-
วินทร์ เลียววาริณ0 วันที่ผ่านมา
(นี่คืออีกด้านหนึ่งของ 'เณรน้อยเจ้าปัญญา' อิกกิวซังที่ไม่น่าเชื่อ)
เขาเกิดในราชตระกูล บิดาเป็นถึงจักรพรรดิ แต่ชะตาทำให้เขาเริ่มต้นบทแรกแห่งชีวิตในสถานะคนยากไร้
เขาเป็นลูกนอกสมรสของจักรพรรดิ โง โคะมะสึ แม่เป็นนางกำนัล จักรพรรดินีไม่พอพระทัย ก็ขับไล่แม่กับเขาไปอยู่ในถิ่นคนยากไร้แห่งหนึ่งในเกียวโต
เมื่ออายุห้าขวบ เขาจากแม่ไปเป็นศิษย์อังโกะกุจิ วัดเซนสายรินไซ ที่วัดแห่งนี้เขาเรียนภาษาจีน ศิลปะ บทกวีจีน และเริ่มฝึกเซน ได้รับนามว่า ซูเกน
เขารักบทกวี วรรณกรรม และศิลปะต่าง ๆ ที่นี่เองบทกวีจำนวนมากหลั่งไหลออกจากหัวใจที่พลุ่งพล่าน
เมื่ออายุสิบสาม เขาย้ายไปศึกษาเซนที่วัดเคนนินจิ เขามองเห็นความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของพระเซนและลูกวัดซึ่งยังยึดติดทรัพย์สินและยศถาบรรดาศักดิ์ และมุมมองของเขาต่อโลกก็เปลี่ยนไป เขาพบว่านักบวชก็เป็นปุถุชน!
อายุสิบหก เขาออกจากวัดแห่งนี้ไปจำอยู่ที่วัดไมบุดาระ เจ้าอาวาสคือพระเซโสะ อยู่ได้ไม่นานก็ย้ายวัดอีก คราวนี้ไปจำวัดไซกิน เป็นลูกศิษย์ของเจ้าอาวาสนาม เคนโอะ โซอิ
เขาชอบวัดใหม่นี้ เขาเรียนเรื่องซาเซนจนอายุยี่สิบเอ็ด อาจารย์เคนโอะมรณภาพ เขาโศกเศร้าอย่างยิ่ง อดอาหารนานเจ็ดวัน และพยายามฆ่าตัวตายโดยกระโดดลงน้ำที่ทะเลสาบบิวา แต่เปลี่ยนใจ
หลังจากเจ้าอาวาสมรณภาพ เขาไปฝากตัวกับอาจารย์คะโซแห่งวัดไดโตะกุ เจ้าอาวาสปล่อยให้เขารอหน้าประตูวัดนานห้าวัน ราดน้ำหนึ่งถังบนหัวเขา แล้วค่อยรับเขาเป็นศิษย์
อาจารย์คะโซมีส่วนคล้ายกับอาจารย์เคนโอะเรื่องวิธีการสอน ช่วงหลายปีที่วัดไดโตะกุ เขาทำงานหนัก ทั้งใช้แรงงาน สานรองเท้า ทำตุ๊กตาขายให้พ่อค้า ฯลฯ และศึกษาธรรมไปด้วย
ในปี ค.ศ. 1418 เมื่ออายุยี่สิบสี่ นักร้องตาบอดคณะหนึ่งมาร้องเพลงที่วัด ห้วงยามที่เขาดื่มด่ำเสียงเพลง จิตสัมผัสธรรม เขาพลันเข้าใจโกอานที่อาจารย์มอบให้เขาขบคิด เมื่อเขาไขปริศนาธรรมของอาจารย์คะโซได้ ก็ได้รับฉายาใหม่ว่า อิกกิว (一休) แปลว่าหยุดหนึ่งครั้ง
นี่ก็คือชาติกำเนิดของ อิกกิว พระเซนที่แปลกประหลาดที่สุดแห่งญี่ปุ่น
ปี 1420 อายุยี่สิบหก อิกกิวทำสมาธิบนเรือที่ทะเลสาบ ได้ยินเสียงอีการ้องทำให้เข้าใจเรื่องทุกข์และอัตตา เมื่อเขาเล่าประสบการณ์นี้ให้อาจารย์คะโซฟัง อาจารย์กล่าวว่า "เจ้ายังมิได้บรรลุธรรมหรอก"
อิกกิวตอบว่า "ศิษย์มิได้อยากบรรลุธรรม"
เจ้าอาวาสหัวเราะ กล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้นเจ้าก็บรรลุธรรมแล้ว!"
