• วินทร์ เลียววาริณ
    2 เดือนที่ผ่านมา

    ผมดูหนังของฉีเคอะตั้งแต่เรื่องแรกของเขา ที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งที่สิงคโปร์ คือเรื่อง The Butterfly Murders (蝶變) หนังแปลกแหวกแนวฉีกจากงานกำลังภายในทั่วไป ผมชอบจากนั้นก็ดูมาเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง ยอมรับว่าเขามีลูกบ้าพอตัว

    ฉีเคอะจับหนังกำลังภายในงานของกิมย้งครั้งแรกเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร ชื่อหนังที่เรารู้จักกันดีคือ เดชคัมภีร์เทวดา

    ฉีเคอะกล้าหาญและแหกคอกที่เอาตังฮึงปุกป่าย (มิชายมิหญิง) มาเป็นตัวเอก และให้นักแสดงหญิงหลินชิงเสียมารับบท ถือว่าแหวกแนวมาก

    หนังประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่กิมย้งเกลียดมัน

    กิมย้งรับไม่ได้ที่ฉีเคอะเอางานของเขาไป 'ตีความ' (สุภาพกว่าคำว่า 'ปู้ยี่ปู้ยำ') แบบนี้ และไม่อนุญาตให้ฉีเคอะเอาหนังสือของเขาไป 'ตีความ' อีก

    ตอนนี้กิมย้งจากโลกไปแล้ว ก็ถึงคิว 'ตีความ' มังกรหยก

    มังกรหยก เป็นนวนิยายเรื่องที่สามของกิมย้ง เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรม กิมย้งร่วมกับเนี่ยอู้เซ็งสร้างตระกูลวรรณกรรม (genre) ใหม่ สร้างยุทธภพแบบใหม่ขึ้นมา กิมย้งเป็นคนประดิษฐ์พรรคกระยาจกและอื่นๆ อีกมากมาย มังกรหยกเป็นหมุดหมายสำคัญของโลกหนังสือ

    กิมย้งถือเป็นปรมาจารย์นิยายกำลังภายใน หรือบู๊เฮียบ (武侠)

    บู๊คือการต่อสู้ วิทยายุทธ์สำนักต่าง ๆ มีทั้งเพลงมวยและเพลงอาวุธ อาวุธลับ ฯลฯ

    เฮียบคือความกล้าหาญ คุณธรรม ความเสียสละ

    นิยายตระกูลนี้คือการต่อสู้ในโลกสมมุติที่เรียกว่ายุทธจักร หรือบางเรื่องก็ใช้ฉากประวัติศาสตร์จริง เช่นที่กิมย้งทำ

    ถ้าหลุดออกจากธรรมนูญนี้ก็คือนิยายตระกูลอื่น ไม่ใช่นิยายบู๊เฮียบ

    ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา การสร้างหนังกำลังภายในเริ่มแบบ old school คือการต่อสู้ด้วยวิชาต่างๆ กระโดดขึ้นหลังคาหรือยอดไม้บ้าง แต่ยังหลุดจากหลักฟิสิกส์ไม่มากนัก

    ต่อมามันก็เปลี่ยนไปเป็นแฟนตาซี นั่นคือวิชาการต่อสู้พิสดารพันลึก หลุดพ้นกฎฟิสิกส์ทุกข้อ เช่น จอมยุทธ์เหาะได้ ฟาดฝ่ามือที แผ่นดินภูผาแตกกระจาย รัศมีเฮ้ากวงแผ่ไปทั่ว

    นี่ไม่ใช่บู๊เฮียบแล้ว นี่คือนิยายแฟนตาซี

    มังกรหยก ถูกสร้างเป็นหนังนับครั้งไม่ถ้วน เนื่องจากหนังสือมีเนื้อหายาว มีหลายมิติ ดังนั้นสามารถสร้างเป็นหนังคนละเรื่องกันได้

    ก็มาถึง มังกรหยก ฉบับล่าสุด (射雕英雄传:侠之大者) หรือ Legends of the Condor Heroes: The Gallants

