• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    ทุกเดือนต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ผมได้รับวารสารธรรมมาตา

    ต้นเหตุเพราะครั้งหนึ่งวารสารนี้นำเรื่องที่ผมเขียนไปลง หลังจากนั้นก็ได้รับมาตลอด

    และผมก็อ่านทุกฉบับ อ่านซ้ำก็บ่อย

    วารสารธรรมมาตา ฉบับมกราคม-เมษายน ๒๕๕๕ มีข้อเขียนของพระไพศาล วิสาโล

    ขอยกมาให้อ่านกัน เพราะเข้ากับคำของหลวงพ่อชาพอดี

    วินทร์ เลียววาริณ
    25-4-25

    .......................

    ทุกข์เพราะยึด

    โดย พระไพศาล วิสาโล

    เมื่อพูดถึงความทุกข์กายแล้ว สาเหตุมีเยอะแยะไปหมด ความหิว ความเจ็บป่วย แผ่นดินไหว อุบัติเหตุ อุทกภัย การปล้นจี้ ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุของความทุกข์ทางกาย แต่ถ้าพูดถึงความทุกข์ใจแล้ว ก็มีอยู่สาเหตุเดียว นั่นคือทุกข์เพราะยึด

    ความยึดติด ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง คือสาเหตุหลักที่ทำให้คนเรามีความทุกข์ใจ ยึดติดเรื่องอะไรบ้าง ก็ยึดติดเรื่องราวในอดีต เช่น ความสูญเสียในอดีต โดยเฉพาะสูญเสียของรัก สูญเสียคนรัก รวมไปถึงความเจ็บปวดรวดร้าวที่ถูกกระทำโดยใครบางคน ที่จริงมันผ่านไปนานแล้ว แต่พอยึดเอาไว้ที่ใจ ไม่ยอมปล่อยวาง ก็เลยทุกข์ เจ็บปวด โกรธแค้น เสียดาย อาลัย

    ถ้าไม่ทุกข์เพราะยึดในอดีต ก็กังวลกับอนาคต เหตุร้ายยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็กังวลหรือตีตนไปก่อนไข้เสียแล้ว บางทีก็นึกถึงอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า

    บางคนเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย แต่ก็นึกปรุงแต่งไปไกลว่าฉันจะตายแล้วหรือนี่ ความกังวลกับอนาคตก็เป็นความยึดติดอีกแบบที่ทำให้เราทุกข์ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่นึกถึงอนาคต ความกังวลก็ไม่เกิด ความกลัวก็เช่นกัน ส่วนใหญ่เรากลัวสิ่งที่ยังไม่เกิด ตอนนี้ยังสบายดีอยู่ แต่นึกถึงเหตุร้ายล่วงหน้า อันนี้เรียกว่าคิดข้ามช็อต ก็เลยทำให้เป็นทุกข์

    นอกจากความยึดติดในอดีต ในอนาคตแล้ว สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ถ้ายึดติดก็ทุกข์เหมือนกัน อย่างเช่น เสียงที่มารบกวนขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิ เสียงโทรศัพท์ก็ดี เสียงรถยนต์ก็ดี อาจจะไม่ดังเท่าไหร่ แต่พอใจเราไปยึดติดเข้า ก็เป็นทุกข์ทันที เกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจ ยิ่งปรุงแต่งต่อไปว่ามันไม่น่า มันไม่ควร เราก็ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น เกิดโทสะ เกิดความโกรธ นี่ก็เรียกว่าเป็นเพราะยึดติดกับอารมณ์ปัจจุบัน

    อารมณ์ปัจจุบันอีกอย่างหนึ่งก็คือ เวทนา เรานั่งนานๆ หรือว่าอยู่กลางแดด ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้น ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นของจริง ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต มันเป็นปัจจุบัน แต่พอใจเราปักตรึงลงไปตรงนั้น ทีนี้ไม่ใช่แค่ทุกข์กายแล้ว แต่ยังมีทุกข์ใจด้วย ถ้าเราไม่ปล่อย ไม่วาง ความทุกข์ก็ตามมารบกวนจิตใจของเรา

