-
วินทร์ เลียววาริณ0 วันที่ผ่านมา
เล่าเรื่องกบฏพระยาทรงสุรเดชต่อ
ผลของการกวาดล้างกลุ่มพระยาทรงสุรเดช คน ๑๘ คนถูกประหารด้วยคำพิพากษาจากศาลพิเศษ
คือศาลที่ไม่ต้องเสียเวลาแก้ต่าง
ศาลพิเศษมีคำพิพากษา จำคุกตลอดชีวิต ๒๒ คน พ้นข้อกล่าวหา ๗ คน และประหารชีวิต ๒๑ คน แต่ลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ๓ คน
เป็นการยิงเป้าจำนวนคนมากที่สุดตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ ผู้ถูกลงทัณฑ์หลายคนร่วมก่อการในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ด้วย
รุ่งสางวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ปี ๒๔๘๒ เป็นคืนข้างแรมอ่อน ๆ พระจันทร์เกือบเต็มดวง อากาศเย็นจัด น้ำค้างลงเผาะ ๆ
ที่ประตูชั้นในใต้หอรักษาการณ์คุกบางขวาง เจ้าหน้าที่ ๓๐-๔๐ คนกำลังออกันอยู่ บุคคลเหล่านี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เรือนจำ หมอ ผู้คุม คณะกรรมการจังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่สันติบาล และผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม ทั้งหมดเป็นประจักษ์พยานการฆ่าคน
การยิงเป้านักโทษการเมืองสิบแปดคน
นักโทษสิบแปดคนนี้จะถูกทยอยยิงเป้านับจากเช้ามืดวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๒
การยิงเป้านักโทษการเมืองทั้งสิบแปดคงดำรงเป็นความลับไปตลอดกาล หากมิใช่เพราะมีบันทึกที่ละเอียดมากฉบับหนึ่ง ทำให้เรารู้เห็นเหตุการณ์ชั่วโมงสุดท้ายของนักโทษทั้งสิบแปดคน
บันทึกการยิงเป้านักโทษการเมืองสิบแปดคนที่ชัดเจนและละเอียดที่สุดคือเรื่อง ข้าพเจ้าเห็นการยิงเป้า โดย จ.ส. (ตีพิมพ์ในหนังสือ เบื้องแรกประชาธิปตัย)
จ.ส. เล่าว่า ในเช้ามืดวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๒ ผู้คุมหลายคนค่อย ๆ ย่องเข้าไปในที่คุมขัง ลากตัวนักโทษชุดแรกสี่คนออกมาขณะกำลังหลับ ขณะปลุกปล้ำฉุดกระชากลากตัวไป ปรากฏเสียงตึงตังดังลั่น นักโทษคนอื่น ๆ เห็นและต่อว่าทางเรือนจำว่า ทำไมทำแบบนี้
นักโทษทั้งสี่ได้แก่ พ.ท. พระสุวรรณชิต (จร กังสวร) ร.ท. เผ่าพงษ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายดาบผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา บุตรชายทั้งสองของพระยาเทพหัสดิน และ ร.ต. บุญมาก ฤทธิสิงห นายทหารประจำการ บางคนนุ่งผ้าขาวม้า บางคนสวมเพียงกางเกงใน
