-
วินทร์ เลียววาริณ2 ปีที่ผ่านมา
(หลังจากดูเรื่อง โหดเลวดี รอบล่าสุด ก็ถือโอกาสดูชุด Infernal Affairs - สองคนสองคม อีกครั้ง คราวนี้ดูแบบชำแหละและจับผิด ผลคะแนนก็ยังเหมือนเดิมคือ 10/10)
ตัวละคร ไมเคิล คอร์ลีโอน กล่าวในภาพยนตร์เรื่อง The Godfather Part III ว่า “ขณะที่ผมคิดว่าผมออกมาแล้ว พวกนั้นก็ดึงผมกลับเข้าไปใหม่”
คนชั่วเมื่อคิดล้างมือจากวงการ ก็อาจทำไม่ได้
แล้วคนดีที่เข้าสู่วงการคนชั่วด้วยเจตนาดีเล่า? ล้างมือได้หรือไม่? หนีออกจากทางสายเดิมได้หรือไม่?
และนี่คือ 無間道 ทางที่ไม่สิ้นสุด
ชื่อจีนของภาพยนตร์เรื่อง Infernal Affairs (สองคนสองคม)
無間 = ไม่สิ้นสุด 道 = ทาง ในที่นี้รวมแล้วหมายถึงนรกไม่สิ้นสุด ไม่มีการเกิดใหม่ ไม่อาจหนีพ้น
ชื่อเรื่องอังกฤษเป็นการเล่นคำ เลียนคำว่า internal affairs ซึ่งหมายถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่สอบสวนความประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ แทนด้วยคำว่า infernal ที่แปลว่า นรก หรือ 無間道
วงการภาพยนตร์โลกเต็มไปด้วยหนังแนวตำรวจ-ผู้ร้าย มากจนอยากสรุปว่า หนังเกินครึ่งในโลกเป็นหนังการขับเคี่ยวระหว่างตำรวจกับคนร้ายหรือเจ้าพ่อ ในบรรดานี้ หนังที่สามารถยกระดับไปถึงระดับดีมากหรือถึงขั้นคลาสสิก มีน้อย
ตัวอย่างคลาสสิกที่ยกมาเสมอคือ The Godfather เพราะมันก้าวไปไกลกว่าพล็อตเรื่องการขับเคี่ยวหรือการชิงอำนาจของเจ้าพ่อ แต่มันรวมความรู้สึกจิตใจเข้าไปด้วย ดังที่โก้วเล้งใช้ในงานเขียนนิยายกำลังภายใน แล้วยกระดับมันขึ้นมาเป็นงานคลาสสิก
Infernal Affairs เป็นหนังฮ่องกง เกี่ยวกับเจ้าพ่อ-ตำรวจ โดยคอนเส็ปต์ไม่ใช่ของใหม่ การส่งสายลับเข้าไปในองค์การอาชญากรรม หรือเข้าไปในหน่วยงานรัฐทำมาแล้วมากมาย ของไทยเราก็มีเรื่อง เล็บครุฑ ที่เขียนมาตั้งแต่ผมยังไม่เกิดด้วยซ้ำ หรือแม้แต่ในหนังที่อิงเรื่องจริง เช่น Donnie Brasko ซึ่งออกมาหลายปีก่อนเรื่อง Infernal Affairs
แต่สิ่งที่ Infernal Affairs แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นในตระกูลนี้คือ แม้เป็นหนังตลาด แต่มันยืนอยู่ใต้เงาของหนังอาร์ต หนังไม่เน้นการฆ่ากัน ฉากยิงอาจไม่เห็นการยิง อาจเป็นแค่เสียงปืน ที่สำคัญที่สุดคือ หนังใส่อารมณ์ความรู้สึก เลือดเนื้อมนุษย์เข้าไป เมื่อรวมกับบทที่แน่น เคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้มันโดดเด่นออกมาจากหนังอาชญากรรมทั่วไป
หลายฉากทำได้ตื่นเต้นโดยที่ไม่มีการปะทะกันจริง ๆ ฉากการสื่อสารผ่านรหัสมอร์สถือว่าฉลาด
หนังมีความรุนแรงมาก แต่กลับไม่เน้นความรุนแรง แต่เน้นที่การวางแผน การแก้เกม การหักเหลี่ยม การหักมุมซ้อนหักมุม บทเอาอยู่ ทำให้เรื่องสนุกและสด
พูดง่าย ๆ คือ เป็นงานที่รวมศิลปะ พล็อต การหักมุม การใช้อารมณ์ ลงตัว
โก้วเล้งมักชอบเล่าชีวิตชาวยุทธ์ในมุมธรรมดา มุมในระดับล่าง เรื่องนี้ก็เช่นกัน คนร้ายก็คุยเล่นกันได้ ในเรื่องทั่วไป ไม่จำเป็นต้องร้ายทั้งเรื่อง ความเป็นศัตรูกับความเป็นเพื่อน แยกกันไม่ออกชัด ส่วนหว่องกาไวชอบเล่นกับอารมณ์และโทนหนังแบบหม่น
เรื่องนี้ดูเหมือนจะรวมพล็อตที่ดีเข้ากับงานแบบโก้วเล้งและอารมณ์แบบหว่องกาไว
..............
