• วินทร์ เลียววาริณ
    6 เดือนที่ผ่านมา

    ลองจินตนาการว่าคุณอยู่ในช่วงไม่กี่นาทีสุดท้ายของชีวิต คุณกำลังจะตาย หายใจแผ่วลง ๆ เมื่อหมดลม ชีวิตคุณก็ดับสิ้น ลองจินตนาการต่อไปว่าคุณยังสามารถเห็นโลกหลังคุณตาย คุณเห็นตัวคุณจบบทบาทชีวิตในโลกนี้เพียงเท่านี้ แต่โลกยังคงหมุนต่อไป ไม่กี่ปีต่อมา คนส่วนใหญ่ลืมคุณไปแล้ว ยี่สิบปีผ่านไป อาจไม่มีใครสักคนบนโลกที่เคยรับรู้การดำรงอยู่ของคุณมาก่อน หนึ่งร้อยปีต่อมา คุณหายไปจากโลกตลอดกาล ราวกับคุณไม่เคยมีตัวตนอยู่ในโลกนี้ มันทำให้คิดและถามว่า อะไรคือความหมายของชีวิต ทำงานมาทั้งชีวิตเพื่ออะไรจริง ๆ ชีวิตมีแค่นี้เองหรือ?

    ผมผ่านอายุเลข 60 อย่างเงียบ ๆ พร้อมกับเพื่อน ๆ หลายคนที่เกษียณไปตามระบบ ทันใดนั้นเราก็พบว่าตนเองยืนอยู่ระหว่างชีวิตที่เหลือกับความตายที่อาจอยู่ไม่ห่างไกล หลายคนในสถานะนี้เกิดอาการหลงทาง ยืนอยู่ระหว่างความหงอยเหงากับความหมายของชีวิต

    คนจำนวนมากเป็นอย่างนี้ ก้มหน้าก้มตาหายใจ ทำงาน ทีละวัน ผ่านไป 35-40 ปี เรือชีวิตก็ปลดระวางเพราะสภาพเก่าพร้อมจมได้ทุกเมื่อ รู้สึกตัวอีกที ก็เป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้ว บางคนเพิ่งเริ่มเงยหน้ามองโลกจริง ๆ เป็นครั้งแรกในวันเกษียณ ถ้าไม่รู้จักเตรียมใจแต่แรก รู้สึกหลงทาง งงว่าจะไปทางไหนดี อาจจะรู้สึกตกใจก็ได้

    ทางพุทธสอนให้ตามทันชีวิต รู้ทันความเปลี่ยนแปลง และยอมรับความเปลี่ยนแปลง จึงไม่เกิดทุกข์

    ถ้าตามโลกไม่ทัน ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่ตรวจสอบตัวเอง เมื่อเดินทางถึงหลักไมล์ท้าย ๆ ของชีวิต อาจปรับตัวไม่ทัน

    เราไม่รู้ว่าเมื่อใดเราจะยุติบทบาทบนโลกนี้ มันอาจเป็นชั่วโมงหน้า อาจเป็นพรุ่งนี้ มะรืนนี้ ดังนั้นหากจะคิดเรื่องนี้ ก็ทำตอนนี้

    ไม่ว่าจะเป็นคนเกษียณหรือคนหนุ่มสาว ก็ควรตอบคำถามว่า เราใช้ชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมาคุ้มค่าไหม

    บางทีการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าไม่มีกติกาตายตัว มันขึ้นกับความพอใจ

    พอใจก็คุ้มค่า

    แต่ถ้ามิเพียงตนเองพอใจ ยังสามารถทำให้คนอื่นพอใจด้วย ก็ยิ่งคุ้มค่าขึ้นไปอีก

    ‘คุ้มค่า’ หมายถึงใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ มีความหมายและหรือมีความสุข

    จากหนังสือ เหตุผลที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า /วินทร์ เลียววาริณ

    2
    • 1 แชร์
    • 108
    Sak
    ปล่อยตัวกู ของกู
    ดูความเห็น 2 รายการ ...

บทความล่าสุด