังคม คนสมัยก่อนเรียกว่า ‘หนักแผ่นดิน’

    บางครั้งราคาก็ถูกกำหนดด้วยหัวใจของเรา

    สามีภรรยาบางคู่ก่อนแต่งมองเห็นคู่ของตนมีราคาสูง เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม แต่ครั้นเบื่อหน่าย ก็ประกาศยกให้คนอื่น แถมเงินให้ด้วย!

    ในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว ตัวละครคนหนึ่งจุดไฟเผาธนบัตรเพื่อใช้แสงสว่างของมันมองหาเหรียญที่เขาทำตกบนพื้น เหรียญนั้นมีมูลค่าต่ำกว่าธนบัตรที่เขาเผาทิ้งมาก แต่เนื่องจากมันมีราคาทางจิตใจสำหรับเขา เขาจึงยอม

    เคยถามตัวเองไหมว่าเรามีราคาทางจิตใจต่อคนอื่นสูงแค่ไหน?

    เคยถามตัวเองไหมว่าเราเป็นเพชรหรือกรวด?

    ราคาทางกายภาพของทุกคนใกล้เคียงกัน ความแตกต่างอยู่ที่เราสามารถสร้างราคาได้สูงกว่านั้นมากเท่าไร คุณค่าขึ้นกับสิ่งที่เรากระทำ จนเมื่อเราจากโลกไปนานแล้ว คนอื่นยังจดจำ ‘ราคา’ ทางใจของเราได้ไม่รู้ลืม

    ท่อนหนึ่งจาก รอยยิ้มใต้สายฝน / วินทร์ เลียววาริณ

    https://www.winbookclub.com/store/detail/139/รอยยิ้มใต้สายฝน 

    0
    • 0 แชร์
    • 12
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    เล่าเกร็ด 'รงค์ วงษ์สวรรค์ แล้ว ก็กลับมาเล่าเรื่องอาจารย์แสงฯต่อ

    บทเรียนสำคัญบทหนึ่งที่นิสิตสถาปัตย์เรียนจากอาจารย์คือความรักต้นไม้

    ศิษย์อาจารย์จะโกรธมากทุกครั้งที่ทางการตัดต้นไม้ใหญ่ ไม่ว่าจะใช้ข้ออ้างอะไร โดยเฉพาะคำว่า "ความเจริญ"

    อาจารย์แสงฯเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันมาก เพราะยิ่งพัฒนาเท่าไร ความโลภของคนก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งตัดถนนนำความเจริญไปสู่ชนบท ก็ดูเหมือนป่าไม้ถูกทำลายลงไปมากเท่านั้น ดังนี้จะเรียกว่าพัฒนาได้อย่างไร

    ครั้งหนึ่งหลังจากเดินทางไปตามถนนสายลำพูน-เชียงใหม่ อาจารย์แสงฯเขียนบรรยายความรู้สึกที่ปะทุขึ้นมาว่า "ขอให้ท่านขับรถขึ้นไปเยี่ยมนครลำพูน ถนนลำพูน-เชียงใหม่นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่จะประกาศความงามของต้นยาง กิ่งก้านและใบจะเป็นเสมือนร่มยักษ์อันจะกรองความร้อนลง มิให้แผดเผาพื้นดินและมนุษย์ เมื่อเวลาสายัณห์ อาคารและถนนบนพื้นดินจะสลัวลง แต่เมื่อเราแหงนหน้าขึ้นมอง ไต่สายตาตามลำต้นขึ้นไปสู่ยอดยาง เราจะเห็นแสงแดดลำสุดท้ายเกาะสว่างเป็นสีหมากสุกอยู่ที่นั่น ลองหลับตานึกภาพดูเมืองซึ่งมีส่วนหนึ่งเป็นดงยางสูงจากพื้นขึ้นมา จะเป็นเสมือนร่มสีเขียวเกาะเป็นผืนใหญ่ ร่มยักษ์นี้จะให้เงาแก่อาคารภายใต้ บนร่มมหึมานี้คือสวนพักร้อนของนกน้อยใหญ่ เรามีสวนธรรมชาติอยู่เหนือหัวของเรา และเราจะมีวงดนตรีมหึมาบรรเลงขึ้นพร้อม ๆ กันทั้งวง เมื่อกระแสลมเริ่มพัดจากฟากหนึ่งมาสู่ฟากหนึ่ง..."

