(พิมพ์ครั้งแรก 2549 / 120 หน้า / หนังสือขนาดพิเศษ 7x10 นิ้ว)
Life in a day ชุด 3
รวมเรื่องสั้นผสานภาพถ่าย-กราฟฟิก เสนอภาพชีวิตในมุมเล็กๆ ที่พบเห็นทุกวัน
เรื่องสั้นสั้นสะท้อนปัญหาสังคมและให้กำลังใจในการเดินทางชีวิตของเรา ทำให้มองอีกมุมหนึ่งว่า ชีวิตยังมีด้านที่สวยงาม และคุณค่าของชีวิตอยู่ในมือของเราเอง
โลกที่พวกเราชาวมนุษย์อาศัยอยู่เป็นลูกกลมเบี้ยวๆ อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 149.6 ล้านกิโลเมตร และไม่ชอบอยู่นิ่งๆ หมุนรอบตัวเอง ทุกๆ วัน ลูกกลมหันด้านหนึ่งรับแสงอาทิตย์นานสิบสองชั่วโมงแล้วหันหลังให้ดวงอาทิตย์อีกสิบสองชั่วโมง
เราทุกคนล้วนมีช่วงที่ชีวิต 'หันหลังให้ดวงอาทิตย์' บางครั้งเวลาแห่งกลางคืนอาจยาวกว่าเดิม บางครั้ง 'สุริยคราส' ที่มาเยือนกระทันหัน ก็ทำให้ชีวิตจมในความมืดอย่างคาดไม่ถึง อุปสรรคของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง บางคนอาจหดหู่ หม่นหมอง แต่ก็ตั้งสติและแก้ปัญหาได้ บางคนซึมเศร้าและล้มแบบลุกไม่ขึ้น เพราะคิดว่าดวงอาทิตย์ของตนดับลงแล้วอย่างถาวร
แต่ทุกปัญหาได้สองมุมเสมอ เช่นเดียวกับการมองน้ำครึ่งแก้ว เมื่อเลือกที่จะมองปัญหาเป็นแบบ 'เห็นหมูเท่าช้าง' กลางคืนก็ดูเหมือนจะยาวกว่ากลางวันเสมอ หรือดูยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด
ชีวิตคนก็เหมือนลูกข่าง หมุนติ้วด้วยแรงกระทำของเราเอง จะหมุนเร็วหรือช้าเอียงหรือตรง อยู่ที่มือของเราทั้งสิ้น เมื่อลูกข่างล้ม จะเลือกที่จะสาปแช่งโชคชะตา จะลุกขึ้นมาหมุนมันใหม่ก้าวข้ามกลางคืนสู่กลางวันอีกครั้งหรือไม่ก็อยู่ที่เชือกในมือของเรา
โลกด้านที่หันหลังให้ดวงอาทิตย์ เป็นวรรณกรรมแนวทดลองที่สะท้อนชีวิตของผู้คนรอบตัวเรา ทั้งคนที่หมุนชีวิตไปข้างหน้าด้วยตัวเองกับคนที่ปล่อยชีวิตให้หมุนลอยไปเองตามยถากรรม
นี่เป็นงานแนวทดลองที่ฉีกจากขนบการเขียนเรื่องสั้นทั่วไป เรื่องสั้นส่วนใหญ่ยาวเพียงสองหน้า สื่อสารด้วยลูกเล่นต่างๆ โดยไม่ยึดติดที่ตัวหนังสืออย่างเดียว
"คงไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่านี่คืออีกครั้งที่ วินทร์ เลียววาริณ สร้างนวัตกรรมให้แก่งานวรรณกรรมได้อย่างลงตัวและยอดเยี่ยมที่สุด"
จรูญพร ปรปักษ์ประลัย, สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์
(จาก หนึ่งวันเดียวกัน เรื่องสั้นชุดเดียวกัน)
"ส่งผลสะเทือนได้มากกว่าการเขียนเรื่องสั้นธรรมดาๆ ...
ผมแนะนำให้ซื้อมาอ่าน ศึกษาวิธีการ และจะได้คำตอบเองว่า นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของนวัตกรรมการอ่านที่ควรได้รับการส่งเสริมและผมก็อยากให้ครูภาษาไทยใช้หนังสือเล่มนี้ประกอบการเรียนการสอน โดยให้นักเรียนใช้เทคนิคเดียวกัน ทำงานเรื่องสั้นออกมาด้วยตนเอง มันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาแนวคิดของผู้เรียนอีกด้วย"
ชัยสิริ สมุทวณิช, ผู้จัดการ
(จาก หนึ่งวันเดียวกัน เรื่องสั้นชุดเดียวกัน)