• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    ในวันแรกที่ผมเริ่มเขียนหนังสือนั้น ผมอ่านหนังสือมาแล้วจำนวนมาก แต่พอคิดจะเขียน กลับเขียนคำแรกไม่ออก

    ผมเริ่มต้นชีวิตนักเขียนเหมือนทารกคลานเตาะแตะ จำได้ว่าแต่ละเรื่อง กว่าจะกลั่นคำแรกประโยคแรกออกมาได้แทบกระอักเลือด ชวนให้เลิกหลายครั้ง

    อ่านหนังสือมาเป็นพันเล่ม แต่เริ่มประโยคแรกไม่ได้

    หากกระบี่เป็นอาวุธของจอมยุทธ์ ภาษาก็เป็นอาวุธของนักเขียน

    การใช้ภาษาอาจเป็นส่วนที่ยากที่สุดของงานเขียน มิพักเอ่ยถึงขั้นเป็น ‘นายของภาษา’

    ‘นายของภาษา’ หมายถึงคุมปากกาได้อยู่หมัด ถ้าเป็นช่างไม้ก็ไสไม้เรียบในไม่กี่ที ถ้าเป็นช่างปูนก็ปาดปูนเรียบเหมาะเจาะใน 1-2 ตวัด ไม่มีเศษปูนเหลือ

    ถ้าเป็นวงการยุทธจักร ‘นายของภาษา’ ก็ประมาณน้องๆ ไซมึ้งชวยเซาะหรืออี้จับซา สะบัดกระบี่ที มีคนตาย ถ้าต้องฟันกันหลายสิบกระบวนท่า อย่างนี้ยังไม่ใช่

    ต้องฝึกฝนจนคุมกระบี่อักษรได้ ทุกกระบวนท่าต้องฆ่าศัตรู ถ้าแทงเข้าหัวใจได้ ยิ่งดี

    จะฝึกถึงขั้นนี้ ยากจริงๆ ขอบอก

    ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ใช้ภาษาแบบ Minimalism ดีที่สุด น้อยที่สุดเท่าที่สื่อสารได้

    Minimalism คือหากเราตัดคำใดในประโยคทิ้งไปแล้ว ยังอ่านรู้เรื่อง แสดงว่าคำคำนั้นเป็นส่วนเกิน

    ผมเริ่มต้นเขียนงานที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกตอนราวอายุ 15 เขียนขำขันหลายเรื่องไปส่งนิตยสารชัยพฤกษ์ หลังจากนั้นก็แต่งนิยายภาพขายอยู่หลายปี แล้วค่อยเข้าสู่วงการนักเขียน

    หลังจากจับปากกา 20 ปี รู้สึกว่าเริ่มประโยคง่ายขึ้น แต่ยังต้องเกลาแล้วเกลาอีก

    หลังจากจับปากกา 30 ปี รู้สึกว่าไม่ต้องเกลามากเหมือนเก่า ใช้ปากกาได้คล่องแคล่วกว่าครั้งเริ่มต้น แต่ยังไม่ถึงขั้นไซมึ้งชวยเซาะ หรืออี้จับซา ยังต้องฟันหลายทีอยู่ แต่น้อยลงไปมาก

    หลังจากจับปากกา 50 ปี รู้สึกว่าความผิดพลาดน้อยลง เวลาที่ใช้เลือกคำน้อยลง และการเขียนเป็นความสนุกสาหัสสมใจยิ่ง

    ทั้งหมดมาจากการฝึกฝนคำเดียว

    ไม่มีอะไรดีๆ ที่ได้มาง่ายๆ จะเป็น ‘นายของภาษา’ นั้นทำได้ แต่ต้องฝึกหนักหน่วง

    ทว่ารางวัลของความหนักหน่วงของการฝึกฝน คือความเบาสบายของหัวใจเมื่องานลื่นไหลราวสายน้ำที่มิเกรงก้อนหินขวางกั้น

    ..............................

    คำแนะนำของผมต่อนักเขียนใหม่คือ

    1 อย่ารีบเป็นนายของภาษา เขียนสื่อให้เข้าใจก่อน เช่น เขียนเรื่องไก่ก็เป็นไก่ เขียนเรื่องแมวก็เป็นแมว ค่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ ผ่านไปหลายปี ไก่จะเป็นไก่พิเศษ แมวก็จะเป็นแมวเทวดาเอง

    ไม่มีนักเขียนคนไหนเป็นนายภาษาในวันแรกที่เริ่มเขียน ไม่มี ดังนั้นไม่ต้องเร่งรีบ กดดันตัวเอง เขียนไปสบายๆ แต่ฝึกไม่หยุด

    2 ลอกเลียนการใช้ภาษาของนักเขียนชั้นครู

    บ้านเรามีนักเขียนชั้นครูภาษาสวยจำนวนมาก จอมยุทธ์แต่ละท่านฝึกมาคนละหลายสิบปี เช่น มนัส จรรยงค์ ไม้ เมืองเดิม ยาขอบ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ฯลฯ

    การลอกในที่นี้ไม่ใช่การเดินตามรอยเดิม แต่คือการฝึกอย่างหนึ่ง ช่วยให้เข้าใจว่าทำไมเขาจึงใช้ภาษาอย่างนั้น แล้วค่อยๆ ขบคิด ฝึกไปเรื่อยๆ จนหลุดจากกรอบของนักเขียนครูเหล่านั้น เป็นสำนวนของเราเอง

    อย่าลืมว่า หน้าที่แรกของนักเขียนคือเล่าเรื่อง เรื่องต้องดี น่าสนใจ มีมุมมองที่คนอ่านคิดไม่ถึง

    ส่วนภาษาดีช่วยทำให้เรื่องนั้นสมบูรณ์

    เหมือนจอมยุทธ์ในนิยายของโก้วเล้ง นอกจากจะฆ่าคนแล้ว ท่วงท่าในการฆ่ายังต้องงามด้วย

    การใช้ภาษาดีและงดงามจะยกระดับงานเขียนเป็นศิลปะ

    และงานเขียนที่เป็นศิลปะจะอยู่ยืนยาวกว่างานขียนปกติ

    วินทร์ เลียววาริณ
    17-5-25

    ...............................

    จากอีบุ๊ค #ปล่อยให้ความเหงาพาไป

    ซื้อได้จากเว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/227/ปล่อยให้ความเหงาพาไป หรือ The Meb

    0
    • 0 แชร์
    • 4

บทความล่าสุด