• วินทร์ เลียววาริณ
    1 ปีที่ผ่านมา

    ขึ้นชั้น ป. 6 เพื่อนคนหนึ่งบอกผมว่า แถวสะพานลอย ก่อนถึงหาดใหญ่ใน มีห้องสมุดประชาชนอยู่ มีหนังสือเยอะ ผมสามารถไปยืมหนังสือจากที่นั่นได้

    ผมก็แวะไปที่ห้องสมุดประชาชนหาดใหญ่ เวลานั้นยังเป็นห้องซอมซ่อ เก่า ๆ หนังสือกองเต็มไปหมด ล้วนเป็นหนังสือที่ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อน จำนวนมากเป็นนวนิยายที่ผมไม่เคยอ่านมาก่อน หนังสือเริงรมย์ในห้องนี้มีมากกว่าในห้องสมุดโรงเรียนหลายเท่า

    ผมทำบัตรห้องสมุด แล้วยืมนวนิยายกลับบ้าน

    ผมเลิกอ่านนิทานเด็กตั้งแต่นั้น อ่านแต่นิยายของผู้ใหญ่ และมันเปลี่ยนชีวิตผมตั้งแต่นั้น

    ผมอ่านนิยายแบบบ้าคลั่ง เหมือนคนร่อนเร่กลางทะเลทรายแล้วพบน้ำกลางโอเอซิส

    โอเอซิสหาดใหญ่ให้ยืมหนังสือได้วันละสองเล่ม ปิดวันอาทิตย์ ผมก็ใช้สิทธินั้นเต็มที่เสมอมา

    ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมอ่านนิยายวันละสองเล่ม ความตั้งใจจะอ่านทั้งสองเล่มทำให้ผมฝึกการอ่านเร็วไปโดยปริยาย

    ผมทำการบ้านแบบผ่าน ๆ เรียนหนังสือพอให้เข้าใจ นอกเหนือจากนั้น ทุกลมหายใจคือนิยาย

    ผมไปห้องสมุดทุกวันไม่ว่าฝนตกแดดออก ฟ้าร้องฟ้าผ่า ขอเพียงแต่ประตูห้องสมุดไม่ถูกลั่นดาล บรรณารักษ์จะต้องเห็นหน้าเด็กคนนี้แน่นอน

    ผมอ่าน ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบตอนอยู่ ป. 7 ฉากเซ็กซ์ในนิยายเหล่านี้ อ่านตั้งแต่ก่อนขึ้นชั้นมัธยม

    แล้วผมก็เผลอไปอ่าน เพชรพระอุมา

    เพชรพระอุมา เป็นหนังสือที่ควรออกกฎหมายห้ามนักเรียนอ่านเด็ดขาด เพราะมันออกฤทธิ์แรงยิ่งกว่าเสพกัญชาร้อยต้นพร้อมกัน มันทำให้ไม่เป็นอันกินอันเรียน

    ผมกลายเป็นเด็กติด(นิ)ยา(ย)

    อ่านนิยายห้องสมุดวันละสองเล่มไม่พอ ผมยังไปอ่านฟรีที่ร้านหนังสือ

    หาดใหญ่เมื่อ 40-50 ปีก่อนมีร้านหนังสือทั่วเมืองไม่เกิน 4-5 ร้าน ร้านที่ผมผูกพันที่สุดคือแพร่วิทยา ตั้งอยู่ที่ถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ติดกับโรงภาพยนตร์โอเดียน

    ร้านนี้ตั้งมานานแล้ว เป็นตึกแถวคูหาเดียว แต่ลึกมาก ด้านหน้าร้านวางแผงนิตยสารต่าง ๆ ภายในร้านมีชั้นหนังสือหลายชั้น เรียงหนังสือจนเต็ม แผงหน้าร้านวางนิตยสารต่าง ๆ เช่น นิตยสารดัง ๆ อย่างจักรวาล บางกอก ขวัญเรือน ก็ชูหน้าชูตาบนแผงนี้ ช่วงสิ้นปี ในยุคนิยายกำลังภายในเฟื่องฟู จะเห็นนิยายจีนวางเรียงเป็นแถว