    นอกจากนี้เรายังทุกข์เพราะยึดติดกับสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา อาจจะไม่ใช่ปรุงแต่งเกี่ยวกับเรื่องราวในอนาคต แต่ปรุงแต่งต่อจากสิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู เห็นเงาพาดผ่านกลางดึกก็ปรุงว่าเป็นคนบ้าง เป็นผีบ้าง เห็นกิ่งไม้บนพื้นดินก็ปรุงว่าเป็นงูบ้าง แค่นี้ก็มากพอที่จะทำให้กลัว ยิ่งไปยึดมันเข้า บางทีก็ทำให้นอนไม่หลับ หรือว่าเห็นเพื่อนร่วมงานกระซิบกระซาบกันก็ปรุงว่าเขากำลังนินทาเรา ก็เลยไม่สบายใจ บางคนฟังหลวงพ่อบรรยายก็ปรุงต่อไปว่าท่านกำลังตำหนิเรา ต่อว่าเรา พอคิดอย่างนี้เข้าก็กระสับกระส่าย รุ่มร้อนในใจ หารู้ไม่ว่าปรุงทั้งนั้น

    ปกติคนเราปรุงวันละหลายสิบเรื่อง ถ้าปล่อยให้ผ่านเลยไปก็ไม่มีอะไร แต่พอไปยึดเป็นจริงเป็นจัง ก็ทุกข์ขึ้นมาทันที บางทีสามีภรรยาทำร้ายกัน หรือทำร้ายตัวเองก็เพราะความคิดปรุงแต่ง ปรุงว่าเขากำลังนอกใจเรา ไม่ซื่อต่อเรา พอคิดแบบนี้ก็เลยเครียด นอนไม่หลับ จนเป็นโรคประสาท หรือทะเลาะเบาะแว้งกัน อันนี้ก็เพราะว่ายึดติดในสิ่งที่ปรุงแต่ง ผู้คนเป็นทุกข์ก็เพราะเหตุนี้มาก ยิ่งไม่มีหลัก ไม่รู้จักไตร่ตรองก็ทำให้หลงเชื่อความคิด ความคิดทั้งหลายล้วนเกิดจากการปรุงของเรา แต่สุดท้ายมันกลับมาปรุงเรา จนกลายเป็นนายเราก็มี

    เบื้องลึกของความยึดติดทั้งหลายที่พูดมา ก็คือความยึดติดในตัวตน อันนี้เป็นรากเหง้าของความยึดติดและความทุกข์ทั้งหลายเลยก็ว่าได้ ความยึดติดในตัวตน จะว่าไปแล้ว ก็เป็นความยึดติดในสิ่งที่ปรุงแต่งอย่างที่พูดเมื่อกี้ แต่เป็นการปรุงแต่งในระดับจิตใต้สำนึกเลยก็ว่าได้ ยึดติดว่ามีตัวกู แล้วก็ทำให้มีของกูตามมา ความทุกข์เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตและอนาคต ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับของกูและตัวกูทั้งนั้น เช่น แค้นใจที่ถูกต่อว่า กลัวตกงาน กลัวสอบเข้าไม่ได้ กลัวถูกทิ้ง เหล่านี้มีรากเหง้าที่ตัวกู ของกู กลัวบ้านจะถูกยึด กังวลว่าลูกจะอยู่อย่างไร ใครจะดูแล กังวลที่ลืมทิ้งกระเป๋าเอาไว้ที่บ้าน หรือลืมล็อคกุญแจบ้าน

    เหล่านี้ล้วนเกี่ยวกับของกูทั้งนั้น ถ้าเป็นของคนอื่นก็ไม่รู้สึกกังวลใช่ไหม ใครจะตาย ใครจะป่วย กี่มากน้อย ก็ไม่ทำให้เราทุกข์ ตราบใดที่เขาไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่พี่น้อง หรือไม่ใช่เพื่อนร่วมชาติของเรา เราก็ไม่ทุกข์อะไร ได้ยินข่าวว่ามีคนหิวตายนับล้านคนที่แอฟริกา เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ใช่เพื่อนร่วมชาติของเรา ไม่ใช่ญาติของเรา ไม่ใช่คนที่เรารู้จัก แต่ถ้ารู้ว่าพี่น้องของเราป่วยด้วยโรคมะเร็ง เรานอนไม่หลับเลยก็มี