อาจารย์คะโซมองเห็นความเฉลียวฉลาดของเขา ตั้งใจปลุกปั้นอิกกิวให้สืบทอดตำแหน่งของตนต่อไป ทำให้พระรุ่นพี่ชื่อ โยโสะ อิจฉา แต่อิกกิวไม่อยากได้รับตำแหน่งใด ๆ เขาใช้ชีวิตผิดจากวิถีพระเซน ดื่มเหล้าหนัก พูดตรง ไม่ไว้หน้าใคร มีเรื่องกับคนอื่นเนือง ๆ ทำให้อาจารย์คะโซเปลี่ยนใจ เห็นว่าศิษย์ผู้นี้ยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้
เจ้าอาวาสคะโซมรณภาพเมื่ออิกกิวอายุสามสิบห้า อีกครั้งเขาเศร้าโศกเสียใจมาก แต่ครั้งนี้เขามิได้คิดไปกระโดดน้ำตายที่ทะเลสาบ แต่ออกจากวัด เร่ร่อนไปทั่ว เขาขลุกอยู่กับพวกศิลปิน จิตรกร กวี
อิกกิวเขียนว่า "เมื่อไร้จุดหมายปลายทาง ข้าก็ไม่มีวันหลงทาง"
เขาผ่านชีวิตอีกหลายสิบปีธุดงค์ไปตามวัดต่าง ๆ รวมทั้งร้านเหล้าและซ่องนางโลม
วิถีชีวิตของอิกกิวต่างจากพระเซนรูปอื่น ๆ ราวฟ้ากับดิน ใช้ชีวิตนอกเส้นทางศาสนาหลัก มีพฤติกรรมประหลาดเมื่อเทียบกับมาตรฐานและจารีตของพระทั่วไป หลายเรื่องเข้าข่ายอาบัติในมาตรฐานสงฆ์ เช่น ไม่โกนผม ไว้หนวดเครา ดื่มสุรา เล่นพนัน ฉันเนื้อสัตว์ และเที่ยวผู้หญิง
เขาเดินสวนทางวิถีเดิมเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความไร้สาระของเปลือก ทุกอย่างเป็นเรื่องสมมุติ พระในเครื่องนุ่งห่มสงฆ์ถ้าทำตัวไม่ดีก็มิใช่พระ ความเป็นพระไม่ใช่อยู่ที่เครื่องนุ่งห่มและรายละเอียดปลีกย่อยของชีวิต เขามองว่าพระกับฆราวาสไม่ได้ต่างกัน ความเป็นพระมิใช่เปลือกของพระ ความเป็นพระอยู่ภายใน
เขาไม่ถือว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องบาป เขามองว่าผู้ชายเกี่ยวข้องกับผู้หญิงมาตั้งแต่แรกเกิด การปฏิเสธความปรารถนาด้านกามารมณ์จึงฝืนธรรมชาติ เขายังบอกว่าซาโตริของเขามาจากการข้องแวะกับสตรี!
อิกกิวรู้จักนักร้องตาบอดนาม โมริ ซึ่งต่อมาเป็นคนรักของเขา มีลูกชายหนึ่งคน
เขาตั้งฉายาให้ตัวเองว่า เมฆบ้า เชื่อว่าพฤติกรรม 'บ้า' ของเขาอาจเป็นอุบายจัดการกับวงการนักบวชรอบตัวเขาซึ่งหลงทาง หรืออาจเป็นวิธีมองโลกจากสายเดิม
เขาเขียนว่า "ความกระจ่างใสของวันวานคือความเขลาทึบของวันนี้
จักรวาลมีทั้งมืดและสว่าง จงเตรียมรับความเปลี่ยนแปลง..."
