-
วินทร์ เลียววาริณ3 เดือนที่ผ่านมา
(ปีนี้ครบ 30 ปีภาพยนตร์เรื่อง Seven ผู้สร้างนำกลับมาฉายแบบ Re-release ท่านที่พลาดเรื่องนี้มาสามสิบปี ก็ดูได้ในโรงหนังตอนนี้นะครับ ส่วนท่านที่จะดูซ้ำเป็นรอบที่ 7 ก็เชิญตามอัธยาศัย งานของ เดวิด ฟินเชอร์ เรื่องนี้ กลายเป็นคลาสสิกไปแล้ว
นี่คือรีวิวเก่า นำมาลงซ้ำ)
.........................
ฆาตกรฆ่าต่อเนื่องจำเป็นต้องเป็นคนบ้าหรือไม่? ศาลเตี้ยเกี่ยวกับการเทศน์ธรรมได้หรือไม่? อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างความดีกับความเลว? ในเมืองโสโครกที่เต็มไปด้วยคนบาป เราจำเป็นต้องอดทนกับคนบาปหรือไม่? โลกมีคนบริสุทธิ์จริงหรือ? ทำไมเราเรียกเหยื่อที่ถูกฆ่าว่า 'ผู้บริสุทธิ์' แม้ว่าเขาไม่ใช่คนดี?
Seven (บางทีสะกด Se7en) เป็นหนังอาชญากรรม แต่เข้าไปในพื้นที่ของปรัชญา และกระตุกต่อมคิด
ชื่อเรื่อง Seven หมายถึง seven deadly sins บาปทั้งเจ็ดในทางคริสต์ (แต่ไม่ได้จารึกในไบเบิล) ประกอบด้วย pride (ยโส), greed (โลภ), wrath (โกรธ), envy (ริษยา), lust (ใคร่), gluttony (ตะกละ) และ sloth (เกียจคร้าน)
คอนเส็ปต์หลักของเรื่องคือใช้ seven deadly sins เป็นแกนเดินเรื่อง บวกกับ 'คำพิพากษา' ที่ตัดสินโดยตัวละคร จอห์น โด
ลงโทษคนบาปด้วยการทำบาป
ตามปกติ ชื่อ John Doe เป็นนามที่ตั้งให้กับคนที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร ถ้าเป็นผู้หญิงเรียก Jane Doe ดังนั้นชื่อตัวละครนี้จึงเป็นสัญลักษณ์กลางๆ มันอาจเป็นใครก็ได้ที่เบื่อหน่ายโลกของคนบาป อาจเป็นคุณก็ได้
ตัวละคร จอห์น โด บอกว่า เรามองเห็นบาปทั้งเจ็ดในทุกมุมถนน แต่เราต้องอดทนกับมัน วันแล้ววันเล่า เราสามารถสร้าง 'Judgment Day' ด้วยมือเราเอง
เช่นเดียวกับชื่อกลางๆ John Doe ฉากของเรื่องก็เป็นกลางเช่นกัน เราไม่รู้ว่ามันเป็นเมืองอะไร อยู่ที่ไหนในโลก แต่เรารู้ว่ามันเป็นเมืองหมองหม่นอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือฉากเมืองทั้งเรื่องฝนตก หม่นมัว มันเป็นเมืองสกปรก อัปลักษณ์ เต็มไปด้วยอาชญากรรม
มอร์แกน ฟรีแมน รับบทนักสืบอาวุโส วิลเลียม ซอมเมอร์เซ็ท แบรด พิตต์ รับบทนักสืบ เดวิด มิลล์ส และ เควิน สเปซีย์ รับบท John Doe ทั้งสามเป็นแกนหลักในการเล่าเรื่อง และทุกคนก็แสดงได้ดี
บทกระชับมาก สั้น ห้วน แต่เข้าใจ และชกเข้าเป้าอย่างรวดเร็ว เขียนบทโดย Andrew Kevin Walker (คนร่วมเขียนบท The Game และ Fight Club แต่ไม่ได้เครดิต) ได้รับเสนอชิง BAFTA Best Original Screenplay
บทพูดฉลาด และบางทีก็ขำในตอนที่ไม่ควรขำ เช่น ตอนที่มิลล์สด่า จอห์น โด
"You're no messiah. You're a movie of the week. You're a fucking t-shirt, at best."