Infernal Affairs ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนต้องสร้างภาคสองและภาคสาม
เช่นเดียวกับ The Godfather หนังประสบความสำเร็จอย่างสูงจนต้องเข็นภาค 2-3 ออกมา
และเช่นเดียวกับ The Godfather หนังภาคต่อของ Infernal Affairs ถือว่าทำได้ดี
และฮอลลีวูดยังนำไปรีเมกเป็นฉบับฝรั่ง The Departed โดย Martin Scorsese ผู้กำกับมือเซียนด้านหนังแนวนี้ The Departed ไปไกลขนาดได้รับรางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
นี่ย่อมแสดงว่าโครงเรื่องและแนวเรื่องของงานชิ้นนี้อยู่ในเกณฑ์ดีมาก
Infernal Affairs ภาค 2-3 เพ่ิมและเสียบส่วนที่ไม่ได้เล่าในภาคแรก ซึ่งถือเป็นความสามารถของคนเขียนบทที่สามารถอุตส่าห์เสียบเรื่องเข้าไปได้ โดยที่ยังใช้ตัวละครชุดเดิม เล่าที่มาและเส้นทางชีวิตของแต่ละคน ทำให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งว่า บางทีการเป็นเจ้าพ่อก็มาแบบโชคช่วย ไม่ได้ตั้งใจ จังหวะมันได้
ภาค 2-3 ด้อยลงกว่าภาค 1 บ้าง แต่ยังถือว่าดี และเมื่อรวมกันเป็นไตรภาค ก็ยังจัดว่าเป็นหนังที่มีเอกลักษณ์ และมาตรฐานสูงกว่าหนังแนวนี้จำนวนมากของฮอลลีวูด
Infernal Affairs ทั้งสามภาคชี้ให้เราขบคิดว่า แท้ที่จริงแล้ว ตัวตนของเราคือใคร มันสามารถแบ่งดี-ร้ายได้แยกกันเช่นนั้นหรือ และคำถามที่ว่า คนเราสามารถเปลี่ยนจากร้ายเป็นดีได้ไหม ไม่มีใครอยากเป็นร้าย แต่ในสถานะหนึ่ง สิ่งแวดล้อมหนึ่ง ต่อให้คนร้ายอยากกลับตัวก็เป็นไปไม่ได้ กลายเป็นคนใหม่
หนังใช้ห้วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับการที่ฮ่องกงคืนจากอังกฤษสู่จีน ชาวฮ่องกงก็มีคำถามว่า ตัวตนจะเปลี่ยนไปอย่างไร บางทีลัทธิการเมืองคนละขั้วก็อาจเข้าข่ายการขับเคี่ยวระหว่างตำรวจกับเจ้าพ่อ
เราจะแยกอย่างไรว่าโลกของตำรวจสะอาดกว่า หรือโลกของโจรมีแต่ความดำมืด ในเมื่อมันเป็นสีเทาปนกัน
ในท่อนหนึ่งของหนังภาคแรก เจ้าพ่อบอกลูกน้องว่า คนนับพันต้องตายเพื่อซีซาร์จะยิ่งใหญ่
ประวัติศาสตร์บันทึกว่า ท้ายที่สุดซีซาร์ก็ตายด้วยน้ำมือคนของตัวเอง
ขาวกับดำก็เช่นหยินกับหยาง ดูต่างกัน แต่มันต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวเสมอ แยกจากกันไม่ออก
10/10
ทั้งสามภาคฉายทาง Netflix
.............
วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์นี้ และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)0- แชร์
- 262
-
พันโท แฟรงก์ สเลด พบหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ ดอนนา ข้างฟลอร์เต้นรำ ดอนนากำลังรอแฟนของเธอ เขาถามเธอว่า “ดอนนา คุณอยากจะเต้นแทงโก้มั้ย?”
เธอตอบว่า “ไม่ค่ะ ฉันเคยเรียนครั้งหนึ่ง แต่...”
“แต่อะไรครับ?”
“แต่ไมเคิลไม่อยากให้ฉันเรียน”
“ไมเคิล? คนที่คุณกำลังรออยู่หรือ?”
“ค่ะ... ไมเคิลคิดว่าแทงโก้เป็นเรื่องบ้าบอ”
“ผมว่าไมเคิลต่างหากที่บ้าบอ! อย่าไปสนใจเขาเลย”
เธอหัวเราะ เขาเอ่ย “หัวเราะได้เพราะเหลือเกิน”
“ขอบคุณค่ะ แฟรงก์”
“คุณอยากเต้นแทงโก้มั้ย ดอนนา?”
“เดี๋ยวนี้เลยหรือคะ?”
“ผมกำลังเสนอบริการให้คุณนะโดยไม่คิดตังค์ คุณว่าไง?”
“ฉันคิดว่าฉันกลัวนิดหน่อย”
“กลัวอะไร?”
“กลัวเต้นผิด”
“การเต้นแทงโก้ไม่มีอะไรผิดได้หรอก ไม่เหมือนชีวิต นั่นทำให้แทงโก้ยอดเยี่ยมมาก ถ้าคุณทำผิดพลาด ขาขัดกัน ก็แค่แทงโก้ต่อไป ลองดูมั้ย?”
“ตกลงค่ะ ฉันจะลอง”
แล้วทั้งสองก็เต้นแทงโก้
นี่คือภาพยนตร์เรื่อง Scent of a Woman (1992) ตัวละคร ‘แฟรงก์’ เข้าใจการเต้นรำดีทั้งบนฟลอร์เต้นรำและเวทีชีวิต ประสบการณ์และความเข้าใจชีวิตสอนเขาว่า ชีวิตก็เหมือนการเต้นรำ มีก้าวไปหน้าและถอยหลัง มีการหมุน และมีความผิดพลาด มีการสะดุด แต่มันก็มีจังหวะ มีทิศทาง และมีความงาม
และนี่ก็คือชีวิต
แทงโก้ก็คือการเชื่อมประสานจังหวะให้เป็นหนึ่งเดียวกับคนอื่นซึ่งทำไม่ง่าย ยิ่งสามารถเชื่อมได้มากเท่าไร จังหวะลีลายิ่งงดงาม
แทงโก้สอนให้คนที่สะดุดล้มไม่ต้องหยุด แต่ให้พลิกแพลงเต้นต่อไป เพราะความงามของแทงโก้คือการพลิกแพลง
และนี่ก็คือชีวิต
และเช่นเดียวกับทุกศาสตร์ การเต้นรำที่ดีเกิดจากการเรียนรู้ ฝึกฝน เรียนรู้จากความผิดพลาด จนกระทั่งลีลาลีลาศกลายเป็นส่วนหนึ่งของตน ไม่ต้องจดจำท่วงท่าอีกต่อไป
การใช้ชีวิตไม่ใช่ศาสตร์ มันเป็นศิลปะ และศิลปะทุกชนิดในโลกไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว พลิกแพลงได้เสมอ
แน่ละ การเต้นรำย่อมมีกติกา แต่มันเป็นเพียงแนวทาง ส่วนจังหวะ ทิศทาง ล้วนสามารถเป็นอิสระจากกฎระเบียบ เราต้องหายใจออกซิเจนเพื่อมีชีวิต แต่จะหายใจด้วยรูจมูกข้างเดียว หรือสองข้าง หรือเร็ว หรือช้า ก็เป็นการเลือกของแต่ละคน
และที่สำคัญ หัวใจของการเต้นรำและการใช้ชีวิตคือความสนุก การเต้นรำแห่งชีวิตควรเป็นเรื่องสนุก มันสำคัญกว่าความถูกต้องของท่าเต้นและทิศทางเสียอีก สนุกกับชีวิตในปัจจุบันขณะ สนุกในนาทีนี้ เดี๋ยวนี้