    นิยายจีนกำลังภายในสมัยนั้นพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คบาง ๆ (คล้ายๆ กับเล่ม เป่ย ที่ผมแจก) อ่านไม่เกินชั่วโมงก็จบ ออกเป็นตอน ๆ อาทิตย์ละสองสามเล่ม เรื่องที่นิยมก็มีผู้อ่านมาซื้ออ่านทุกอาทิตย์

    ผมไปร้านแพร่วิทยาบ่อยมาก แต่ไม่เคยซื้อหนังสือสักเล่มเดียว แม้ว่าราคาหนังสือตอนนั้นปกแข็งราว 20-30 บาท แต่ไม่มีปัญญาซื้อ

    ผมมักย่องเข้าร้านเหมือนหัวขโมย หยิบหนังสือ ‘เป้าหมาย’ ขึ้นมาอ่านอย่างรวดเร็ว เมื่อคนขายมอง ก็วางหนังสือลง เมื่อเขายุ่งกับลูกค้าคนอื่น ก็อ่านต่อ ครั้นอ่านไปพอสมควรแล้ว ประมาณครึ่งชั่วโมงหรือโชคดีนานกว่านั้น ก็วางหนังสือบนชั้นตามเดิม แล้วหายตัวไปจากร้านโดยเร็วที่สุด ครั้นวันรุ่งขึ้นก็ย่องเข้าไปอ่านต่อ

    ขโมยอักษรในร้านอย่างนี้จบไปหลายเล่ม เจ้าของร้านหนังสือคงเขม่นหน้าเด็กคนนี้ แต่ก็ไม่ได้ตะเพิดออกจากร้าน

    กราบขอบพระคุณเจ้าของร้านย้อนหลัง บุญคุณนี้ใหญ่หลวงนัก ชาตินี้ไม่มีวันลืม

    ผมก็อ่านนิยายจีนกำลังภายใน ประเดิมด้วย อสูรจอมราชันย์ ซึ่งตอนแรกอ่านไม่รู้เรื่อง แต่ก็ไล่อ่านจนรู้เรื่อง ผาโลหิต กระบี่ดาวรุ่ง มัจจุราชคะนอง บ้ออ้วงตอ พญามารเงิน ฯลฯ

    ผมอ่าน มังกรหยก ภาค 1 เล่มแรกหนาหนึ่งพันหน้าจบในคืนเดียว รุ่งขึ้นก็ไปยืมเล่ม 2 หนาพันหน้ามาอ่านต่ออย่างติดพัน เมื่ออ่านจบ ก็อ่านอีกรอบเพื่อให้ภูมิแน่น

    บางวันเมื่ออ่านนิยายไม่ทัน ผมก็ยัดมันลงในกระเป๋านักเรียน ไปเปิดอ่านตอนครูสอน เพื่อนหลายคนมองผมตาค้าง ไอ้เด็กเวรนี่อ่านนิยายขณะที่ครูสอนวิชา ช่างกล้าจริง ๆ! นึกไม่ออกจริง ๆ ว่า หากครูจับได้จะเป็นอย่างไร

    บางทีเมื่อเห็นผมจมกับหนังสือที่ดูไม่เหมือนตำราเรียน พ่อก็ถามเชิงดุว่า “อ่าน 小說 อีกแล้วหรือ”

    小說 (เสี่ยวซัว) แปลว่านิยายเริงรมย์

    วงแตกโดยปริยาย

    ความจริงพ่อก็ดุผมไม่ได้เต็มปาก เพราะพ่อก็อ่าน ‘เสี่ยวซัว’ เหมือนกัน บนหน้าหนังสือพิมพ์จีนซิงเสียนเยอะเป้า มีนิยายของกิมย้งเป็นประจำ เช่น ซู่ซินเจี้ยน (กระบี่ใจพิสุทธิ์)

    อ้าว! ที่แท้ท่านพ่อก็เป็นแฟนกิมย้งเหมือนกัน!

