• วินทร์ เลียววาริณ
    2 เดือนที่ผ่านมา

    (ต่อจากโพสต์ https://www.facebook.com/photo?fbid=1234051238083565&set=a.208269707328395)

    กิมย้งอยากทำงานสายการทูต จึงไปเรียนที่โรงเรียนการปกครองที่ฉงชิงในปี 1944 แต่ก็ถูกบีบให้ออกอีก หลังจากวิจารณ์พฤติกรรมของพวกก๊กมินตั๋ง

    เขาเรียนต่อด้านภาษาต่างประเทศในมหาวิทยาลัยที่ฉงชิง แต่เรียนไม่จบ หันไปเรียนด้านกฎหมายนานาชาติแทน ตั้งใจจะทำงานสายการต่างประเทศ

    เขาเรียนจบมหาวิทยาลัยด้วยปริญญากฎหมายระหว่างประเทศ

    แต่กลิ่นหมึกดึงเขากลับไปสู่การพิมพ์จนได้ เขาเข้าสู่สายนักข่าว เริ่มจากงานผู้สื่อข่าวให้ Southeastern Daily ที่เมืองหังโจว ปี 1946

    ปีถัดมาก็ไปทำงานที่เซี่ยงไฮ้กับหนังสือพิมพ์ต้ากงเป้า ทำงานเป็นนักแปลข่าวต่างประเทศ หลังจากนั้นก็ถูกย้ายไปทำงานที่สาขาฮ่องกง และพบเนี่ยอูเซ็งที่นั่น และร่วมสร้างนิยายกำลังภายในสมัยใหม่

    ปี 1957 กิมย้งลาออกจากงานหนังสือพิมพ์ ไปทำงานเขียนหนังสือและบทภาพยนตร์ เขายังร่วมกำกับหนังด้วย โดยใช้ชื่อ ฉาจินหยง เช่น เรื่อง The Nature of Spring (有女懷春) ในปี 1958 Bride Hunter (王老虎搶親) ในปี 1960 เป็นต้น

    ความสำเร็จของ มังกรหยก ทำให้เขาได้ทุนก้อนหนึ่งไปร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์หมิงเป้าในปี 1959 เขาเป็นหัวหน้าบรรณาธิการ เขียนนิยายและ บทความควบคู่กันไป

    ในช่วงต้นหมิงเป้าเกือบไปไม่รอด แต่นวนิยายกำลังภายใน มังกรหยก ภาค 2 ที่ลงตอนต่อตอนทำให้หมิงเป้าหายใจต่อไปได้ หมิงเป้ายังตีพิมพ์นิยายของนักเขียนอื่น ๆ ด้วย และมีนิยายหลากหลายประเภท

    ขณะทำงานก่อร่างสร้างหมิงเป้า เขาเขียนหนังสือวันละหมื่นคำ ทำงานมือเป็นระวิง เล่ากันขำ ๆ ว่าเขาใช้มือขวาเขียนบทความ และมือซ้ายเขียนนิยายกำลังภายใน

    ณ จุดนั้น กิมย้งมีบทบาทมากกว่านักประพันธ์ เขาเขียนบทความวิเคราะห์วิจารณ์การเมืองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาเจ๋อตงและนโยบายที่ ผิดพลาดหลายอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์ เช่น ความอดอยากที่เกิดจากแผนพัฒนาประเทศห้าปีที่เรียกว่า แผนก้าวกระโดดไปข้างหน้า (大躍進 The Great Leap Forward) ที่ทำให้คนตายไปอาจสูงถึง 55 ล้านคน และการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่คนมากมายตกเป็นเหยื่อการเมือง

    กองบรรณาธิการของหมิงเป้ามีนักประวัติศาสตร์และกวีหลายคนที่มาจากเมืองจีน ทำให้หนังสือพิมพ์มีความหลากหลาย และให้ภาพจริงของเมืองจีน

    กิมย้งเขียนต่อต้านเรื่องการปฏิวัติวัฒนธรรม ทั้งบทความและสอดแทรกในนิยาย ตัวละครจอมยุทธ์ที่บ้าอำนาจ แย่งชิงอำนาจในนิยายของเขาล้วนสะท้อนความเป็นไปในโลกจริง

