-
วินทร์ เลียววาริณ3 วันที่ผ่านมา
พรุ่งนี้ The Last of Us Season 2 เข้า วันนี้จึงนำรีวิวเก่าของ Season 1 มาลง ฟื้นความจำ
เมื่อหกปีก่อน มีหนังมินิซีรีส์ชุดหนึ่งมาฉาย ชื่อ Chernobyl เรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์โรงปฏิกรณ์ปรมาณูที่เชอร์โนบิลรั่ว หนังชุดนี้เขียนบทโดย Craig Mazin เขาเป็นนักเขียนบทที่คนนอกวงการไม่ค่อยรู้จัก เพราะเขาเคยทำแต่หนังตลาด เช่น Scary Movie 3, Scary Movie 4, The Hangover Trilogy แต่คนในวงการมักไปปรึกษาเขาเสมอเรื่องบทและทิศทางหนัง รวมทั้งคนสร้าง Game of Thrones
วันหนึ่งเขานำบท Chernobyl ไปเสนอ HBO ผู้ใหญ่ของ HBO ก็เจอเขาอย่างเสียไม่ได้ เพราะมีคนฝากฝังมาอย่างดี แต่หลังจากอ่าน pitch (โครงการหนัง) ของเขาแล้ว ผู้ใหญ่ของ HBO ก็ร้องว่า "เฮ้ย! มันเป็น pitch ที่ดีที่สุดในรอบ 25 ปีในวงการของผม"
Chernobyl ถูกสร้างจนได้ แต่ HBO ให้เวลาฉายเท่าที่มีเหลือ เพราะไม่คิดว่าจะมีคนดูมาก ปรากฏว่า Chernobyl ได้รับคำชมล้นหลาม กวาดรางวัล Emmy มาหลายตัว (ผมให้คะแนน 10/10) เป็นมินิซีรีส์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์โทรทัศน์ (ตอนนี้ยังฉายอยู่ที่ HBO)
วัฒนธรรมองค์กรของ HBO คือ หากผู้สร้างรายใดสร้างหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง จะพิจารณาโปรเจ็คต์ถัดไปให้เป็นพิเศษ ไม่ว่าโครงการนั้นจะพิสดารหรือมีสิทธิ์เจ๊งเพียงใดก็ตาม
Craig Mazin นำโครงการ The Last of Us ไปเสนอเป็นงานถัดมา
HBO กุมหัวเล็กน้อย เพราะมันเป็นโครงการใหญ่ ลงทุนมหาศาล (150 ล้านดอลลาร์) แต่เชื่อมือคนเขียนบท ก็เปิดไฟเขียว
The Last of Us ได้เกิด และเพียงตอนแรก มันก็เป็นหนังฮิต ผ่านถึงตอนที่สาม ทุกคนก็บอกว่านี่เป็นซีรีส์ยอดเยี่ยมแห่งปี
The Last of Us เป็นซีรีส์โทรทัศน์ที่สร้างจากเกม เขียนบทแทบทั้งหมดโดย Craig Mazin
คราวนี้เขาพาเราไปสู่โลกซอมบี้ที่ไม่ใช่โลกซอมบี้ มันเป็นหนังแนวซอมบี้ที่แทบจะไม่ใช่หนังซอมบี้ ซอมบี้เป็นเพียงฉากของเรื่องเท่านั้น ตัวหลักของเรื่องคือพฤติกรรมของคนภายใต้วิกฤตการณ์และการเอาตัวรอด
จุดหนึ่งที่ทำให้หนังซอมบี้เรื่องนี้ต่างจากหนังซอมบี้อื่นๆ คือ มันเสียบสาระในทุกบททุกตอน มันตั้งคำถามต่างๆ เกี่ยวความเป็นมนุษย์ ความแตกต่างระหว่างคนกับซอมบี้ ด้านมืดของคน ฯลฯ ล้วนเป็นคำถามที่ตอบยาก และชวนให้ขบคิดต่อ
นี่ทำให้หนังเรื่องนี้ลึกกว่าหนังซอมบี้ไล่กัดคนแล้วโดนยิงหัวกระจายส่วนใหญ่ หนังยังเข้าไปในพื้นที่ของอารมณ์ emotion ซึ่งหายากในหนังตระกูลนี้
โดยรวมเป็นหนังที่สนุก ตื่นเต้น มีหัวใจ
จุดเด่นที่สุดคือบทหนังของ Craig Mazin บทสนทนากระชับ แทบไม่มีประโยคส่วนเกินเลย และใช้ภาษากายมาก
นี่เป็นงานระดับมาสเตอร์ ที่ซ่อนอยู่ในหนังตระกูลที่ดูเผินๆ เซมเซม
ไม่ว่าจะดูในมุมของหนังเกม หนังซอมบี้ หรือหนังทั่วไป มันก็คือเพชรเม็ดงามที่ไม่น่าพลาด
10/10
HBO0- แชร์
- 22
-
0 วันที่ผ่านมา
-
ผมได้รับนาฬิกาข้อมือเรือนแรกตอนอายุ 17 เมื่อต้องไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ พ่อจึงเจียดเงินซื้อนาฬิกาเก่าๆ ให้หนึ่งเรือน พอใช้บอกเวลาได้