    ถ้ากิมย้งยังมีชีวิตอยู่ ดูหนังเรื่องนี้แล้วคงไม่ปลื้ม เพราะมันไม่ใช่บู๊เฮียบ มันคือ Lord of the Rings และ Dracula Untold ฉบับจีน ที่มีความเป็นนิยายกำลังภายในสัก 30 เปอร์เซ็นต์

    ตัวละครพิษประจิมอาวเอี๊ยงฮงกลายเป็นลอร์ดเซารอน มีพลัง anti-gravity บินได้ มีพลังรังสีแผ่รอบตัว

    นี่ยังไม่ได้บอกว่าหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี แค่บอกว่ามันไม่ใช่หนังกำลังภายใน มันเป็นหนังแฟนตาซี

    เอาละ จะมาแนวแฟนตาซีก็ได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้กำกับ จะให้ก๊วยเจ็งถือปืนอย่างโรเมโอใน Romeo + Juliet ฉบับ บาซ เลอร์แมนน์ ก็ได้ คำถามคือแล้วหนังทำได้ดีหรือไม่

    หนังเปิดฉากเหมือนรวม recap ของเหตุการณ์ต่างๆ เป็นท่อนๆ แล้วคาดหวังว่าคนดูจะเข้าใจเอาเอง หนังใช้องค์ประกอบของนวนิยายของกิมย้งแบบแตะนิดหน่อย เราไม่รู้ว่าอินทรีสองตัวมาทำไม มันทำได้แค่ประกอบฉาก (เพราะนิยายกิมย้งเขียนถึง) หนังพูดถึงจอมยุทธ์ห้าคน แต่ใช้แค่อาวเอี้ยงฮงเป็นตัวหลัก อั้งฉิกกงโผล่หน้ามานิดหน่อย ที่เหลืออีกสามคนแค่เปรยๆ (เพราะนิยายกิมย้งเขียนถึง)

    หนังหยิบชิ้นส่วนต่างๆ ในนิยายมายำใหม่ โดยไม่ปูเรื่องว่าทำไม เราไม่เห็นพัฒนาการของตัวละคร เราไม่รู้ว่าคัมภีร์เก้าอิมจินเก็งมาจากไหน มีเพื่ออะไร เราไม่รู้ว่าเป็นที่หนึ่งในยุทธจักรแล้วจะทำไม ในความเห็นส่วนตัวของผม ปัญหาของหนังเรื่องนี้คือ sequence การเดินเรื่องที่สะดุดเป็นระยะ

    หนังมีโมเมนต์ดีหลายท่อน (ฉากสนามรบสุดท้ายคล้ายยืมมาจากฉากเฉียวฟงกลางสองทัพใน แปดเทพอสูรมังกรฟ้า) แต่ก็มีโมเมนต์ "มาทำไม" และ "อิหยังวะ" อีกหลายจุด

    มังกรหยก ฉบับนวนิยายนั้นมีองค์ประกอบมากมาย กิมย้งที่เป็นราชาแห่งซับพล็อตเขียนเรื่องย่อยรองรับ แต่ละเรื่องย่อยสนุกในตัวมันเอง โดยที่หนังสามารถเดินไปได้โดยไม่ต้องพึ่งแฟนตาซี เพราะเมื่อเปลี่ยนตระกูลหนังเป็นแฟนตาซี อารมณ์ก็เปลี่ยน

    หากชอบหนังแนว Lord of the Rings เรื่องนี้ก็ดูได้เพลินๆ หากไม่ถือสาว่าจอมยุทธ์บินได้ มีพลังอย่าง Dr. Strange ก็น่าจะเอนจอยหนัง พระเอกก็หล่อ นางเอกก็สวย แต่หากเป็นคองานหนังสือของกิมย้งที่เน้นบู๊กับเฮียบอย่างเคร่งครัด เก็บเงินไปซื้อ คดีเปลนม หรือ Mini Stoic ดีกว่า เพราะว่าเรื่องนี้ดูเผินๆ เป็นนิยายกำลังภายใน แต่ไม่ใช่

    6/10
    ฉายในโรงภาพยนตร์

    วินทร์ เลียววาริณ 
    24-2-25

    วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)

    0
    • 0 แชร์
    • 56

บทความล่าสุด