    อัจฉริยภาพของกิมย้งคือการสร้างของใหม่ สร้างโลกใหม่ กิมย้งสร้างจักรวาลบู๊ลิ้มที่น่าตื่นตะลึง เช่นเดียวกับที่ จอร์จ ลูคัส สร้างจักรวาลใหม่ของเขาในงานชุด Star Wars งานของเขาถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแล้วครั้งเล่า ตัวละครเป็นที่จดจำและชื่นชอบ

    กิมย้งหยุดเขียนนิยายในปี 1972 เมื่ออายุ 48 ใช้เวลาที่เหลือขัดเกลาปรับปรุงนิยายทั้งหมดถึงสองรอบ งานของเขาแปลเป็นภาษาไทย เวียดนาม ญี่ปุ่น อังกฤษ ฯลฯ

    งานเขียนของกิมย้งเข้ามาในเมืองไทยเร็วมาก คือ พ.ศ. 2501 ต้องยกเครดิตให้สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ของ เวช กระตุฤกษ์ ที่ตีพิมพ์ มังกรหยก แปลโดย จำลอง พิศนาคะ โดยมีเครดิตร่วมกับ ประยูร พิศนาคะ นิยายแปลเรื่องนี้ดังระเบิด คนไทยไม่เคยอ่านเรื่องอย่างนี้มาก่อน

    กิมย้งเป็นเจ้าแห่งการแต่งซับพล็อตที่ร้อยรวมกันเป็นเรื่องใหญ่ จนเหง่ยคัง นักเขียนบทภาพยนตร์และเพื่อนสนิทของกิมย้งกล่าวว่าเป็น ‘ภูษาสวรรค์ไร้ตะเข็บ’

    วิทยายุทธแปลก ๆ กระบวนท่าพิสดาร เหล่านี้เป็นเพียงองค์ประกอบให้เรื่องสนุก แต่หากอ่านให้ลึกกว่าความสนุก จะพบว่าตัวละครมีความลึกและมีพัฒนาการ หากอ่านต่อไปอีกก็จะพบสาระที่ซ่อนอยู่ เช่นผลกระทบของการเมือง

    เขามักรวมประสบการณ์ตรงกับจินตนาการเป็นนวนิยาย เช่น ในเรื่อง กระบี่ใจพิสุทธิ์ ตัวละคร ‘เต๊กฮุ้น’ จำลองมาจากคนจริง เป็นคนงานในบ้านของกิมย้ง ถูกติดคุกอย่างไม่เป็นธรรม ปู่ของกิมย้งลอบช่วยเขาออกมาจากคุก

    นอกจากพล็อตสนุก สาระที่ซ่อนอยู่แล้ว สิ่งที่กิมย้งนำเสนอเสมอคือความเป็นมนุษย์

    กิมย้งเขียนถึงธาตุแท้จิตใจคนได้ดีที่สุด โดยให้พฤติกรรมของตัวละครแสดงให้ผู้อ่านเห็นเอง

    อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในงานของเขาคือหัวใจ กิมย้งเขียนงานโดย ‘อิน’ กับตัวละครมาก เขาร้องไห้เมื่อเขียนถึงตอนที่เอี้ยก้วยรอเซี่ยวเล้งนึ้งนานสิบหกปี แล้วพบว่าเป็นการรอคอยที่สูญเปล่า

    เขาร้องไห้เมื่อเขียนถึงตอนที่เตียบ่อกี้ต้องลาจากเซี่ยวเจียว

    เมื่อเฉียวฟงฆ่าคนรักของเขาด้วยความเข้าใจผิด เขาก็ร้องไห้หนัก

    เพราะเขาเขียนด้วยหัวใจ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่งานของเขาแตะหัวใจผู้อ่านตลอดมา

    นามปากกากิมย้งหรือจินหยง (金庸) สะท้อนนิสัยใจคอของเขา กิมย้งเป็นนักเขียนที่รอบรู้มาก แต่ถ่อมตนอย่างที่สุด