ใช่ ชีวิตคือการเต้นรำ โลกทั้งใบคือฟลอร์ เสียงเรียกของหัวใจคือดนตรี สไตล์การใช้ชีวิตคือจังหวะ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นคือคู่เต้นของเรา
ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน นักธุรกิจ พ่อค้า ร่ำรวยหรือยากจน ต่างสามารถดำเนินชีวิตไปตามจังหวะที่งดงามได้ เพราะการเต้นรำแห่งชีวิตไม่ต้องใช้เงินทอง มันเป็นรสนิยมของชีวิต จะเต้นไปช้า ๆ หรือเร็ว ๆ จะเต้นคู่ เต้นหมู่ หรือเต้นคนเดียว มันก็คือการดำเนินไปตามทางของหัวใจ พลิกแพลงไปตามสภาพแวดล้อม
เมื่อชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับท่าเต้น และท่าเต้นกลายเป็นไร้ท่า มันก็เป็นการเต้นรำที่สมบูรณ์แบบแห่งชีวิต
แน่นอน แฟรงก์ สเลด เข้าใจดี...
....................
พันโท แฟรงก์ สเลด เต้นแทงโก้กับหญิงสาวแปลกหน้า สะดุดเป็นช่วง ๆ แล้วก็เต้นต่อไป ไม่นานทั้งสองก็เข้าขากันได้ดี เป็นการเต้นรำที่เป็นธรรมชาติและงดงาม
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนแปลกหน้าสองคนเต้นรำกัน เพราะชีวิตก็คือการเต้นรำกับคนแปลกหน้าอยู่แล้ว
ที่แปลกก็คือ แฟรงก์ สเลด เป็นคนตาบอด
วินทร์ เลียววาริณ
21-5-25....................
จากหนังสือ รอยยิ้มใต้สายฝน
35 บทความกำลังใจ
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว โปรโมชั่นทางแพ็คเกจทาง Shopee
https://shope.ee/AKD4JG1XZy?share_channel_code=60 วันที่ผ่านมา -
1 วันที่ผ่านมา
-
ผมดูหนังชุด Mission: Impossible มาตั้งแต่มันเป็นทีวี ซีรีส์ ในปี 1966 นักแสดงนำคือ ปีเตอร์ เกรฟส์ (เล่นเป็น Jim Phelps) และ เกร็ก มอร์ริส
คนไทยชอบหนังชุดนี้มาก ฉลอง ภักดีวิจิตร จึงบินไปทาบทาม เกร็ก มอร์ริส มาเล่นหนังไทยเรื่อง ทอง ดังระเบิด
ต่อมา ไบรอัน เดอ พัลมา สร้างเป็นหนังใหญ่ มี ทอม ครูซ เล่นเป็น อีธาน ฮันท์ เรื่องนี้คนเขียนหักปากกาให้ตัวละครหลัก Jim Phelps กลายเป็นตัวร้าย และถูกฆ่าตาย ทำให้แฟนหนังด่าอึง
ในเมื่อตัวละครหลักอย่าง Jim Phelps ตาย และในเรื่องเหลือแต่ อีธาน ฮันท์ รอดมาได้ เมื่อสร้างภาคต่อๆ มา ตัวเอกของเรื่องก็กลายเป็น ทอม ครูซ แต่เพียงผู้เดียวด้วยประการฉะนี้
คุณภาพหนังชุดนี้ขึ้นๆ ลงๆ ฉบับภาค 2 โดย จอห์น วู น่าจะอ่อนที่สุด หนังชุดนี้ดีขึ้นมาผิดหูผิดตาเมื่อมาอยู่ในมือของ คริสโตเฟอร์ แม็คควอรี คือตั้งแต่เรื่อง Rogue Nation เป็นต้นมาจนปัจจุบัน
Rogue Nation กับ Fallout ในมือของแม็คควอรีทำเงินถล่มทลาย