(ยังมีต่อ)
วินทร์ เลียววาริณ
18-5-25................................
จาก มังกรเซน และ Mini Zen (เซนฉบับการ์ตูน)
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้วมังกรเซน Shopee คลิก https://shope.ee/2VUCymbmSh?share_channel_code=6
เว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/244/Mini%20Zen%20คู่%20Mini%20Tao
0- แชร์
- 1
-
ในวันแรกที่ผมเริ่มเขียนหนังสือนั้น ผมอ่านหนังสือมาแล้วจำนวนมาก แต่พอคิดจะเขียน กลับเขียนคำแรกไม่ออก
ผมเริ่มต้นชีวิตนักเขียนเหมือนทารกคลานเตาะแตะ จำได้ว่าแต่ละเรื่อง กว่าจะกลั่นคำแรกประโยคแรกออกมาได้แทบกระอักเลือด ชวนให้เลิกหลายครั้ง
อ่านหนังสือมาเป็นพันเล่ม แต่เริ่มประโยคแรกไม่ได้
หากกระบี่เป็นอาวุธของจอมยุทธ์ ภาษาก็เป็นอาวุธของนักเขียน
การใช้ภาษาอาจเป็นส่วนที่ยากที่สุดของงานเขียน มิพักเอ่ยถึงขั้นเป็น ‘นายของภาษา’
‘นายของภาษา’ หมายถึงคุมปากกาได้อยู่หมัด ถ้าเป็นช่างไม้ก็ไสไม้เรียบในไม่กี่ที ถ้าเป็นช่างปูนก็ปาดปูนเรียบเหมาะเจาะใน 1-2 ตวัด ไม่มีเศษปูนเหลือ
ถ้าเป็นวงการยุทธจักร ‘นายของภาษา’ ก็ประมาณน้องๆ ไซมึ้งชวยเซาะหรืออี้จับซา สะบัดกระบี่ที มีคนตาย ถ้าต้องฟันกันหลายสิบกระบวนท่า อย่างนี้ยังไม่ใช่
ต้องฝึกฝนจนคุมกระบี่อักษรได้ ทุกกระบวนท่าต้องฆ่าศัตรู ถ้าแทงเข้าหัวใจได้ ยิ่งดี
จะฝึกถึงขั้นนี้ ยากจริงๆ ขอบอก
ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ใช้ภาษาแบบ Minimalism ดีที่สุด น้อยที่สุดเท่าที่สื่อสารได้
Minimalism คือหากเราตัดคำใดในประโยคทิ้งไปแล้ว ยังอ่านรู้เรื่อง แสดงว่าคำคำนั้นเป็นส่วนเกิน
ผมเริ่มต้นเขียนงานที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกตอนราวอายุ 15 เขียนขำขันหลายเรื่องไปส่งนิตยสารชัยพฤกษ์ หลังจากนั้นก็แต่งนิยายภาพขายอยู่หลายปี แล้วค่อยเข้าสู่วงการนักเขียน
หลังจากจับปากกา 20 ปี รู้สึกว่าเริ่มประโยคง่ายขึ้น แต่ยังต้องเกลาแล้วเกลาอีก
หลังจากจับปากกา 30 ปี รู้สึกว่าไม่ต้องเกลามากเหมือนเก่า ใช้ปากกาได้คล่องแคล่วกว่าครั้งเริ่มต้น แต่ยังไม่ถึงขั้นไซมึ้งชวยเซาะ หรืออี้จับซา ยังต้องฟันหลายทีอยู่ แต่น้อยลงไปมาก
หลังจากจับปากกา 50 ปี รู้สึกว่าความผิดพลาดน้อยลง เวลาที่ใช้เลือกคำน้อยลง และการเขียนเป็นความสนุกสาหัสสมใจยิ่ง
ทั้งหมดมาจากการฝึกฝนคำเดียว
ไม่มีอะไรดีๆ ที่ได้มาง่ายๆ จะเป็น ‘นายของภาษา’ นั้นทำได้ แต่ต้องฝึกหนักหน่วง
ทว่ารางวัลของความหนักหน่วงของการฝึกฝน คือความเบาสบายของหัวใจเมื่องานลื่นไหลราวสายน้ำที่มิเกรงก้อนหินขวางกั้น
..............................