อากาศเย็นเฉียบ โซ่เหล็กและตรวนรัดข้อเท้า นักโทษหนาวจนสั่นสะท้านไปทั้งตัว ทั้งหมดถูกพาไปฟังพระเทศน์เป็นครั้งสุดท้าย นักโทษประหารนั่งในโถงที่มีพระจากวัดบางแพรกใต้รออยู่ ด้านหนึ่งวางพระพุทธรูปหน้าตักแปดนิ้ว หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก และธูปเทียน ทุกครั้งที่ลมเย็นโชยเปลวเทียนก็สั่นไหวไปมา
พระให้ศีลจบก็แสดงธรรม นักโทษพนมมือฟังไปหนาวสั่นไป คำสอนของพระคืออย่าได้จองเวรต่อกัน ทำใจให้สงบ เพื่อให้วิญญาณไปสู่สุคติ
หลังจากนั้นนักโทษทั้งสี่ก็ถูกพาไปที่หลักประหาร
หนึ่งในนักโทษประหารชุดแรกคือพระสุวรรณชิต ถูกตั้งข้อหาว่าจ้างนายลีไปยิงหลวงพิบูลสงคราม เขาให้การว่าไม่เคยรู้จักนายลีมาก่อน เส้นทางของคนทั้งสองไม่พาดผ่านกัน คนหนึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ คนหนึ่งเป็นผู้รับใช้
ส่วน ร.ท. เผ่าพงษ์ กับนายดาบผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยาเป็นบุตรชายของพระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาเทพหัสดินเป็นทหารเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย
ความผันผวนทางการเมือง นอกจากพระยาเทพหัสดินจะถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏแล้ว บุตรชายทั้งสองก็ถูกกวาดจับมาด้วย
เมื่อถูกจับกุม พระยาเทพหัสดินนึกในใจว่า ลูกชายทั้งสองก่อเรื่องให้ท่านถูกจับเสียแล้ว เมื่อพบกับลูกชายทั้งสอง ลูกกลับบอกว่า”นี่พ่อไปทำอะไร ทำให้ผมพลอยเดือดร้อนไปด้วย”
พระสุวรรณชิตขออนุญาตเขียนจดหมายสั่งเสียถึงลูก ให้ลูก ๆ รักกัน เขียนเสร็จแล้วก็มอบจดหมายให้เจ้าหน้าที่ไปส่งต่อให้ครอบครัว
เมื่อรู้ว่าเวลาจากกันมาถึงแล้ว สองพี่น้องเทพหัสดิน ณ อยุธยา โผเข้ากอดกันแล้วร้องไห้ ทุกคนในที่นั้นเบือนหน้าหนีด้วยความสะเทือนใจ
เวลา ๐๕.๓๐ น. เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานพาพระสุวรรณชิตกับ ร.ท. เผ่าพงษ์ออกไปเป็นคู่แรก ผู้คุมถือโคมนำทาง นักโทษทั้งสองหิ้วโซ่ตรวนเดินไปช้า ๆ บรรยากาศเงียบสงัด มีแต่เสียงโซ่กระทบกันเป็นจังหวะ เจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์ทั้งหลายก็เดินตามไป
เมื่อถึงแดนประหาร ข้าหลวงอ่านคำพิพากษาของศาลพิเศษ นักโทษประหารฟังเงียบ ๆ นัยน์ตาเด็ดเดี่ยวไม่มีความกลัวตาย แต่ตัวสั่นสะท้านเพราะความหนาว
ข้าหลวงถามว่า “มีอะไรจะสั่งเสียอีกไหม?”
ทั้งสองปฏิเสธ
ข้าหลวงบอกว่า “จงอย่าผูกพยาบาทจองเวรเลยนะ เพราะผมทำตามหน้าที่”
..........................