ไม่แปลก เพราะแม็คควอรีก็คือมือเขียนบท original ระดับรางวัลตุ๊กตาทอง จาก The Usual Suspects หนังหักมุมจนเอวเคล็ด
หลังจากนั้น Mission: Impossible ก็เริ่มดิ่งลงมา เรื่องต่อมา Dead Reckoning Part One ทำรายได้น่าผิดหวังอย่างยิ่ง อาจเพราะถูกคนดูลงโทษที่บังอาจฆ่าตัวละครหญิงหลักของเรื่อง
ดังนั้นเมื่อมาถึงตอนสอง ผู้สร้างจึงไม่ใช้คำว่า Part Two แต่เปลี่ยนเป็น The Final Reckoning
The Final Reckoning ทุ่มทุนสร้างมหาศาล แต่คนดูส่วนหนึ่งอาจไม่อยากดูเพราะนางเอกของเรื่องเด๊ดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การตลาดที่บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายของชุด อาจทำให้มีคนกลับไปดู
ไหนๆ ก็ดูมาตลอดแล้ว ก็ดูต่ออีกสักเรื่อง
ผมเป็นหนึ่งในนั้น
ข่าวดีคือ - ในคหสต. The Final Reckoning ดีกว่า Dead Reckoning Part One หนังสนุก ตื่นเต้น
หนัง tie loose ends ของตัวละครในเรื่องก่อนๆ ตั้งแต่ภาค 1 การนำตัวละครที่หลุดไปแล้วในภาค ไบรอัน เดอ พัลมา น่าสนใจและถือว่าวางพล็อตดี รวมถึงการโยงเรื่องเข้ากับตัวละคร Jim Phelps ที่ตายไปแล้วในภาค 1
ข่าวไม่ดีคือ มันไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรที่เราไม่เคยดูมาก่อน
หลายฉากของหนังคอหนังคงคุ้นๆ ว่าเหมือน The Hunt for Red October + The Abyss ส่วนพล็อตเอไอครองโลกทำให้นึกถึงเรื่อง The Terminator ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้หนังเรื่องนี้เข้าสู่พื้นที่ของไซไฟ
แม้พล็อตเอไอน่าสนใจ แต่หนังไม่มีเหตุผล โดยเฉพาะฉากในวอร์รูมของประธานาธิบดี ถ้าเทียบกับ Rogue Nation กับ Fallout แล้ว เรื่องนี้ด้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม หากเป็นแฟน Mission: Impossible ก็สมควรไปดู หนังให้ความบันเทิงในระดับหนึ่ง พล็อตเรื่องอาจสดสู้เรื่องพระเล่นพนันหลายร้อยล้านไม่ได้ (เรื่อง Temple: Impossible) แต่ก็ทำให้เราลืมโลกแห่งความจริงไปชั่วคราว
7.7/10
ฉายในโรงภาพยนตร์วินทร์ เลียววาริณ
19-5-25วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)
(มาตรการให้คะแนนของ วินทร์ เลียววาริณ : ความคิดสร้างสรรค์ + สาระ + ศิลปะการเล่าเรื่อง)
2 วันที่ผ่านมา -
กฎ 3 ข้อของปัญหา
1 มีปัญหา แต่แก้ได้ ก็ไม่ต้องกลุ้ม
2 มีปัญหา แก้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องกลุ้ม เพราะแก้ไม่ได้
3 ไม่มีปัญหา ก็ไม่ต้องจินตนาการสร้างปัญหามากลุ้ม
วินทร์ เลียววาริณ