    วันหนึ่งบรรณารักษ์ถามผมด้วยเสียงเรียบ ๆ ว่า “นี่น้องไม่ต้องเรียนหนังสือหรือ?”

    ผมอึ้งไปครู่ใหญ่ ตาละห้อยเหมือนหมาที่ถูกเจ้าของดุ แต่ก็ตากหน้าไปยืมต่อ

    มาคิดดูตอนนี้ เหตุที่บรรณารักษ์ถามก็มีเหตุผล เพราะหากเราเป็นบรรณารักษ์ เห็นเด็กคนหนึ่งมายืมนิยายวันละสองเล่ม ย่อมเป็นห่วงว่าเด็กคนนั้นจะหมกมุ่นกับ ‘เสี่ยวซัว’ มากไปจนเสียการเรียน

    แล้วสิ่งที่บรรณารักษ์เป็นห่วงก็เกิดขึ้นจริง

    ครั้นขึ้น ป. 7 หายนะก็มาเยือน ผลกรรมตามสนองทันตาเห็น ผมสอบได้ที่ 25 ของชั้น ตกต่ำที่สุดในประวัติการเรียนของผม

    สำหรับคนเรียนแย่เสมอต้นเสมอปลาย อาจไม่เครียดนักเมื่อต้องยื่นสมุดพกให้พ่อ แต่สำหรับคนที่เคยสอบได้ที่ 1 ต่อเนื่องกันสองปี คะแนนหล่นจากเลข 1 มาอยู่ที่เลข 25 ย่อมเป็นปรากฏการณ์พิสดารสะท้านปฐพี

    พ่อผมมองดูตัวเลข 25 บนสมุดพกอยู่นาน พ่อคงประหลาดใจ ผมก็ประหลาดใจ ไม่นึกเลยว่าชีวิตนี้จะสอบได้เลขสองตัว

    ครูประจำชั้น ป. 7 ก. ครูนิยม แสนทอง โรยเกลือบนบาดแผลซ้ำ โดยเขียนในสมุดพกว่า

    “รู้สึกว่าระดับการเรียนตกต่ำลงกว่าเดิม ขอให้กระตือรือร้นเข้าให้มาก เห็นจะเล่นสนุกมากกว่าเรียน”

    ความรู้สึกตอนนั้นคือละอายใจ เหมือนขี้เมาถูกน้ำเย็นสาด

    จ๋อยแดก! แล้วตื่นเลย

    .....................

    (ย่อความจากหนังสือ ชีวิตที่ดี / ประวัติชีวิตของ วินทร์ เลียววาริณ เขียนโดยเจ้าตัว)

    - สั่งซื้อทางเว็บไซต์ winbookclub.com คลิกตรง "ซื้อหนังสือ"

    - สั่งซื้อทาง Shopee คลิกลิงก์ตามนี้

    (ชุด 3 เล่ม S10) ชีวิตที่ดี + หิน 15 ก้อนฯ + เป่ย (ปก 660.- เหลือ 590.- พร้อมลายเซ็นนักเขียน) https://shope.ee/LL9SCqyRl?share_channel_code=6

    (เล่มเดี่ยว) ชีวิตที่ดี (ปก 340.- เหลือ 300.- พร้อมลายเซ็นนักเขียน) https://shope.ee/9esoZKMidk?share_channel_code=6

    (เล่มเดี่ยว) หิน 15 ก้อนของ สตีฟ จ๊อบส์ (ปก 320.- เหลือ 290.- พร้อมลายเซ็นนักเขียน) https://shope.ee/20TNRFpQtO?share_channel_code=6

    0
    • 0 แชร์
    • 51

บทความล่าสุด