    ต้นยางนาซึ่งมีคุณภาพต่ำในฐานะวัสดุก่อสร้างและดูไม่มีราคา ก็งดงามได้เมื่อปลูกเป็นจังหวะเป็นแถว มันเป็นต้นไม้ที่นกยูงจะเกาะร้องเมื่อสายัณห์

    ความงามไม่จำเป็นต้องแพง

    ความแพงจำนวนมากคือความอัปลักษณ์

    อาจารย์แสงฯเชื่อแน่วแน่ว่าชีวิตต้องสัมพันธ์กับธรรมชาติ รักต้นไม้ รักทุกอณูของธรรมชาติ รักใบไม้ทุกใบ ลำต้นที่ขรุขระ เสียงนกร้อง เสียงสายฝน รักสัมผัสของสายลมกับไออุ่นของแสงแดด ความรักธรรมชาติของเขาซึมซาบในชีวิต สะท้อนสำแดงให้เห็นในงานศิลปะ และการออกแบบที่เคารพธรรมชาติอย่างยิ่ง

    ครั้งหนึ่งขณะผ่านป่าที่เมืองเพชรบูรณ์ พบป่าถูกเผาทำลาย อาจารย์แสงฯก็หยุดลงไปถ่ายรูปด้วยน้ำตาที่หยดลงมา

    ความรักต้นไม้คือการหลั่งน้ำตาเมื่อต้นไม้ถูกฆ่า

    วินทร์ เลียววาริณ
    13-5-24

    0
    • 0 แชร์
    • 15
  • วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    นักปรัชญาชาวอังกฤษ อลัน วัตต์ส อธิบายเรื่องปัจจุบันขณะโดยตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงควรใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ?

    เราได้รับคำสอนเรื่องใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันเสมอมา แต่น้อยคนที่ทำได้ และคนจำนวนมากไม่รู้ว่าทำไปทำไม

    เขากล่าวว่า ปกติเวลาเราเดินทางไปไหนมาไหน เราพยายามลดเวลาเดินทาง เพื่อที่จะไปถึงจุดหมายโดยเร็วที่สุด ยิ่งไปถึงจุดหมายเร็วเท่าไรก็ถือว่าเป็น ‘การเดินทางที่ดี’

    ยานพาหนะทั้งหลายในโลกก็ล้วนออกแบบมาให้เคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น ๆ วิถีชีวิตเราเร็วขึ้นทุกที แม้แต่กินอาหารก็มีฟาสต์ฟูด

    การอ่านก็ต้องเร็วที่สุด เกินแปดบรรทัดถือว่าเสียเวลา

    ดังนั้นแม้เราจะเดินทางจากจุด ก. ไปจุด ข. มันก็มีแต่การเคลื่อนย้ายตัว ไม่มีประสบการณ์ของ ‘การเดินทาง’ ระหว่างสองจุด เพราะใจเราไม่ได้อยู่ที่ช่วงการเดินทางนั้น

    อลัน วัตต์ส กล่าวว่า ถ้าคิดแบบนี้ กัปตันที่เก่งที่สุดก็คือคนที่พาเราไปถึงจุดหมายเร็วที่สุด

    นักดนตรีที่เก่งที่สุดคือคนที่เล่นดนตรีเร็วที่สุด เวลาเราจะชมว่านักดนตรีเล่นเก่ง เราก็ชมคนที่เล่นตัวโน้ตตัวสุดท้าย เราจะชมคนแต่งเพลงที่แต่งแค่ท่อนสุดท้าย

    เพราะทุกอย่างคือจุดหมายปลายทาง จึงไม่มีการเดินทาง

    แต่เราทุกคนก็รู้ว่าเวลาฟังเพลงหรือดนตรี เราจะดื่มด่ำกับเนื้อเพลงและเสียงดนตรีตั้งแต่ต้นจนจบ สัมผัสท่วงทำนองของดนตรีทั้งเพลงเท่า ๆ กัน ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนจบ

    เช่นกัน เวลาเราเต้นรำกับคู่ของเรา เราก็มีความสุขตลอดการเต้นรำนั้น เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องขยับเท้าขยับร่างไปถึงจุดใดจุดหนึ่งบนเวทีลีลาศ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และต้องไปถึงจุดนั้น ๆ เร็วที่สุด เราปล่อยให้ใจเราดื่มด่ำกับการเต้นรำ เพราะการเต้นรำไม่ใช่การวิ่งแข่ง มันไม่มีเส้นชัย มันมีแต่ ‘ขณะจิต’ ของการเต้นรำที่ผ่านไปทีละขณะจิต

    คนจำนวนมากมีความสุขกับการว่ายน้ำเงียบ ๆ คนเดียว เพราะมันไม่ใช่การแข่งขันไปถึงเส้นชัย มันคือการว่ายน้ำ

    เมื่อว่ายน้ำอย่างนี้ เราว่ายเพื่อสัมผัสกับน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของน้ำ ความสุขอยู่ขณะที่เราสัมผัสน้ำ ไม่ใช่ตอนที่เราไปถึงอีกฝั่งหนึ่ง

    มีแต่เรากับน้ำ มีแต่เรากับปัจจุบันขณะนั้น

    มันก็คือการทำสมาธิในรูปของการว่ายน้ำ

    ถ้าเราทำอย่างนั้นกับดนตรี การเต้นรำ และการว่ายน้ำได้ ทำไมเราไม่ทำกับการใช้ชีวิตเล่า?