19-5-252 วันที่ผ่านมา -
ชีวิตคือการไต่เขา ภูผาของแต่ละคนสูงไม่เท่ากัน ชันไม่เท่ากัน บ้างเดินสบาย บ้างชันและขรุขระ บ้างมีสายน้ำแห่งอุปสรรคแรงสาดซัดตลอดทาง
เป้าหมายยิ่งอยู่สูง ก็ยิ่งกินแรงปีนป่ายขึ้นไปให้ถึง คนที่ตั้งเป้าหมายไว้สูงต้องไต่นานกว่าและเหนื่อยกว่าคนอื่น
บางคนถอดใจล้มเลิก แต่การหยุดอยู่กับที่ในหลายสถานการณ์ อาจมีอันตรายกว่าเดินหน้า เพราะหยุดคือตาย
และในเมื่อหยุดก็ตาย ทำไมไม่ลองปีนป่ายต่อไป? ลองกัดฟันลุยหน้าต่อไป ก็มีโอกาสเดินหน้าไปจนถึงเบื้องบน
โลกเปลี่ยนไป การแข่งขันหนักหน่วงขึ้น เราอาจพบว่าเราต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เพราะต่อให้อยู่เฉย ๆ กระแสเชี่ยวกรากของความเปลี่ยนแปลงก็จะซัดเราตกลงไป
ในการปีนป่ายภูผาแห่งชีวิต ความสำเร็จถูกกำหนดด้วยความอึด ความอดทน การปรับตัว และหัวใจสู้เต็มร้อย บางครั้งบางช่วงการเดินทางอาจจะช้า ไปได้ทีละนิ้ว ทีละคืบ แต่หากไม่หยุด ก็มีโอกาสไปแตะขอบสวรรค์
ชีวิตคือการเดินทางไกล แต่เนื่องจากเป็นระยะทางไกลและกินเวลานาน จึงเปิดโอกาสให้เราปรับตัว ปรับแต่งเครื่องมือและเพิ่มอุปกรณ์เสริมเพื่อให้เหมาะกับการเดินทาง คนที่ปรับตัวได้ดีคือคนที่มีโอกาสไปถึงจุดหมาย
อุปกรณ์เสริมของเราคือความรู้ ทักษะ การมองการณ์ไกล การคาดคะเน การวิเคราะห์ การเรียนรู้จากความผิดพลาด และไม่ซ้ำรอยมัน
โอกาสของแต่ละคนไม่เท่ากัน เด็กด้อยโอกาสจำนวนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกไม่มีเครื่องมือพื้นฐานที่เรียกว่าการศึกษา ไม่มีเงิน แต่คนไม่น้อยก็มีความอุตสาหะดิ้นรนปีนเขาก้าวพ้นชีวิตยากจน จนถึงจุดหมาย
ที่น่าเศร้าก็คือ คนบางคนเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่เพียบพร้อม มีเครื่องมือที่เรียกว่าการศึกษา มีอุปกรณ์เสริมมากมาย แต่กลับไม่ยอมปีนป่าย จะรอคนแบกขึ้นไปอย่างเดียว
ปราชญ์โบราณว่า อยากได้ผลไม้ ก็ต้องปีนต้นไม้ หรือลงมือเด็ดเอง อยากประสบความสำเร็จ ก็ต้องลงแรง อยากก้าวพ้นความลำบาก ก็ต้องยอมลำบากก่อน
ไม่มีอะไรดี ๆ ที่ได้มาง่าย ๆ อย่าคาดหวังให้ใครแบกเราขึ้นยอดเขา ปีนขึ้นสู่สวรรค์ด้วยตนเองแน่นอนกว่า
วินทร์ เลียววาริณ
20-5-25..................
จาก ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว
31 บทความกำลังใจ ราคาเพียง 190 บาท = บทความละ 6.1 บาท (ไม่คิดค่าส่ง)
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้วโปรโมชั่นชุด R4
https://shope.ee/Vj8bA8a4u?share_channel_code=62 วันที่ผ่านมา