คำแนะนำของผมต่อนักเขียนใหม่คือ
1 อย่ารีบเป็นนายของภาษา เขียนสื่อให้เข้าใจก่อน เช่น เขียนเรื่องไก่ก็เป็นไก่ เขียนเรื่องแมวก็เป็นแมว ค่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ ผ่านไปหลายปี ไก่จะเป็นไก่พิเศษ แมวก็จะเป็นแมวเทวดาเอง
ไม่มีนักเขียนคนไหนเป็นนายภาษาในวันแรกที่เริ่มเขียน ไม่มี ดังนั้นไม่ต้องเร่งรีบ กดดันตัวเอง เขียนไปสบายๆ แต่ฝึกไม่หยุด
2 ลอกเลียนการใช้ภาษาของนักเขียนชั้นครู
บ้านเรามีนักเขียนชั้นครูภาษาสวยจำนวนมาก จอมยุทธ์แต่ละท่านฝึกมาคนละหลายสิบปี เช่น มนัส จรรยงค์ ไม้ เมืองเดิม ยาขอบ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ฯลฯ
การลอกในที่นี้ไม่ใช่การเดินตามรอยเดิม แต่คือการฝึกอย่างหนึ่ง ช่วยให้เข้าใจว่าทำไมเขาจึงใช้ภาษาอย่างนั้น แล้วค่อยๆ ขบคิด ฝึกไปเรื่อยๆ จนหลุดจากกรอบของนักเขียนครูเหล่านั้น เป็นสำนวนของเราเอง
อย่าลืมว่า หน้าที่แรกของนักเขียนคือเล่าเรื่อง เรื่องต้องดี น่าสนใจ มีมุมมองที่คนอ่านคิดไม่ถึง
ส่วนภาษาดีช่วยทำให้เรื่องนั้นสมบูรณ์
เหมือนจอมยุทธ์ในนิยายของโก้วเล้ง นอกจากจะฆ่าคนแล้ว ท่วงท่าในการฆ่ายังต้องงามด้วย
การใช้ภาษาดีและงดงามจะยกระดับงานเขียนเป็นศิลปะ
และงานเขียนที่เป็นศิลปะจะอยู่ยืนยาวกว่างานขียนปกติ
วินทร์ เลียววาริณ
17-5-25...............................
จากอีบุ๊ค #ปล่อยให้ความเหงาพาไป
ซื้อได้จากเว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/227/ปล่อยให้ความเหงาพาไป หรือ The Meb
0 วันที่ผ่านมา -
ชายคนหนึ่งออกจากบ้านในตอนเช้า หลังจากทะเลาะกับภรรยา เขาไม่ได้กลับบ้านอีกเลย เขาประสบอุบัติถึงแก่ความตาย
ความทรงจำสุดท้ายของผู้เป็นภรรยาคือการทะเลาะกันที่ยังไม่ได้คืนดี
โบราณเรียกความตายที่ยังมีเรื่องไม่สะสางว่า ตายตาไม่หลับ
นี่ทำให้เกิดความคิดว่า ทำไมเราไม่ใช้ชีวิตแต่ละวัน แต่ละชั่วยามอย่างดีที่สุด ไม่ให้เกิดสถานการณ์นี้ขึ้นมา
ใช้ชีวิตแต่ละช่วงกับคนอื่นเสมือนหนึ่งมันเป็นครั้งสุดท้ายที่พบกัน จากกันด้วยดี ด้วยความรัก ความปรารถนาดี