    ขอให้พิจารณาดู ความทุกข์ใจทั้งหลายทั้งปวง สาวหาสาเหตุก็จะไปสุดอยู่ที่ความติดยึดในตัวตน หรือความติดยึดว่ามีตัวกูของกู แม้แต่ความทุกข์เพราะยึดติดในอารมณ์ปัจจุบัน เช่นหงุดหงิดเพราะเสียงที่ดัง หรือทุกข์เพราะปวดท้อง เสียงดังและอาการปวดท้อง เป็นอารมณ์ปัจจุบันไม่ใช่สิ่งปรุงแต่ง และทำให้ทุกข์กายก็จริง แต่มันจะไม่ขยายจากทุกข์กายเป็นทุกข์ใจไปได้ถ้าไม่มีความยึดมั่นในตัวกู ของกูเข้าไปผสมโรงด้วย เช่นเวลาปวดหรือเมื่อย มันเป็นรูปที่เมื่อย เป็นกายที่ปวด เป็นทุกขเวทนา

    แต่พอไปยึดและปรุงว่าฉันปวด ฉันเมื่อย ใจก็จะเป็นทุกข์ทันที แทนที่จะเห็นว่าเป็นกายที่ปวด เป็นรูปที่เมื่อย ก็เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันปวดฉันเมื่อย ตรงนี้เป็นที่มาของความทุกข์ใจ

    การปรุงจนเกิดมี ตัวกู ของกูขึ้นมา เป็นสาเหตุของความทุกข์ใจ เช่น ปรุงว่ามี กูผู้ปวด กูผู้เมื่อย กูผู้รำคาญ กูผู้โกรธ อันนี้เป็นการเกิดแบบหนึ่ง เรียกว่าภพชาติ ไม่ใช่ว่าต้องเกิดจากท้องแม่ถึงจะเรียกว่าเป็นการเกิด การมีตัวกูเกิดขึ้นมาก็เป็นภพชาติ อย่างที่เราสวดเมื่อกี้ว่า การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป ไม่ใช่แค่เกิดจากท้องแม่เท่านั้น แม้กระทั่งการเกิดตัวกูขึ้นมาในใจ ก็ทำให้เป็นทุกข์เช่นกัน มันเป็นการเกิดที่สืบเนื่องจากการปรุงแต่ง เมื่อเกิดตัวกูขึ้นมาแล้วก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น เช่น พอเกิดตัวกูผู้เป็นพ่อเป็นแม่ก็ย่อมทุกข์เพราะลูก ไม่ใช่แค่ห่วงกังวลลูกเท่านั้น แต่ยังทุกข์เพราะว่าลูกไม่เชื่อฟัง ลูกไม่เคารพฉันซึ่งเป็นพ่อแม่

    ธรรมดาของคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็อยากจะให้ลูกเป็นอย่างที่ตัวเองคิด นี้เป็นความยึดติดถือมั่นอีกแบบหนึ่ง อยากจะให้เขาดีเหมือนตัว อยากจะให้เขามีชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ แต่พอลูกไม่ดีเหมือนตัว มีชีวิตไม่ตรงตามที่เราวาดหวังก็ทุกข์ พูดแล้วก็ไม่ฟังก็ทุกข์ ลูกบางคนไม่พูดกับแม่ ประท้วงแม่ เพราะถูกแม่ต่อว่าที่ชอบเล่นเน็ต เล่นเกมส์ออนไลน์ทั้งวันทั้งคืน จนไม่สนใจเรียนหนังสือ และไม่เป็นอันหลับอันนอน

    พอถูกแม่ว่ามากๆ เข้า ลูกก็ไม่พูดกับแม่ แม่เลยเสียใจและโกรธลูก ยื่นคำขาดว่าถ้าลูกไม่พูดกับแม่ แม่จะโดดตึก ขู่แล้วคิดว่าจะได้ผล ปรากฎว่าไม่ได้ผล แม่ก็เสียใจ น้อยใจลูก เลยโดดลงจากระเบียงตึกตาย นี่ก็เป็นความทุกข์ของคนเป็นแม่ พอยึดติดในความเป็นแม่ ก็วาดหวังว่าลูกจะต้องเชื่อฟังแม่ พอลูกไม่เชื่อฟัง แม่ก็เป็นทุกข์ทันที

