• วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    หมายเหตุ : หลายเดือนก่อนผมเปรยว่า กำลังเรียนพุทธศาสนาอีกรอบ และถ้าเป็นไปได้ จะพยายามย่อยเรื่องพุทธยากๆ ให้เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้

    วันนี้น่าจะได้ฤกษ์เริ่มสักที ไม่ใช่เพราะรู้พอแล้ว แต่เพราะมัวแต่ดูหนัง ถ้าไม่บังคับตัวเองให้เขียน ก็คงไม่ทำ การบังคับตัวเองให้เขียนเท่ากับบังคับให้ตัวเองอ่าน

    โปรดเข้าใจว่าเรื่องที่ผมนำมาลงให้อ่านนี้ไม่ได้เขียนขึ้นใหม่เอง ผมทำหน้าที่แค่ย่อยสิ่งที่อ่านมาให้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้น (ย่อยธรรม ไม่ใช่สอนธรรม) ท่านที่มีความรู้จริงสามารถเสริม แก้ไข หรือแย้งได้เสมอ จะได้เป็นประโยชน์ร่วมกัน

    ..............................

    เริ่มที่ ก. ไก่ กรรมฐาน

    คำอธิบายเรื่องกรรมฐานนี้ ผมอ่านมาจากงานเขียนเรื่อง ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) รู้สึกว่าเข้าใจง่ายกว่าคำอธิบายอื่นๆ ที่เคยอ่านมา

    คนส่วนมากเข้าใจว่ากรรมฐานหมายถึงการทำสมาธิชั้นสูง การนั่งสมาธิในป่าคนเดียว แต่จริงๆ แล้วกรรมฐานหมายถึงเครื่องมือหรือที่ทำงานของจิต

    กัมมัฏฐานแปลว่าที่ทำงาน

    เราย่อมรู้ว่าเราทำสมาธิเพื่อให้ใจแน่วนิ่ง แบบมาตรฐานคือกำหนดลมหายใจที่ปลายจมูก

    แต่การกำหนดลมหายใจที่ปลายจมูกเป็นแค่เทคนิค (หรืออุบาย) หนึ่ง ยังมีอีกหลายเทคนิค เช่น พิจารณาซากศพ เดินจงกรม ฯลฯ เทคนิคทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่า กรรมฐาน หรือกัมมัฏฐาน

    ดังนั้นจึงอาจบอกว่ากรรมฐานก็คือออฟฟิศของจิต หรือที่ฝึกงานของจิต หรือเครื่องมือฝึกจิต มันจะเป็นอะไรก็ได้ อาจเป็นรูจมูกที่เรากำหนดลมหายใจ อาจเป็นการพิจารณาซากศพ อาจเป็นการเดินจงกรม อะไรก็ได้ที่ทำให้จิตนิ่ง

    เมื่อจิตกำหนดอยู่ที่สิ่งเดียวได้เมื่อไร ก็คือเข้าสู่สมาธิ

    วินทร์ เลียววาริณ
    15-7-25

    1
    • 0 แชร์
    • 32

บทความล่าสุด