เรือนประหารเป็นโรงไม้ ขึงผ้าสีน้ำเงินปิดสี่ด้าน ด้านหลังวางกระสอบทรายตั้งซ้อนกันสูงประมาณ ๑.๘๐ เมตร สำหรับกันกระสุนปืน ภายในวางแท่นตั้งปืนกลเบิร์กมันน์ห่างจากเป้าหกเมตร ตัวเป้าเป็นรูปวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณสี่นิ้ว วางตรงระดับหัวใจของนักโทษประหาร โดยปรับระดับความสูงของเป้าตามความสูงของนักโทษก่อนพาเข้ามาที่แดนประหาร ตรงกลางเป็นเสาไม้กางเขนสูงราวคน พื้นขุดเป็นหลุมลึกถมเต็มด้วยแกลบเพื่อดูดซับโลหิต ด้านหลังไปอีกวางหีบศพสำหรับบรรจุศพนักโทษประหาร
ผู้คุมนำผ้ามาปิดตาพระสุวรรณชิต พระสุวรรณชิตบอกว่า “ไม่ต้องผูกได้หรือไม่ เป็นทหาร ไม่กลัวดอก”
เจ้าหน้าที่ว่า “ผมทำตามระเบียบครับ”
นักโทษจึงยอม ตามมาด้วยการปิดตา ร.ท. เผ่าพงษ์ ทั้งสองถูกผูกกับเสา หันหน้าเข้าหาหลัก มัดสายสิญจน์บนลำตัวติดกับหลัก ป้องกันไม่ให้ร่างขยับเขยื้อน หากถูกยิงแล้วยังไม่ตายทันที เพชฌฆาตก็ยิงซ้ำได้ง่าย
เจ้าหน้าที่ใช้สายสิญจน์มัดแขนติดกับไม้ขวาง ให้มือทั้งสองอยู่ในท่าพนมเหนือศีรษะ วางกรวยใบตองที่มีดอกไม้ธูปเทียนบนมือ เป็นการขอขมาลาตาย
นิ้วมือเพชฌฆาตสอดที่ไกปืน
๐๕.๔๕ น. เสียงปืนลั่น
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่แก้มัดเชือก ยกศพไปวางไว้ที่โรงตอนใน เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งบันทึกจุดที่กระสุนเข้าร่าง อีกคนหนึ่งพิมพ์ลายนิ้วมือทั้งสิบ ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน
หลังจากนั้นก็ถึงคราวนักโทษสองคนที่เหลือของวัน
ก่อนจากโลกไป บุตรชายพระยาเทพหัสดินฝากฝังผู้คุมให้ช่วยดูแลพระยาเทพหัสดินผู้พ่อ เนื่องจากท่านแก่แล้ว และฝากกราบลาพ่อด้วย
เสียงปืนคำรามอีกครั้งอย่างไร้ความปรานี
พระยาเทพหัสดินเป็นคนเดียวที่ยังไม่รู้ว่าลูกชายทั้งสองตายไปแล้ว ไม่มีใครกล้านำข่าวไปบอกท่าน ในตอนเช้าอดีตแม่ทัพใหญ่ชงกาแฟให้ผู้คุมช่วยนำไปส่งให้ลูกชายเช่นทุกวัน แต่ผู้คุมไม่นำกาแฟไปด้วย
ครั้นตอนสายพัศดี จำรัส เพชรคล้าย มาตรวจการณ์ตามปกติ พระยาเทพหัสดินก็ขอให้เขาช่วยนำกาแฟที่เย็นชืดแล้วไปส่งให้ลูกทั้งสอง จำรัสตอบสั้น ๆ ว่า “เขาเอาไปแล้ว”
พระยาเทพหัสดินนึกถึงเสียงปืนที่ได้ยินตอนเช้ามืด ครางเบา ๆ “อ้อ! ได้ยินเสียงปืนตอนเช้ามืด เขาไปเป็นสุขแล้ว”
(ยังมีต่อ)
.........................
จากหนังสือชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม / วินทร์ เลียววาริณ
ตอนนี้มีโปรโมชั่นสุดคุ้ม สั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6
1- แชร์
- 12
Chartrakสมัยนั้นดุกันจังนะครับ คดีการเมืองต้องจัดการกันถึงตายเลยทีเดียว
-
เล่าเรื่องการยิงเป้ากบฏพระยาทรงสุรเดชต่อ
วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๒ นักโทษประหารได้แก่ พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพล พ.อ. หลวงมหิทธิโยธี ร.อ. ขุนคลี่พลพฤณฑ์ และ จ.ส.ต. แม้น เลิศราวี
วันนี้นักโทษชุดที่สองทั้งสี่คนเตรียมพร้อมมาก่อน เพราะทุกคนรู้เรื่องการฉุดลากนักโทษไปประหารเมื่อวานนี้ นักโทษประหาร ร.ท. ณ เณร ตาละลักษมณ์ บอกผู้คุมว่า “พวกเราเป็นทหาร ยินดีให้คุมตัวไปฆ่าได้ อย่าทำแบบนี้”
ผู้คุมไปแจ้งต่อผู้บัญชาการเรือนจำ วันต่อมาจึงไม่มีการฉุดลากตัวนักโทษไปอีก
พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพล (แสง พันธุประภาส) เป็นอดีตรัฐมนตรีในปี ๒๔๗๗ และ ส.ส. ประเภทสอง อดีตผู้บัญชาการทหารบกมณฑลที่ ๕ จังหวัดราชบุรี
พ.อ. หลวงมหิทธิโยธี (สุ้ย ยุกตวิสาร) เป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกราชบุรี
ร.อ. ขุนคลี่พลพฤณฑ์ (คลี่ สุนทรารชุน) เป็นครูประจำโรงเรียนรบ และลูกศิษย์คนสนิทของพระยาทรงสุรเดช
ทั้งหมดมีสายสัมพันธ์กับพระยาทรงสุรเดช
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ พระยาทรงสุรเดชเสนอต่อกระทรวงกลาโหมขอตั้งโรงเรียนรบขึ้นที่เชียงใหม่ สภากลาโหมอนุมัติ จึงสร้างโรงเรียนที่นั่น พานายทหารจำนวน ๒๙ นายไปเรียน ตลอดเวลานั้นหลวงพิบูลสงครามที่ระแวง พระยาทรงสุรเดช ก็ส่งคนติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา
ไม่นานหลังจากนั้น พระยาทรงสุรเดชก็ถูกสั่งปลดออกจากราชการ และถูกบังคับให้ลี้ภัยในอินโดจีน
สำหรับพระสิทธิเรืองเดชพล นายทหารผู้สนิทสนมกับพระยาทรงสุรเดช ไปหาพระยาทรงสุรเดชเพื่อเสนอให้ก่อรัฐประหาร ให้เหตุผลว่าทหารหลายคน “ไม่สบายใจที่ทหารแตกกัน ต่างหนุนคนละฝ่าย”
พระสิทธิเรืองเดชพลบอกว่า “ทหารส่วนใหญ่ยังเคารพนับถือเจ้าคุณ อยากให้เจ้าคุณคืนสู่อำนาจ เป็นนายกรัฐมนตรี”
“ซึ่งแปลว่าต้องทำรัฐประหาร”
เวลานั้นพระสิทธิเรืองเดชพล มีตำแหน่งผู้บังคับการทหารราบ คุมกำลังมากพอก่อรัฐประหารได้
แต่พระยาทรงสุรเดชปฏิเสธ
พระสิทธิเรืองเดชพลรู้ว่า เหตุที่พระยาทรงสุรเดชไม่เปิดไฟเขียวให้ ก็เพราะท่านไม่ต้องการใช้กำลังยึดอำนาจ แต่อยากใช้กระบวนการทางรัฐสภา
ในเวลานั้นรัฐสภากำลังคัดสรรคนเป็นนายกรัฐมนตรีถัดจากพระยาพหลพลพยุหเสนา มีคู่ท้าชิงสองคนคือ พระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงคราม ตอนนั้นพระสิทธิเรืองเดชพลเป็นสมาชิกสภาประเภทที่ ๒ ชวนให้สมาชิกอื่น ๆ สนับสนุนพระยาทรงสุรเดชเป็นนายกฯ ในการลงคะแนนลับ คะแนนของพระยาทรงสุรเดชนำหน้าหลวงพิบูลฯ ๓๗ ต่อ ๕
เมื่อทราบผลการนับคะแนน หลวงพิบูลฯชี้แจงว่า การลงคะแนนนี้ไม่ใช่การเลือกจริง เป็นการทดลองฟังความเห็นของสภาเท่านั้น เพราะมีคนกำลังเสนอให้เชิญพระยาพหลฯกลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง เมื่อพระยาทรงสุรเดชทราบเรื่อง ก็ไม่พอใจ
หลังจากนั้นพระสิทธิเรืองเดชพลก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ หลวงพิบูลสงครามเชิญเขาไปร่วมงานด้วย เต่เขาปฏิเสธ ทำให้หลวงพิบูลสงครามไม่ไว้ใจพระสิทธิฯไปด้วย
ลงเอยที่โทษประหารชีวิต
คนทั้งสี่ผ่านกระบวนการเช่นเมื่อวานนี้ ฟังพระเทศน์ แล้วนำไปที่หลักประหาร คู่แรกคือ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤณฑ์ และ จ.ส.ต. แม้น เลิศราวี คู่หลังคือ พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพล พ.อ. หลวงมหิทธิโยธี
สีหน้าพระสิทธิเรืองเดชพลเรียบเฉย ซ่อนความรู้สึกทั้งหมดไว้ภายใน สมเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่
เสียงปืนดังขึ้นหลายชุด สาเหตุเพราะปืนที่ยิงหลวงมหิทธิโยธี กระสุนด้าน เมื่อเปลี่ยนกระสุนยิงอีก ก็ด้านอีก
หลวงมหิทธิโยธีร้องว่า “เมื่อยเต็มทีแล้ว เมื่อไหร่จะยิง!”
