• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    วันก่อนผู้อ่านถามถึงความแตกต่างระหว่างคำว่ามุมมองกับทัศนคติ เรามักใช้แทนกัน

    ความจริงความหมายมันก็อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งสองคำก็คือมุมมอง

    อีกคำหนึ่งคือ perception สามคำนี้ไม่เหมือนกัน

    สามคำนี้อยู่ในกลุ่มการมองเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

    perception หมายถึงสิ่งที่เรามองเห็น หรือคิดจากสิ่งที่เห็น ยกตัวอย่าง เช่น รัฐมนตรี ก. ทำงานดีมาก แต่ perception ของคนคือเขาทำงานดีเพื่อเอาหน้า เขาอาจทำดีจริงๆ ก็ได้ แต่คนมองเห็นว่าเอาหน้า สิ่งที่คนมองนั่นคือ perception

    จึงอาจแปลว่า "Perception is what you see."

    เวลาเราทำดี ในใจเรามีความคิดกุศล perception ของคนอื่นอาจมองตรงข้าม

    สำหรับคนจำนวนมาก อาจไม่แยแสว่าคนอื่นคิดอะไรกับตน คิดว่าตนบริสุทธิ์ใจก็พอแล้ว แต่หากทำธุรกิจหรือการงานอื่น perception ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนั้นไปได้ไกลหรือไม่

    เพราะมันไม่สำคัญว่าเราทำอะไร แต่อยู่ที่คนอื่นเข้าใจว่าอะไร

    สำหรับมุมมอง (viewpoint หรือ perspective) คือตำแหน่งที่มอง ยกตัวอย่าง เช่น มองบ้านเก่าหลังหนึ่ง มันสามารถมองได้จากหลายมุม เช่น มุมของคนภายนอก หรือมองจากมุมของคนที่อยู่อาศัย

    มองต่างมุม perception ก็ต่างกัน สมองก็แปลความหมายต่างกัน

    ก็มาถึงคำที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติ (attitude)

    ทัศนคติคือผลจากการปรุงความคิดเรา เช่น เรามองบ้านเก่าแล้วเห็นว่าคนในบ้านยากจน ลำบาก ชีวิตลำเค็ญ เรามองว่าความลำบากคือเรื่องเลวร้าย เคราะห์ร้าย กรรมเก่า

    แต่คนในบ้านอาจมองว่ามันคือความอบอุ่น เพราะพ่อแม่ของเขายอมอยู่ในบ้านเก่าทั้งชีวิตเพื่อให้การศึกษาลูก นอกจากนี้ชีวิตลำบากทำให้เขาไต่ขึ้นที่สูงสำเร็จ

    ทัศนคติของคนในบ้านจึงตรงข้าม คือเห็นว่าความลำบากเป็นเรื่องดีงาม

    จะเห็นว่าในเรื่องเดียวกัน มุมมองต่างกัน ก็อาจได้รับทัศนคติต่างกัน แต่มันก็ขึ้นการการศึกษา การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม ฯลฯ ด้วยที่ทำให้คนคนหนึ่งมีทัศนคติแบบหนึ่ง

    ทัศนคติจึงสำคัญกว่าทุกอย่าง เพราะหากใครคนหนึ่งมีทัศนคติที่ดี ชีวิตมีโอกาสสูงที่จะมีความสุข

    เราคงเคยได้ยินมาก่อนว่า ชีวิตคือ 10 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา และ 90 เปอร์เซ็นต์ของปฏิกิริยาของเราต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

    ปฏิกิริยานี้ก็คือทัศนคติ

    จะมีทัศนคติดีส่วนหนึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อม แต่อีกส่วนหนึ่งอาจฝึกได้

    ฝึกมองโลกในมุมบวก มันยากกว่ามองโลกในแง่ลบ แต่มันเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เรามองหาทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น เราประสบเหตุการณ์หนึ่ง ถ้าเราบอกว่า "มันแก้ไม่ได้" โอกาสแก้ปัญหานั้นก็เท่ากับศูนย์ทันที

    แต่หากเรามองว่า "มันอาจมีทางแก้" โอกาสแก้ปัญหานั้นก็ไม่ใช่ศูนย์แล้ว อาจเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับความสามารถและประสบการณ์ของเรา 5 เปอร์เซ็นต์นี้ไม่มีวันเกิดขึ้นหากเรามีทัศนคติลบแต่แรก

    เมื่อเรามองเห็นทางเลือกมากขึ้น ก็มีโอกาสมีความสุขมากขึ้น ง่ายๆ เช่นนั้น

    วินทร์ เลียววาริณ
    5-7-25

    1
    • 0 แชร์
    • 15

บทความล่าสุด