ด้วยบทที่ดี ฉลาด ฉากดี โครงเรื่องดี ลำดับจังหวะเรื่องดี โทนเรื่องดี กระชับ ลงตัวแบบ milimalism เรื่องจึงลงตัวทุกอย่าง แม้ว่าจะมีฉากรุนแรง แต่ก็แสดงเท่าที่จำเป็น
นี่เป็นงานชิ้นที่สองของ เดวิด ฟินเชอร์ ถัดจาก Alien 3 พิสูจน์ว่าเขาคุมงานอยู่หมัด
และมันเป็นงานในแนวทางของเขา เห็นได้ว่าเขาทำหนังแนวนี้อีกหลายเรื่อง เช่น Fight Club, Zodiac, The Girl with the Dragon Tattoo, Gone Girl, Mindhunterตัวละครซอมเมอร์เซ็ทยกคำพูดของเฮมิงเวย์มาพูดในตอนท้ายว่า "'The world is a fine place and worth fighting for.' I agree with the second part."
โลกของ Seven ก็คือโลกของเรา เราจมอยู่ในเมืองที่เราเกลียด เราไม่ชอบเมืองที่เราอยู่ เราไม่ชอบระบบ แต่เรากลับอดทนอยู่กับมัน
เพราะบางทีโลกไม่เคยมีเมืองที่มีแสงสว่าง มีแต่เมืองที่หมองหม่น มืดเทา และฝนตกตลอดเวลา
10/10
ฉายในโรงภาพยนตร์
วินทร์ เลียววาริณ
มกราคม 20251- แชร์
- 61
-
บทความใหม่วันเสาร์ คลิกลิงก์อ่านได้เลย https://www.blockdit.com/posts/67fbd3dae2c7f2cd8aec121d
0 วันที่ผ่านมา -
โลกทุกวันนี้หาผู้นำดีๆ ยากมาก ทำให้นึกถึงนิทานเรื่องหนึ่ง ไม่รู้ใครแต่ง หรือมาจากประเทศไหน
เรื่องมีอยู่ว่า...
หัวหน้าเผ่าคนหนึ่งรู้ว่าตนเองแก่แล้ว หมดกำลังวังชาลงไปเรื่อย ๆ เขาต้องการหาคนมาสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าต่อจากเขา
เขาจึงคัดลูกน้องที่มีแววห้าคน มอบเมล็ดพืชให้คนละเมล็ด บอกว่า “นี่เป็นพันธุ์พืชที่ปลูกยากมาก จงเอาเมล็ดพันธุ์นี้ไปเพาะ ให้เวลาหนึ่งปี ใครปลูกได้ต้นใหญ่ที่สุดแสดงว่ามีความสามารถเป็นผู้นำเผ่าได้ และจะได้เป็นหัวหน้าต่อจากเรา”
ผ่านไปหนึ่งปี ลูกน้องแต่ละคนก็นำพืชที่ปลูกในกระถางมาให้หัวหน้าดู แต่ละต้นใหญ่ สมบูรณ์
หัวหน้าชราตรวจดูต้นไม้เหล่านั้น ในที่สุดก็หยุดที่กระถางใบหนึ่ง มันเป็นกระถางเปล่า มีแต่ดิน ไม่มีต้นไม้ หัวหน้าถามว่า “นี่เป็นของใคร?”
ชายหนุ่มคนหนึ่งตอบว่า “เป็นของข้าฯ”
“ทำไมจึงปลูกไม่ขึ้น? เจ้าไม่ได้รดน้ำพรวนดินรึ?”
“ข้าฯรดน้ำพรวนดิน ให้มันรับแสงแดดทุกวัน แต่มันก็ไม่ยอมแตกหน่อผลิใบ ข้าฯจนปัญญา ข้าฯไม่มีความสามารถปลูกต้นไม้ชนิดนี้จริง ๆ”
หัวหน้าชราบอกชายหนุ่มคนนั้นว่า “เรามิได้ต้องการคนที่ปลูกต้นไม้เก่งมาเป็นหัวหน้าเผ่า เราต้องการคนซื่อสัตย์ต่างหาก เมล็ดพืชที่เราให้ทุกคนไปนั้นเป็นเมล็ดตาย ปลูกอย่างไรก็ไม่มีทางขึ้น เจ้าเป็นคนซื่อสัตย์ จึงสมควรเป็นหัวหน้าคนใหม่”
วินทร์ เลียววาริณ
2-5-25......................