จอกแหนสองกอลอยมาพบกัน สัมผัสกันอย่างละมุน แล้วแยกจากกันตามแรงดึงของสายน้ำอย่างอ่อนโยน
นี่ก็คือแนวคิด อิชิโกะอิชิเอะ (一期一会) สำนวนญี่ปุ่นที่แปลตรงตัวว่า หนึ่งครั้งหนึ่งพบ
อ่านต่อได้จากลิงก์นี้ https://www.blockdit.com/posts/67fbd4d6efe2dd58bc45ab5c0 วันที่ผ่านมา -
1 วันที่ผ่านมา
-
ข่าวใหญ่วันนี้คือ ท่านรัฐมนตรีรักชาติไปตรวจตลาด เพื่อสร้างความสัมพันธที่ดีกับพ่อแม่พี่น้องกระชาชนที่ท่านรัก ท่านไปตรวจตลาดโดยไม่มีบอดีการ์ดใดๆ เพื่อให้เห็นว่าท่านก็เป็นชาวบ้านเดินดินธรรมดา
ท่านรัฐมนตรีรักชาติทักทายพ่อค้าแม่ค้าในตลาดอย่างสนิทสนม เป็นภาพที่น่าอบอุ่นหัวใจยิ่งนัก
ทันใดนั้นปรากฏชายห้าคนตรงเข้าไปรุมท่านรัฐมนตรีรักชาติ ทั้งเตะ ทั้งต่อย ทั้งอัดจนท่านรัฐมนตรีรักชาติกองบนพื้น หน้าตาฟกช้ำดำเขียว น่วมไปทั้งตัว หลังจากนั้นชายทั้งห้าก็หายตัวไปอย่างรวดเร็ว สร้างความตื่นตกใจแก่ผู้คนในละแวกนั้น
ตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ ส่งท่านรัฐมนตรีไปรักษาที่โรงพยาบาลไม่ทราบชื่อ หลังจากนั้นก็สอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์
ตำรวจตรงมาถามข้าพเจ้า ถามว่า "คุณอยู่ในเหตุการณ์หรือเปล่า?"
"อยู่ครับ" ข้าพเจ้าตอบ
"ท่าทางคุณก็แข็งแรง บึกบึน ทำไมคุณไม่เข้าไปช่วย?"
ข้าพเจ้ามองหน้าตำรวจ ตอบว่า "ผมก็อยากช่วยครับ แต่ผมเห็นว่าห้าคนก็เอาอยู่แล้วครับ"
..............
เล่าใหม่จากขำขันที่ได้ยินมา โดย วินทร์ เลียววาริณ
16-5-25ขอให้ทุกท่านมีความสุขในวันศุกร์ครับ
1 วันที่ผ่านมา -
มีคนสงสัยว่าบุคลิกตัวละคร พุ่มรัก พานสิงห์ สะท้อนคนเขียนหรือเปล่า
ในโลกของวรรณกรรม ตัวละครอาจจะสะท้อนบุคลิกของคนเขียนหรือไม่ก็ได้ทั้งคู่
และถ้าจะสะท้อนบุคลิกคนจริงๆ มากกว่าหนึ่งคนมารวมกันก็ได้เช่นกัน เช่น บุคลิกของพระเอกในเรื่องหนึ่งอาจมาจากเจ้านาย + ยามในบริษัท + ฆาตกรฆ่าต่อเนื่องคนหนึ่ง
หรือนางเอกอาจมาจากแม่ค้าในตลาด + แฟนเก่า + แฟนใหม่ + กิ๊ก
หรือกระทั่งบุคลิกของตัวละครชายอาจมาจากบุคลิกจริงของผู้หญิงคนหนึ่งก็ได้
แล้ว พุ่มรัก พานสิงห์ ล่ะ มีบุคลิกบางส่วนมาจากคนเขียนไหม?