ปืนกลรัวขึ้น
ตอนสายภรรยาพระสิทธิเรืองเดชพลนำอาหารมาส่งตามปกติ ทราบข่าวการจากไปของสามี ก็เป็นลมล้มพับไป
................................
วันที่ ๒ ธันวาคมเป็นวันที่สามของการประหาร ถึงคราของนักโทษสี่คนคือพ.ต. หลวงไววิทยาศร พ.ต.ท. ขุนนามนฤนาท ร.อ. จรัส สุนทรภักดี และ ร.ท. แสง วัณณะสิริ
พ.ต. หลวงไววิทยาศร (เสงี่ยม ไววิทย์) นั้นเป็นนายทหารประจำการ พ.ต.ท. ขุนนามนฤนาท (นาม ประดิษฐานนท์) เป็นนายตำรวจประจำการ ส่วน ร.อ. จรัส สุนทรภักดี และ ร.ท. แสง วัณณะสิริ เป็นนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบของพระยาทรงสุรเดช
ทั้งหมดล้วนมีสายสัมพันธ์กับพระยาทรงสุรเดช
หลวงไววิทยาศรกับ ร.ท. แสง วัณณะสิริ เดินไปเป็นคู่แรก
เหล่านักโทษไม่แสดงความกลัวตายใด ๆ ขณะถูกนำไปที่หลักประหาร จู่ ๆ หลวงไววิทยาศรตะโกนขึ้นว่า “ที่ไหนโว้ยจุดหมาย?”
ขุนนามนฤนาทตะโกนกลับมาจากด้านหลังว่า “อเมริกาซิเพื่อน”
วิญญาณของทั้งคู่ปลิดปลิวเมื่อเวลา ๐๕.๒๐ น. แต่จะไปเกิดใหม่ที่อเมริกาหรือไม่นั้น ไม่มีใครรู้
เมื่อได้ยินเสียงปืนกลรัว ขุนนามนฤนาทไม่มีสีหน้าประหวั่นพรั่นพรึง พูดเสียงกลั้วหัวเราะว่า “เอ้า! เราเตรียมตัวได้”
ส่วน ร.อ. จรัสเครียด เพราะภรรยาเพิ่งให้กำเนิดลูกน้อยไม่กี่เดือนเท่านั้น
ขุนนามนฤนาทพูดกับ พ.ต.ต. ขุนสมัครพลกิจว่า “ท่านขุนครับ ช่วยเรียนผู้บังคับบัญชาชั้นผู้ใหญ่ว่าผมขอกราบลาไปก่อน”
แล้วก้าวเดินไปสู่ความตายโดยไม่พรั่นพรึง
เสียงปืนคำรามอีกระลอก
ตายไปแล้วสิบสองคน
(ยังมีต่อ)
.........................
จากหนังสือชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม / วินทร์ เลียววาริณ
ตอนนี้มีโปรโมชั่นสุดคุ้ม สั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6
0 วันที่ผ่านมา -
งานหนังสือรอบนี้สำหรับผม ถือว่าจบไปแล้วเมื่อวานนี้ หลังจากไปประจำการ "ทำงานทำงานทำงาน" มา 12 วันเต็ม
รอบนี้ได้พบปะพูดคุยกับผู้อ่านไม่น้อย บางคนคุยด้วยกัน 1-2 ชั่วโมง
เรื่องที่คุยก็มีทั้งประวัติศาสตร์ เหตุการณ์บ้านเมือง เรื่องชีวิต ปรัชญา ไปจนถึงแก่นพุทธศาสนา
ได้ประโยชน์มากมาย
เด็กหญิง Yada ก็นำงานสเก็ตช์มาให้ดูด้วย น่ารัก
ครอบครัว พุ่มรัก พานสิงห์ ก็มากันทั้งบ้าน (หมายถึงครอบครัวที่ทั้งบ้านอ่านนิยายชุดนี้)
ก็เป็นด้านดีของการเปิดบูธพบนักอ่าน นอกเหนือจากการเคลียร์สต็อกหนังสือ
นี่เป็นปีที่ 21 ของการเปิดบูธงานหนังสือ ทำบ่อยจนสถานที่จัดงานเป็นบ้านหลังที่สองไปแล้ว
ถ้าจะไม่ชอบ ก็คงเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นขณะมีงาน และยังทำให้โกดังพัง (ตอนนี้ซ่อมเสร็จแล้ว)
ก็ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมเยือน เอาอาหาร ขนม ไอติม ผลไม้มาฝาก
พบกันใหม่รอบหน้าในเดือนตุลาคม
พร้อมนวนิยายที่เขียนนานหกปี 'สี่ภพ' (เป่ย-หนาน-ตง-ซี) ---ถ้าฟ้าเปิด
วินทร์ เลียววาริณ
8-4-250 วันที่ผ่านมา -
วันนี้ผมไปงานหนังสือเป็นวันสุดท้าย
ความจริงผู้จัดงานขยายเวลาไปอีกหนึ่งวัน ถึงวันพรุ่งนี้ เพื่อชดเชยเหตุแผ่นดินไหว แต่สำนักพิมพ์ของผมวางแผนจัดคนได้ถึงวันนี้เท่านั้น นักเรียนนักศึกษาที่มาช่วยงานก็มาได้ถึงวันนี้ ทุกคนก็เหนื่อยแล้วด้วย
ถ้ามาวันพรุ่งนี้ก็จะไม่เจอกัน
โปรโมชั่นต่างๆ ยังมีอยู่เฉพาะงานวันนี้เท่านั้น ส่วนโปรโมชั่นทางออนไลน์จบไปแล้วเมื่อคืนนี้
ใครอยากมาพบกัน คุยกัน ก็เชิญครับ ไม่งั้นก็ยกยอดไปงานหน้า
ก็ไม่รู้ว่าจะได้จัดอีกกี่งาน เพราะเรี่ยวแรงก็ถดถอยตามวัย
See you when I see you.
ว.ล.
7 เมษายน 2568บูธ D-08
0 วันที่ผ่านมา -
สาธุคุณ ชาร์ลส์ สวินดอลล์ เคยกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตไม่ใช่เงินตรา การศึกษา ความสำเร็จ หากคือคำคำเดียว : ทัศนคติ
ทัศนคติสำคัญกว่าความจริง สำคัญกว่าอดีต สำคัญกว่าเปลือกนอก พรสวรรค์ ความเชี่ยวชาญ
ท่านกล่าวว่า "ชีวิตคือ 10 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า และ 90 เปอร์เซ็นต์ของปฏิกิริยาของข้าพเจ้าต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และมันก็เป็นกับคุณเช่นกัน เราเป็นคนดูแลทัศนคติของเราเอง"
เราทุกคนเกิดมาโดยไม่สามารถเลือกข้อแม้ของการเกิด ไม่สามารถเลือกชาติกำเนิด ฐานะ คุณภาพสมอง ความแข็งแรงทางกายภาพ ฯลฯ แต่อย่างน้อยที่สุด เราสามารถเลือกที่จะมองโลกด้วยสายตาแบบบวกหรือลบ เราอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันหนึ่ง ๆ ก็จริง แต่สามารถผ่านชีวิตวันนั้นหรือทั้งชีวิตไปได้ด้วยดีหากเรามีทัศนคติที่ดี