    คนเป็นพ่อก็ทุกข์เพราะลูกเหมือนกัน พ่อเป็นคนธรรมะธรรมโม ชอบเข้าวัด แต่ลูกเป็นเด็กวัยรุ่น ไม่ค่อยสนใจธรรมะ เรียนหนังสือก็ไม่ค่อยเรียน เหมือนกับวัยรุ่นทั่วๆ ไป แต่ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกกมะเหรกเกเร ไม่ได้ติดเหล้าติดยา พ่อก็รู้สึกผิดหวังในตัวลูก ผิดหวังแล้วก็เลยโกรธ ต่อว่าลูก มีปากเสียงกัน สุดท้ายลูกกับพ่อก็ไม่คุยกัน พ่อก็พยายามเข้าหาลูก ซื้อรถมาให้ลูก แต่ก็พยายามควบคุมการใช้รถของลูก ลูกก็ไม่พอใจ

    วันหนึ่งลูกจะขับรถไปบ้านเพื่อนตอนกลางคืน พ่อไม่อนุญาต แต่ลูกไม่ฟัง ขับรถฝืนคำสั่งพ่อ พ่อโกรธ ตามไปบ้านเพื่อน แล้วก็ไปเอารถกลับมาพร้อมลูก พอถึงบ้านก็มีปากเสียงทะเลาะกัน ทะเลาะกันท่าไหนไม่รู้ จู่ ๆ พ่อก็ควักปืนออกมายิงลูกตาย แล้วก็ยิงตัวตาย คงทำใจไม่ได้ว่าฉันเผลอฆ่าลูก รู้สึกผิดมหันต์ ก็เลยฆ่าตัวตายตาม

    นี่เป็นผลของความยึดติดถือมั่น โดยเฉพาะความยึดติดถือมั่นของพ่อ ว่าลูกต้องเชื่อฟังพ่อ ต้องอยู่ในโอวาทของพ่อ ต้องดีเหมือนพ่อ หรือดีอย่างที่พ่อคิด แต่เมื่อลูกไม่เป็นอย่างนั้นก็โกรธ แล้วกลายเป็นเกลียด สุดท้ายก็ทำร้ายลูก นี่เป็นความทุกข์เพราะยึดติด คือยึดติดถือมั่นว่าฉันเป็นพ่อ แกเป็นลูก เพราะฉะนั้นต้องฟังฉัน พอลูกไม่ฟัง ก็เกิดโทสะขึ้นมา เห็นไหมว่าความยึดติดถือมั่นในความเป็นพ่อ ก็มีโทษและทำให้เป็นทุกข์

    เช่นเดียวกับความยึดมั่นสำคัญหมายในความเป็นแม่ เพราะมันทำให้เกิดกิเลสตัวใหญ่ตามมา ว่าลูกต้องเชื่อฟังฉัน ต้องเคารพฉัน ต้องเป็นอย่างที่ฉันต้องการ พอไม่เป็นดั่งใจ เมตตาก็กลายเป็นโทสะไป หรือไม่ก็กลายเป็นอกุศล เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ นี่ก็เป็นความทุกข์จากการยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูอีกแบบหนึ่ง

    ความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู เป็นอุปาทานอย่างหนึ่ง พอมีอุปาทานหรือความยึดมั่นแล้ว ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ก็จะมีกิเลสตามมา และถ้ากิเลสนั้นไม่สมหวัง ไม่สมประสงค์ก็เกิดทุกข์ ถ้าไม่ระบายทุกข์ใส่คนอื่น ก็ระบายทุกข์ใส่ตัวเอง อันนี้รวมถึงความยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นคนดีด้วย

    มีความยึดมั่นแบบนี้ก็ทำให้ทุกข์ได้ เช่น ทุกข์เพราะว่าคนไม่เห็นความดีของฉัน ทุกข์เพราะว่าฉันทำดีไม่ได้ดี ทุกข์เพราะเห็นคนอื่นดีกว่าตัว ทำความดีนั้นเป็นสิ่งดี แต่พอยึดมั่นสำคัญว่าฉันเป็นคนดี ก็ทำให้อัตตาฟูฟ่อง พอเจอคนที่เขาดีกว่า ก็ไม่พอใจ เกิดความอิจฉา นี่ก็เป็นทุกข์ของคนดี หรือทุกข์ของคนที่ยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นคนดี นี่ก็เป็นทุกข์เพราะการเกิดอีกแบบหนึ่ง คือเกิดตัวกูผู้เป็นคนดี เป็นการเกิดที่ปรุงขึ้นมาโดยมีรากเหง้ามาจากความยึดมั่นในตัวกูของกู

