• วินทร์ เลียววาริณ
    9 เดือนที่ผ่านมา

    ขยายความเรื่องตรรกะวิบัติ (fallacy) อีกนิด ในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีคิดเรื่องป่าทับลาน

    บทความนี้ไม่แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ เพราะแสดงไปมากพอแล้ว แต่จะพูดเรื่องวิธีคิด

    หลายวันนี้เราจะได้ยินบทโต้ตอบอย่างนี้เสมอ

    นาย ก. : "เราควรปิดป่าทับลาน"

    นาย ข. : "โห! นี่คุณใจดำ ไม่สนใจชีวิตชาวบ้านเลยหรือ"

    ตรงนี้ต้องระวัง เพราะมันแยกออกยาก เนื่องจากสามัญสำนึกบอกเราว่า การปิดป่ากับทุกข์สุขชาวบ้านเกี่ยวข้องกันมาก แต่มองให้ดีจะพบว่า การปิดป่ากับทุกข์สุขชาวบ้านเป็นคนละเรื่องกัน

    ความทุกข์ชาวบ้านไม่ได้หายสิ้นหลังเฉือนป่า ในระยะยาวอาจทุกข์กว่าเดิมด้วยซ้ำ และคราวนี้ไม่ได้ทุกข์แค่ชาวบ้าน แต่ลามไปทั่วประเทศ

    นี่เรียกว่า Straw Man Fallacy (ตรรกะหุ่นไล่กา) บิดความเห็นหนึ่งให้ตรงกับความเห็นของเราเอง โยงเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน

    ถ้าฟังด้วยสามัญสำนึก ก็จะเห็นด้วยได้ง่าย

    แต่สามัญสำนึกเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ

    ..................

    แล้วทำไมเราต้องรู้เรื่องตรรกะวิบัติต่างๆ?

    คำตอบคือทำให้เราทันคน ทันเกม และสามารถตัดสินใจได้จากข้อมูลจริงๆ

    นักการเมืองนิยมใช้ตรรกะวิบัติแบบนี้ เพราะจับได้ยาก มันดูมีเหตุผล แต่มองให้ดี ไม่เกี่ยวกัน

    "เรากู้เงินห้าแสนล้านมาแจกประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ"

    คนจำนวนมากฟังแค่ 'แจกเงิน' กับ 'กระตุ้นเศรษฐกิจ' ซึ่งสำหรับพวกเขา ดีทั้งคู่

    แต่มันยังมีคำว่า 'กู้เงิน' ที่อาจหักล้าง 'เรื่องดีๆ' ที่คิดว่าจะได้หมดสิ้น

    วิธีคิดเป็นเรื่องสำคัญมากในชีวิต แต่ความสามารถนี้ไม่ได้มาจากสามัญสำนึก มันมาจากการฝึกคิด

    วินทร์ เลียววาริณ
    13-7-24

    0
    • 1 แชร์
    • 71

บทความล่าสุด