จากหนังสือเสริมกำลังใจ ยาเม็ดสีแดง
34 บทความ 190 บาท บทความละ 5.5 บาท
https://www.winbookclub.com/store/detail/116/ยาเม็ดสีแดง
S6 ชุดกำลังใจครึ่งโหล 6 เล่ม 800.- (ลดจาก 1,255.-)
https://www.winbookclub.com/store/detail/217/S6%20ชุดกำลังใจครึ่งโหล1 วันที่ผ่านมา -
ไม่กี่วันก่อน มีข่าวไฟดับที่สเปนและปอร์ตุเกส เป็นการดับขนานใหญ่ ทำให้นึกได้ว่าเมืองไทยก็เคยมีไฟดับขนานใหญ่ อย่างน้อยสองครั้ง
ครั้งแรกคือวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2521 ไฟฟ้าดับทั่วประเทศไทย เกิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ขัดข้อง ส่งให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอื่นๆ ทั่วประเทศที่มีระบบการทำงานเชื่อมกันขัดข้องไปด้วย
วันนั้นไฟดับไปเกือบสิบชั่วโมง
อีกครั้งคือเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 เกิดไฟดับไปทั่วภาคใต้ ตั้งแต่ชุมพรลงไป ก็เกิดข่าวลือว่าสงสัยจะเกิดรัฐประหาร!
ตอนผมเป็นเด็ก หาดใหญ่ไฟดับเป็นประจำ จนเรามีไฟฉาย เทียนไข ตะเกียงน้ำมัน และตะเกียงเจ้าพายุพร้อมเสมอ
ตอนที่ไฟดับก็มักมีคนเล่าเรื่องผี สยองขวัญมาก
มาถึงยุคนี้ คนส่วนมากไม่ได้เตรียมพร้อมหากเกิดไฟดับ ไปต่อไม่ถูก
โลกมาถึงยุคที่เราใช้พลังงานกันมากเกินตัว และคิดว่าสาธารณูปโภคต้องพร้อมสำหรับเรา แต่เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นได้เสมอ
นี่วันสองวันก่อน สำนักมูดี้ส์ก็ทำให้เราอารมณ์มูดดี้ไปด้วย เพราะปรับลดค่าอะไรสักอย่างที่บอกว่าสภาพเศรษฐกิจของไทยไม่สดใสนัก ตัวเลขนักท่องเที่ยวก็ลด
ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท อย่าใช้จ่ายเกินตัว
ผงซักฟอกก็ประหยัดหน่อย อย่าใช้มาก ขยี้แรงๆ ก็ช่วยได้
วินทร์ เลียววาริณ
2 พฤษภาคม 25681 วันที่ผ่านมา -
เมื่อเดือนก่อนผมเกลานิยายกำลังภายใน สี่ภพ เสร็จแล้ว ตอนนี้อยู่ในมือบรรณาธิการ
ระหว่างที่รอว่าจะมีการรื้อมากน้อยแค่ไหน ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมก็นั่งลูบคมดินสอ
เขียนเรื่องสั้นหักมุมจบ (twist-ending) ทุกวัน
เรื่องสั้นในตระกูลเดียวกับเรื่องชุด สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง ร้อยคม แมงโกง
การเขียนเรื่องสั้นตระกูลนี้เป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง เหมือนเล่นเกม นอกจากเล่นกับตัวละครแล้ว ยังต้องเล่นกับคนอ่านว่า ทำยังไงไม่ให้เดาออก
ผมสนุกกับงานตระกูลนี้มาก พล็อตไหลมาเรื่อยๆ
ในงานสามชุดที่ตีพิมพ์ไปแล้ว (ราว 60 เรื่อง) ประกอบด้วยเรื่องสั้นหลายเกรด บางเรื่องก็ออกมาดี เกรด A บางเรื่องก็ธรรมดา ได้เกรด B หรือ C เป็นความปกติของการเขียนนิยาย
ในบรรดาหลายสิบเรื่องที่เขียนมา เรื่องสั้นที่ตัวเองรู้สึกพอใจ ก็เช่น มนุษยธรรม, ดวง, ความมืด มือปืน คำสั่งฆ่า, จดหมายรัก, ใต้ซากตึก, ไม้ไอติม, มือระเบิด, ปล้นห้านาที เป็นต้น
เรื่องสั้นชุดใหม่ที่กำลังเขียนที่พอใจก็มี 3-4 เรื่อง
เรื่องล่าสุดที่เพิ่งเขียนเสร็จเมื่อวานนี้เดิมไปต่อไม่ได้ แต่พอเปลี่ยนตระกูลจากหักมุมจบเป็นเรื่องผี กลับลงตัว
เออ! อย่างนี้ก็มีด้วย!
การเขียนนิยายตอนนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว เขียนไปเรื่อยๆ พลิกแพลงได้ตลอดเวลา
ผมคงสนุกกับงานมาก จนในวันกรรมกรยังทำงาน
วินทร์ เลียววาริณ
1-5-252 วันที่ผ่านมา -
ราวสี่สิบปีมาแล้ว เพื่อนผมคนหนึ่งสวมเสื้อยืดแบรนด์เนม มีตราอะไรบางอย่างที่อกเสื้อ ถามเขาว่าตัวละเท่าไร เขาบอกว่าไม่กี่สิบบาท เพราะเป็นสินค้าริมถนนของปลอม ตอนนั้นเขามีธุรกิจของตัวเองแล้ว มีปัญญาซื้อเสื้อแบรนด์เนมของจริงแน่นอน แต่เขาซื้อสินค้าจากริมทาง ซึ่งทั้งหมดติดยี่ห้อดังทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ถึงใส่ของปลอม ก็ดูเหมือนเขาใส่ของจริง
มันขึ้นอยู่กับคนสวม คนบางคนใช้สินค้าแบรนด์เนมของจริง คนอื่นก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นของจริง
ปัจจุบันเพื่อนคนนี้รวยมาก แต่ยังขับรถมือสอง สวมเสื้อผ้าธรรมดา ไม่มีอะไรในตัวที่เป็นแบรนด์เนม
ผมก็มีนิสัยคล้ายเพื่อนคนนี้ (แต่ความรวยเทียบไม่ได้!) จึงคบกันได้ ในชีวิตไม่เคยซื้อของแบรนด์เนมเพราะยี่ห้อเลย แต่ก็ไม่ได้ต่อต้าน ถ้าซื้อก็เพราะชอบดีไซน์จริงๆ บางครั้งยังแกะชื่อยี่ห้อออก
ตอนนี้ในวัยชรา ผมรู้สึกเฉยๆ ในเรื่องนี้แล้ว ใครมีเงิน อยากทำอะไรก็ทำ ถ้าใส่แบรนด์เนมแล้วสบายใจ ก็เอาเลย
แต่ในฐานะคนทำงานออกแบบ ผมไม่รู้สึกว่ากระเป๋าใบละหลายหมื่นหรือแสนจำนวนมากออกแบบดี ผมเห็นดีไซน์นาฬิกาเรือนละ 20-30 ล้านบางเรือนแล้วมองไม่ออกจริงๆ ว่ามันดีไซน์ดี ในความเห็นและรสนิยมส่วนตัว ถ้าเป็นงานดีไซน์แบบ minimalism ของ ดีเทอร์ รัมส์ จ่ายเป็นแสนยังว่าสมราคา
ช่วงสิบวันที่ผ่านมา มีข่าวชาวโลกพากันตกใจที่รู้ว่าสินค้าแบรนด์เนมระดับโลกผลิตในเมืองจีน เราคนไทยคงเฉยๆ เพราะเรารู้มานานแล้วว่าจีนผลิตทุกอย่าง
วัตถุนิยมกลืนกินโลกมานานแล้ว แล้วค่อยๆ คืบคลานกลืนกินวิญญาณของคน มันไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แต่น่าเสียดายที่คนจำนวนมากไม่รู้ว่า รสนิยมดีไม่จำเป็นต้องแพง แต่อีโก้เป็นของแพง
สถานะในสังคมเป็นของชั่วคราว ท้ายที่สุดมันก็ back to basic เราใช้วัตถุที่หน้าที่ใช้สอย เก้าอี้ตัวละเก้าหมื่นหรือตัวละเก้าร้อย ก็นั่งได้เหมือนกัน ความแตกต่างอยู่ที่ความเหมาะสมและกาลเทศะ
อภิมหาเศรษฐีหลายคนในโลกโดยสารเครื่องบินชั้นประหยัด ใช้นาฬิการาคาถูก ใช้รถยนต์ธรรมดา อยู่บ้านเก่า เพราะพวกเขาไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกแล้ว
ค่าของคนไม่ได้พิสูจน์ด้วยยี่ห้อสินค้า มันพิสูจน์ด้วยสิ่งที่ทำ
ถ้าเรายังต้องพึ่งยี่ห้อรถยนต์ ยี่ห้อนาฬิกา ยี่ห้อเสื้อผ้าเพื่อแสดงว่าเราเป็น somebody ก็อาจสะท้อนว่าเรายังเป็น nobody
วินทร์ เลียววาริณ
1-5-252 วันที่ผ่านมา