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีพราหมณ์ถามพระพุทธองค์ว่าท่านเป็นใคร ท่านเป็นเทวดาหรือ พระองค์ก็ปฏิเสธ ท่านเป็นคนธรรพ์หรือ พระองค์ก็ปฏิเสธ ท่านเป็นยักษ์หรือ พระองค์ก็ปฏิเสธ สุดท้ายพราหมณ์ก็ถามว่าท่านเป็นมนุษย์หรือ พระองค์ก็ปฏิเสธอีก พราหมณ์ยิ่งงงใหญ่ว่าตกลงท่านเป็นอะไร พระพุทธเจ้าอธิบายว่า กิเลสที่จะทำให้พระองค์เป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ไม่มีแล้ว พูดง่าย ๆ กิเลสที่จะทำให้เป็นนั่นเป็นนี่ไม่มีแล้ว แต่ถ้าจะเรียกก็เรียกพระองค์ว่า พุทธะก็แล้วกัน

    ความรู้สึกว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นความปรุงแต่ง พอเราไปยึดเข้า ก็เตรียมตัวทุกข์ได้เลย เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะยึดติดถือมั่นได้เลยซักอย่าง เนื่องจากทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงและแปรเปลี่ยน ขณะเดียวกันพอยึดติดถือมั่นว่าเป็นอะไร ก็จะมีกิเลสตามมา ขึ้นชื่อว่ากิเลสก็ล้วนทำให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความอยากได้หรืออยากผลักไส ก็ล้วนนำไปสู่ความทุกข์ใจ เพราะเมื่อความจริงไม่เป็นอย่างที่อยาก ก็เป็นทุกข์แล้ว ที่จริงเพียงแค่นึกอยาก ไม่ว่าอยากผลักไสหรือ อยากได้ครอบครองก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะมันทำให้จิตดิ้นรน ทนอยู่เฉยไม่ได้ ก็ทุกข์ขึ้นมาทันที

    ถามว่า ในเมื่อความยึดติดเป็นทุกข์ แล้วทำไมผู้คนถึงยึดอยู่ได้ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง นั่นก็เพราะความหลงและลืมตัว พูดง่ายๆ คือเพราะลืม และเพราะหลง ลืมคือขาดสติ หลงคือขาดปัญญา ทำอย่างไรถึงจะปล่อยวางได้ ก็ต้องมีสติ และมีปัญญา สติทำให้ระลึกได้ ทำให้ไม่ลืมตัว ไม่ใช่ระลึกได้ในเรื่องอื่นเท่านั้น แต่ระลึกได้ในกายและใจ ก็ทำให้ไม่ลืมตัว เมื่อไม่ลืมตัว ก็ไม่ไปยึดอดีตกับอนาคต หรือถ้ารู้ว่ายึด ก็วางได้

    คนเราเวลาเกิดทุกข์แล้วมักจะไม่รู้ทุกข์ เพราะลืมตัว แต่พอมีสติ ก็เห็นทุกข์ รู้ว่าแบกความทุกข์เอาไว้ ก็ทำให้วางได้ เป็นการวางได้เองโดยไม่ต้องสั่ง และถ้าเห็นว่า ทุกข์นี้สักแต่ว่าเกิดขึ้นโดยไม่ไปยึดเอาไว้ เช่น เมื่อความปวด ความเมื่อย ความเจ็บ เกิดขึ้น แต่ไม่เข้าไปยึดติดถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา ความสำคัญหมายว่า เราทุกข์ เราปวด เราเมื่อย เราโกรธ ก็ไม่เกิดขึ้น เวลานึกถึงอดีต นึกถึงอนาคตแล้วเกิดความโกรธหรือกังวลขึ้นมา นี่เรียกว่าลืมตัว