ตัวละคร พุ่มรัก พานสิงห์ ปรากฏตัวครั้งแรกในบรรณพิภพปี 2545 มันเริ่มจากเพื่อนสนิทคนหนึ่งคิดจะทำหนังซีรีส์โทรทัศน์เกี่ยวกับนักสืบ ขอให้ช่วยเขียนบทให้ กำหนดว่าต้องการ 26 ตอน
เริ่มต้นจากศูนย์เลย
ก่อนหน้านั้นพี่เรืองเดช จันทรคีรี บรรณาธิการนิตยสารสืบสวน-ฆาตกรรม ‘รหัสคดี’ ก็กระตุ้นผมว่า อยากให้ผมลองเขียนนิยายนักสืบดูบ้าง
ก็เป็นที่มาของโครงการนักสืบคนใหม่ พุ่มรัก พานสิงห์
บุคลิก พุ่มรัก พานสิงห์ เกิดขึ้นแทบจะทันทีที่ได้รับโจทย์ ผมอยากได้นักสืบแบบไทยๆ ไม่ต้องเก่ง แต่กวน teen ผมไม่อยากได้นักสืบเก่ง ฉลาดแบบ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ผมอยากได้ความสนุกในการสืบคดีมากกว่า
บุคลิกนักสืบนักร้องเกิดขึ้นในนาทีที่ 11.22 วลี ‘เสี่ยวอีสาน’ เกิดขึ้นในนาทีที่ 18.25
ผลก็คือผมเขียนโครงการนี้รวดเดียวยี่สิบกว่าตอน
แต่โครงการ ทีวี ซีรีส์ ล้ม จึงตีพิมพ์ในนิตยสาร ตามมาด้วยการรวมเล่ม ตามมาด้วยการเขียนฉบับนวนิยายยาว
หลังจากนั้นก็มักเขียนเรื่องชุดนี้สักเล่มทุกปีหรือสองปี
แม้วางแนวทางของเรื่องว่านักสืบไม่ต้องเก่ง และเรื่องไม่ต้องซับซ้อนมาก แต่ปฏิกิริยาของคนอ่านบางท่านก็คือมักจะไปเปรียบกับนักสืบเก่งๆ ของต่างชาติ
พุ่มรัก พานสิงห์ จะไปสู้อะไรกับ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ เล่า พุ่มรักมั่วตลอด อาศัยลูกฟลุคบ่อยๆ
แต่ในเมื่อผู้อ่านท้ากลายๆ นานๆ ทีผมก็จะเขียนเรื่องที่ซับซ้อนมากๆ เช่น ฆาตกรรมจักรราศี คดีสามเงา ฆาตกรรมกุหลาบดำ เป็นต้น
ซับซ้อนจนคนเขียนงงเอง
เล่าออกนอกทะเลไปไกล ก็กลับมาที่คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ ตัวละครสะท้อนบุคลิกคนเขียน (ผม) หรือเปล่า
บุคลิกของ พุ่มรัก พานสิงห์ คือกวนตีน ตลกแบบ ‘แป้ก’ หรือมุขคาเฟ่ ขี้อ้อน เจ้าชู้ (ทางวาจา) จีบสาวไปทั่ว แต่เท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีพฤติกรรมหลายใจ ยังรักเดียวใจเดียวอยู่กับนางสาว Night Moon
บุคลิกเจ้าชู้แบบนี้ไม่ใช่คนเขียนแน่ๆ (คนเขียนเป็นคนเรียบร้อยจะตายไป!) จะมีจุดคล้ายกันก็คือเรื่องกวนตีนชาวบ้าน หาเรื่องชวนทัวร์ลง ที่เหลือไม่น่าจะใช่
มีคนเคยบอกว่า บางทีบุคลิกของตัวละครอาจสะท้อนด้านที่นักเขียนไม่มี แต่อยากมี
ก็อาจเป็นได้เหมือนกัลล์ เอ๊ย! เหมือนกัน บางทีผู้ชายหลายคนก็อยากเป็นคนเจ้าชู้แบบ พุ่มรัก พานสิงห์ หรือ เจมส์ บอนด์ เป็น escapism (หนีจากโลกความจริงหรือพาฝัน) อย่างหนึ่ง
บางทีนี่ก็คือเหตุผลที่โลกยังต้องมีนิยาย
...................................
จากอีบุ๊ค #ปล่อยให้ความเหงาพาไป
ซื้อได้จากเว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/227/ปล่อยให้ความเหงาพาไป หรือ The Meb
3 วันที่ผ่านมา