หากชีวิตแรกเกิดเป็นผืนผ้าใบว่างเปล่า เราแต่ละคนต่างก็ได้รับพู่กันกับสี บางคนโชคดีได้รับหลอดสีสดใส บางคนได้รับหลอดสีดำหม่น แต่ไม่ว่าจะเป็นสีสดหรือสีดำ เราต่างสามารถระบายภาพที่ต้องการให้สวยงามได้
กวีชาวอังกฤษ เฟรเดอริก แลงบริดจ์ เขียนไว้ใน A Cluster of Quiet Thoughts (1896) ว่า "สองคนยลตามช่อง : คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย"
จะเลือกเป็นสุขหรือเลือกเป็นทุกข์อยู่ที่ตัวเราเองทั้งสิ้น
บางครั้งในความมืดมนที่สุดของชีวิต ทัศนคติที่ดีอาจช่วยเป็นแว่นขยายให้เราเห็นภาพต่าง ๆ ชัดขึ้น และพบว่าในความมืดยังมีจุดสว่าง
เบื้องบนยังมีแสงดาว
วินทร์ เลียววาริณ
7-4-25
......................จากหนังสือ เบื้องบนยังมีแสงดาว
https://www.winbookclub.com/store/detail/84/เบื้องบนยังมีแสงดาวโปรโมชั่นชุด 6 เล่ม
https://www.winbookclub.com/store/detail/217/S6%20ชุดกำลังใจครึ่งโหล0 วันที่ผ่านมา -
ในงานหนังสือครั้งนี้ มีผู้อ่านหลายคนมาคุยเรื่องประวัติศาสตร์ บางคนมาซื้อชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม ซ้ำ เพื่อแจกเพื่อน
บางคนก็ชวนคุยเรื่องการเมืองปัจจุบัน แล้วต่างคนต่างถอนใจ!
เราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อที่จะไม่ทำผิดซ้ำซาก แต่เห็นชัดว่าเราอ่านประวัติศาสตร์ไม่เป็น หรือไม่สนใจบทเรียนที่ประวัติศาสตร์มอบให้
บางคนมีกรอบคิดแปลกๆ ว่าอ่านประวัติศาสตร์ไปทำไม ก็มันผ่านไปแล้ว
มันก็เหมือนอกหักแล้ว ก็ยังทำแบบเดิมอีก (เอ๊ะ! เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย)
หลายวันก่อนนายกฯสิงคโปร์พูดเรื่องนโยบายภาษีการค้าที่สหรัฐฯฟาดหางไปทั่วโลก ผมติดงานหนังสืออยู่ จึงไม่มีเวลาแปลมาเล่า เห็นมีหลายคนถอดความแล้ว ก็น่าจะรู้แล้วว่าเขาพูดอะไร
มุมมองของนายกฯเขาชัดเจนคือ มองย้อนกลับอดีตแล้วมองไปข้างหน้าไกลๆ เพื่อขบคิดหาทางให้ประเทศของเขาอยู่รอด
รู้ว่าทำไมในอดีตสหรัฐฯทำอย่างนั้น และการทำอย่างนี้ในวันนี้จะเปลี่ยนการเมืองโลกอย่างไร
การเป็นผู้นำประเทศไม่ว่าจะเล็กแค่ไหน ก็คือการเล่นหมากรุกการเมืองโลกอย่างหนึ่ง
จะเดินเกมเป็น ก็ต้องศึกษาหมากรุกในอดีต
นี่ก็คือเหตุผลหนึ่งที่เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ทั้งของเราเอง และของโลก
ผมเคยเปรยกับหลายคนรอบตัวด้วยความไม่สบายใจว่า สิ่งที่เราทำในตอนนี้ ทั้งคอร์รัปชั่นและบางนโยบาย ดูเหมือนเราจะพยายามเหลือเกินที่จะนำพาประเทศไปสู่ภาวะ failed state อย่างที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติล้นเหลือ แต่ประชาชนยากไร้
เรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังต้องเรียนรู้ที่จะแทนคุณแผ่นดินเกิดด้วย
วินทร์ เลียววาริณ
6-4-251 วันที่ผ่านมา