    แต่ถ้ามีสติ เห็นความโกรธ เห็นความกังวล ความยึดมั่นสำคัญหมายว่าเราโกรธ เรากังวล ก็ไม่มี เพียงแต่เห็นความกังวลเกิดขึ้นที่ใจ ความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ ไม่เข้าไปเป็นมัน ไม่มีฉันผู้โกรธ ฉันผู้กังวล ฉันผู้ทุกข์ จิตก็หลุดจากความทุกข์ได้ ความปวดกายก็เช่นเดียวกัน มันปวดมันเมื่อย ก็เห็นความปวดความเมื่อย แต่ไม่ปรุงเป็นฉันผู้ปวดผู้เมื่อย ก็ไม่มีความทุกข์ใจ ไม่มีความปวดใจ

    ถามว่าทำไมถึงปรุงเป็นฉันผู้ปวดผู้เมื่อยได้ ตอบสั้น ๆ ว่าเป็นเพราะไม่มีสติ ไม่มีสติเมื่อไร ก็ปรุงตัวกูขึ้นมาเมื่อนั้น สติจึงเป็นเครื่องสลายตัวตน หรือพูดให้ถูกต้องคือทำลายความยึดติดถือมั่นในตัวตน มีสติเมื่อไร ความยึดถือมั่นว่ามีตัวกูของกูก็หายไป ถ้าเพียงสักแต่ว่ารับรู้สิ่งต่างๆ อย่างมีสติ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสกับท่านพาหิยะ ก็ไม่มีตัวกูมาก่อความทุกข์

    ท่านพาหิยะเป็นนักบวชสมัยพุทธกาล อุตสาห์เดินทางข้ามวันข้ามคืนเพื่อจะมาพบพระพุทธเจ้า มาถึงเมืองสาวัตถีขณะที่พระพุทธองค์กำลังเสด็จบิณฑบาตอยู่ จึงรีบเข้าไปทูลขอให้พระองค์แสดงธรรม ท่านพาหิยะอยากจะฟังธรรมเดี๋ยวนั้นเลย พระองค์ก็ปฏิเสธ ท่านพาหิยะก็ยืนกราน ขอให้พระองค์แสดงธรรมอยู่นั่น พระองค์ก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่เวลา เพราะกำลังบิณฑบาตอยู่ ท่านพาหิยะทูลขอถึงสามครั้ง สุดท้ายพระองค์ก็ยอมแสดงธรรม

    ทรงแสดงธรรมสั้นๆ ว่า “เมื่อเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟัง ก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อทราบ ก็สักแต่ว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งในอารมณ์ ก็สักแต่ว่ารู้แจ้งในอารมณ์ เมื่อนั้นตัวเธอย่อมไม่มี เมื่อใดตัวเธอไม่มี เมื่อนั้นย่อมไม่มีทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า และระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลคือที่สุดแห่งทุกข์” พอพระองค์ตรัสจบ ท่านพาหิยะก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทันที ได้ชื่อว่าเป็นเอตทัคคะในเรื่องการตรัสรู้เร็ว แต่ท่านไม่ทันได้บวชก็โดนวัวขวิดตายกลางถนนนั้นเอง

    นี่ก็เป็นคำสอนที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีสติขณะเกิดผัสสะ สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่ารับรู้อารมณ์ ก็ไม่มีตัวตนเกิดขึ้น สติจึงเป็นอุบายสลายตัวตนที่สำคัญมาก ฉะนั้น การที่จะไม่เกิดภพชาติ ไม่ต้องรอให้ตายหรือหมดลมไปก่อนถึงจะหลุดพ้นจากภพชาติ ในขณะที่เรายังมีลมหายใจ การทำให้ความเกิดไม่มี หมดการปรุงเป็นภพเป็นชาติก็สามารถทำได้ ไม่ได้ทำได้เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น ปุถุชนก็สามารถทำได้ เพียงแต่ว่าเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ถาวรอย่างพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้าที่ท่านไม่มีภพไม่มีชาติแล้ว