    นี่ก็คือการใช้ชีวิตกับ ‘ปัจจุบันขณะ’ อยู่กับทุก ๆ นาทีของชีวิต ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

    มองแบบนี้ ชีวิตก็ไม่ใช่การเดินทางอีกต่อไป แต่เป็นการอยู่กับที่

    ‘ที่’ ก็คือปัจจุบันขณะ

    แต่เป็นปัจจุบันขณะซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

    (สวัสดีวันจันทร์ ขอให้ทุกท่านมีความสุข ณ ปัจจุบันขณะ)

    จาก ตัวสุขอยู่ในหัวใจ /วินทร์ เลียววาริณ

    0
    • 0 แชร์
    • 27
  • วินทร์ เลียววาริณ
    2 วันที่ผ่านมา

    สัปดาห์ก่อนหรือสองสัปดาห์ก่อนก็จำไม่ได้แล้ว คุยเรื่องอาจารย์แสงฯกับอา 'รงค์ วงษ์สวรรค์ และสวนทูนอิน ก็ต้องเล่าแทรกเรื่องอา'รงค์ ก่อนลืม

    เกือบสี่สิบปีมาแล้ว ผมเข้าสู่วงการนักเขียนอย่างเงียบๆ แค่อยากเขียน ไม่เคยคิดจะเป็นนักเขียนด้วยซ้ำ แต่เมื่อได้รับรางวัลซีไรต์ครั้งแรก (ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน) ก็โดนกระหน่ำเต็มๆ จนแทบตั้งตัวไม่ทัน  (สมัยนั้นไม่ได้เรียกว่าทัวร์ลง) ไม่นึกว่าวงการนักเขียนจะดุเดือดขนาดนี้

    มองย้อนกลับไป ผมรับมือกับสถานการณ์นั้นได้ค่อนข้างดี นั่นคือใครด่าอะไร ก็เงียบตลอด จนเขาเลิกไปเองเพราะความเบื่อ

    วันหนึ่งผมไปเยี่ยมน้องชายที่หาดใหญ่ ขณะนั่งกินข้าวด้วยกันในตลาดแห่งหนึ่ง เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น ปลายสายคือ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

    ถ้ามนุษย์ต่างดาวนำยานมาจอดหน้าตลาดหาดใหญ่ในนาทีนั้น ผมคงไม่แปลกใจเท่ากับได้รับโทรศัพท์จากพญาอินทรี

    อา'รงค์โทร.มาคุย (น่าจะสงสารนักเขียนที่ถูกรุม!) และเชิญไปเยี่ยมสวนทูนอิน

    ในชีวิตผมไม่เคยคาดว่า จะได้สนทนาหรือพบปะนักเขียนชั้นครูระดับนี้มาก่อน ก็แปลกใจอย่างสูง แต่ก็รู้สึกดี ตัวลอยจากพื้นราวครึ่งเซนต์

    ไม่นานหลังจากนั้นผมไปพูดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ถือโอกาสไปเยี่ยมคารวะอา'รงค์ที่สวนทูนอิน

    อา'รงค์ทักทายผมเหมือนรู้จักกันมายี่สิบปี ไม่มีการถือตัว อา'รงค์พูดเรื่องหนังสือรางวัลซีไรต์ของผมที่โดนถล่มว่า ทำไมต้องเล่นกันหนักขนาดนั้น แกบอกว่าเก็บคำวิจารณ์และอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เป็นแฟ้ม

    อา'รงค์เป็นนักเขียนรุ่นพี่ที่ไม่ถือตัว และมีเมตตากับน้องๆ ในวงการ ใช้ศัพท์ว่า 'ญาติน้ำหมึก' กับคนในวงการเสมอ

    อา'รงค์บอกว่านักเขียนควรจะรักกัน ไม่ใช่เกลียดกัน

    หลายปีต่อมา ผมมีโอกาสไปเยี่ยมอา'รงค์อีกครั้ง ตอนนั้น ปราบดา หยุ่น เพิ่งได้รับรางวัลซีไรต์ และโดนถล่มหนักเช่นกัน อา'รงค์บอกว่า "นี่จะไม่ให้นักเขียนใหม่เกิดเลยหรือ"

    ในมุมมองของพญาอินทรี เขียนดีหรือไม่ดีไม่สำคัญ เพราะมันเป็นเส้นทางพัฒนาการของนักเขียนอย่างนั้น แต่ที่สำคัญคือบรรยากาศของวงการหนังสือ มันควรเป็นเรื่องไมตรีจิตต่อกัน ไม่ใช่ทะเลาะกันเพียงเพราะเห็นไม่ตรงกัน

    ผมเรียนรู้ว่าโลกนักเขียนคือแผ่นกระดาษ นักเขียนมีความคิดเป็นปากกา มีเมตตาธรรมเป็นน้ำหมึก

    และผมก็เรียนรู้ว่า ฉายาพญาอินทรีมิได้ตั้งขึ้นโดยไร้ความหมาย

    วินทร์ เลียววาริณ
    12-5-24

    0
    • 0 แชร์
    • 25