    กิมย้งแปลตรงตัวว่าทองธรรมดา

    金 (จิน หรือกิม) = ทอง

    庸 (หยง หรือย้ง) = ธรรมดาสามัญ

    ตั้งชื่อตัวเองว่า ‘ธรรมดาสามัญ’ ย่อมสะท้อนว่าเป็นคนถ่อมตัว

    คำว่ากิมหรือทองในที่นี้อาจใช้เป็นแซ่ก็ได้ เพราะมันมาก่อนคำว่าหยง (ภาษาจีนคุณศัพท์มาก่อนคำนาม) แต่จะตีความว่ากิมคือความบริสุทธิ์ ความสูงส่งก็ได้

    กิม+ย้ง จึงมีความหมายว่า ‘ทองธรรมดา’ แต่ฟังดูย้อนแย้ง เพราะทองย่อมไม่ธรรมดา

    เราอาจตีความว่า “มองเห็นทองเป็นเรื่องธรรมดา” ก็ย่อมได้ หรือจะหมายถึง ‘สูงสุดคืนสู่สามัญ’ ก็น่าจะได้ เพราะเป็นทองอันงำประกาย คล้าย ๆ เพชรในตม

    วงการบู๊ลิ้มยกย่อง ‘ทองธรรมดา’ ผู้นี้ว่า เป็นทองที่หายากนัก คนในวงการหนังสือกล่าวว่า “หนึ่งร้อยปีมีกิมย้งหนึ่งคน”

    ผมรู้สึกว่าหนึ่งร้อยปีอาจประเมินต่ำไปหน่อย อย่างต่ำต้องห้าร้อยปี

    ทำไมในรอบร้อยปีมีคนเดียว?

    ในมุมมองของนักเขียน ผมเชื่อว่าเป็นเพราะงานของกิมย้งประกอบด้วยโครงเรื่องยอดเยี่ยม + ความสนุกเต็มอัตรา + ตัวละครมีมิติและมีสีสัน + ฉากประวัติศาสตร์ที่สมจริงและสนุก นอกจากนี้ในบางเรื่องมีคอนเส็ปต์ที่แรง เช่น คอนเส็ปต์เรื่องความดีความเลวและอำนาจใน กระบี่เย้ยยุทธจักร คอนเส็ปต์เรื่องอำนาจมิได้มาจากความดีงามใน อุ้ยเซี่ยวป้อ และนี่ก็คือสาระที่ผู้เขียนมอบให้มากกว่าแค่ความบันเทิง

    ตลอดชีวิตนักประพันธ์ กิมย้งเขียนนวนิยายเพียง 15 เรื่อง แทบทั้งหมดเป็นเรื่องยาว และเป็นนิยายกำลังภายในอิงประวัติศาสตร์

    จุดเด่นของงานของกิมย้งคือ หลอมเนื้อเรื่องเข้ากับฉากประวัติศาสตร์อย่างกลมกลืน และมักใช้บุคคลจริงเป็นตัวละคร

    ผมเขียนหนังสือ ยุทธจักรวาลกิมย้ง ก็เพื่อสำรวจฉากประวัติศาสตร์ในนวนิยายของเขา

    ยิ่งค้นคว้าก็ยิ่งพบว่าประวัติศาสตร์จริงนั้นสนุกผิดคาด หลายท่อนสนุกกว่าเรื่องแต่งเสียอีก

    ในตอนต่อๆ ไป จะเล่าประวัติศาสตร์จีนที่กิมย้งใช้เป็นฉากนวนิยายของเขา เรียงตามลำดับเวลา

    โปรดติดตาม

    วินทร์ เลียววาริณ
    2-3-25

    .....................
    ยุทธจักรวาลกิมย้ง 
    https://www.winbookclub.com/store/detail/186/ยุทธจักรวาลกิมย้ง 

    โปรโมชั่นพิเศษ https://www.winbookclub.com/store/detail/189/โปรโมชั่น%203%20in%201%20ชุด%20S2 

    0
    • 0 แชร์
    • 37

บทความล่าสุด