    เราก็สามารถทำได้ แต่ก็เฉพาะในยามที่มีสติ พอไม่มีสติ ก็ปรุงตัวกูขึ้นมาใหม่ เมื่อเห็น แทนที่สักแต่ว่าเห็น ก็มีตัวกูผู้เห็น ได้ยิน-ก็ไม่ใช่สักแต่ว่าได้ยิน แต่มีตัวกูผู้ได้ยิน โกรธ-ก็ไม่ใช่สักแต่ว่าโกรธ หรือเห็นความโกรธเฉย ๆ แต่มีตัวกูผู้โกรธ เมื่อย-ก็ไม่ใช่สักแต่ว่าเมื่อย หรือเห็นความเมื่อยเท่านั้น แต่ว่ามีตัวกูผู้เมื่อย มันมีการปรุงอยู่ตลอดเวลาถ้าไม่มีสติ แต่ถ้ามีสติ การปรุงก็หมดไป ไม่มีตัวกูขึ้นมา ไม่มีกูผู้โกรธ ผู้เมื่อย อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่มีการเกิด แต่สติเรามีเป็นขณะๆ พอมันดับไป ก็ปรุงตัวกูขึ้นมาอีก

    สติหรือความระลึกได้นั้นเกิดเป็นขณะๆ อยู่ที่ว่าจะต่อเนื่องนานแค่ไหน หลวงพ่อคำเขียนท่านเปรียบเป็นโซ่ ที่ต่อกันเป็นข้อๆ บางคนมีไม่กี่ข้อก็ขาด บางคนมีสี่ห้าข้อเท่านั้นก็ขาด แต่บางคนที่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ ข้อของสติก็เชื่อมต่อกันเป็นสายยาว แต่ก็ขาดเหมือนกัน จนกว่าจะมีสติสมบูรณ์เป็นพระอรหันต์ ซึ่งมีข้อที่ยืดยาว ไม่ขาด แต่ถึงเราจะทำไม่ได้ขนาดนั้น ก็ไม่เป็นไร ขอให้เพียรสร้างสติให้ต่อเนื่อง เพื่อที่จะทำให้ทุกข์นั้นสั้นลง ๆ เป็นลำดับ

    การเจริญสติจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเราเจริญสติแล้วเราไม่พอใจแค่ใจสงบเท่านั้น แต่ว่ายกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา คือพิจารณากายและใจหรือรูปกับนามด้วย ก็ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา การเจริญสตินี้ ทำไปๆ เรื่อย ๆ จิตก็สงบ แต่ระวังอย่าให้จิตแนบไปกับอารมณ์ ถ้าจิตแนบกับอารมณ์ ได้ความสงบก็จริงแต่ไม่เกิดปัญญา เพราะไม่เห็นความจริงที่เกิดขึ้นกับจิต พอสงบแล้ว อาการขึ้นลงของจิตก็ไม่ปรากฏเพื่อแสดงให้เห็นไตรลักษณ์

    อันนี้เป็นข้อเสียที่ไม่ทำให้เกิดปัญญา หลวงพ่อเทียนจึงแนะลูกศิษย์ว่า เวลาจิตสงบมากๆ ต้องเดินให้เร็ว ยกมือสร้างจังหวะให้เร็ว เพื่ออะไร เพื่อกระตุ้นให้ความคิดออกมา จะได้ฝึกสติพร้อม ๆ กับเห็นธรรมชาติของจิตชัดเจนขึ้น นั่นคือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เช่นนั้นถ้าจิตสงบมาก ๆ บางทีไปคิดว่าจิตเป็นนิจจังคือเที่ยง หรือคิดว่าเป็นตัวตนที่ควบคุมบังคับบัญชาได้ด้วยซ้ำ

    ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกระตุ้นจิตให้มีความคิดออกมา จะได้เห็นอาการอันเป็นธรรมดาของจิต ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญาตามมา ถ้าจิตนิ่งเสียแล้ว หรือแนบกับอารมณ์ก็จะเพลินในความสงบ แต่ปัญญาไม่เกิด อันนี้ เราก็ต้องเข้าใจหลักของการปฏิบัติด้วย ต้องรู้ว่ามีหลุมพรางตรงไหนเพื่อเราจะได้หลีกเลี่ยง ไม่ถลำเข้าไป หรือเพลินนานเกินไปจนไม่ก้าวหน้า

    พระไพศาล วิสาโล

    1
    • 0 แชร์
    • 27

บทความล่าสุด