เจ็ดปีต่อมา ผมซื้อนาฬิกาเรือนแรกด้วยเงินเดือนตัวเองตอนไปทำงานที่สิงคโปร์ ยี่ห้อ Bulova ราคาประมาณสัก 150 เหรียญ (1,500 บาท - เวลานั้นหนึ่งเหรียญ = 10 บาท) ต่อมาก็เปลี่ยนอีกหลายเรือน ส่วนมากราคาไม่แพง ไม่ใช่ไม่ชอบของแพง แต่ไม่มีปัญญาซื้อ
จนมาถึงจุดจุดหนึ่ง ก็ล้างมือในอ่างทองคำ เลิกสวมนาฬิกาข้อมือ
มันเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตอย่างหนึ่ง ไม่รู้ว่าคิดอะไรอยู่ในวันที่ตัดสินใจเลิกสวมนาฬิกา แต่มันก็ทำให้รู้สึกเบาตัว ไม่ต้องยกมือขึ้นลงวันละหลายรอบ อาจเป็นก้าวแรกๆ ของชีวิต minimalism
จนถึงวันนี้ ผมไม่สวมนาฬิกามาราวๆ สามสิบปีแล้ว กลายเป็นความเคยชิน ไม่ได้รู้สึกแปลกอะไร
ที่สำคัญคือไม่เคยมีปัญหาเรื่องไม่ตรงเวลานัดหมาย เพราะจะว่าไปแล้ว การตรงต่อเวลาไม่ได้ขึ้นกับว่าสวมหรือไม่สวมนาฬิกา สวมนาฬิกาแพงหรือถูก
อีกประการรอบตัวเราทุกวันนี้เต็มไปด้วยนาฬิกา
ข้อมือว่างมานานจนชินเหมือนม้าป่าไร้บังเหียน
ไม่ได้แอนตี้นาฬิกาหรอกนะ เพราะยังชอบดูดีไซน์นาฬิกา เพียงแต่ไม่มีกิเลสอยากเป็นเจ้าของนาฬิกาแพงๆ เท่านั้น
จนกระทั่งโลกโคจรมาถึงหลักไมล์แห่งนวัตกรรมที่เรียกว่านาฬิกาสุขภาพ คราวนี้ผมเริ่มสนใจ เพราะบางครั้งก็อยากใช้วัดชีพจรตัวเองว่าเวลาอยู่ใกล้สาวๆ มันเต้นเป็นปกติหรือเปล่า
การสวมนาฬิกาสุขภาพน่าจะทำให้เรารู้ว่าออกกำลังกายพอหรือเปล่า ฯลฯ
เวลานี้เพื่อนๆ ในวัยเดียวกับผมสวมนวัตกรรมชนิดนี้เพื่อดูสุขภาพ เป็นอุปกรณ์ที่ดีชนิดหนึ่งโดยเฉพาะคนวัยทอง แต่เมื่อนึกว่าต้องสวมเฟอร์นิเจอร์ที่ข้อมือ และก้มดูทุกชั่วโมงว่าวันนี้เดินไปกี่ก้าวแล้ว ก็เปลี่ยนใจ
คิดว่าจะใช้วิธี ‘แมะ’ แบบหมอจีนก็แล้วกัน
ก็ว่าจะรอจนมีเทคโนโลยีสุขภาพแบบอื่นที่ไม่ใช่นาฬิกา เช่น เครื่องจักรนาโนที่ฝังในร่างกาย ส่งข้อมูลตรงไปที่สมอง
แต่เกรงว่าจะตายก่อนโลกมีเทคโนโลยีนี้
ถ้าตายไปแล้ว หากทำพิธีกงเต๊ก ช่วยเผานาฬิกาสุขภาพไปให้สักเรือน เอาแบบแพงๆ หน่อยนะ
อยู่บนสวรรค์เห็นนางฟ้ามากมาย ใจอาจเต้นผิดจังหวะ ถ้าได้นาฬิกากงเต๊กช่วย ก็น่าจะดี
วินทร์ เลียววาริณ
16-4-250 วันที่ผ่านมา -
ในเกม geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์หรือการเมืองโลก) การเดินหมากต้องแม่น และบางครั้งต้องเร็ว
เมื่อวานนี้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไปเยือนเวียดนาม เซ็นข้อตกลงไป 45 ฉบับ
หลังจากถูกประธานาธิบดีทรัมป์อัดด้วยกำปั้นสวมนวมยี่ห้อ TARIFF
นวมยี่ห้อ TARIFF นี้ทำมาจากเหล็ก 145% อัดแล้วจุก ฮุกแล้วเจ็บ
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงทำแผลแล้วออกเดินทางทันที ไปเวียดนาม ตามด้วยมาเลเซีย และกัมพูชา
คุยเรื่องสร้างพันธมิตรทางการค้าใหม่
ไม่แวะบ้านเรา
สีจิ้นผิงบอกว่าลัทธิกีดกันทางการค้าไม่เกิดประโยชน์แก่ใคร สงครามการค้าเป็น lose-lose situation
นวมยี่ห้อ TARIFF ไม่เพียงทำให้จีนต้องหาตลาดใหม่ ยังทำให้ประเทศทั้งหมดต้องมองเรื่องเศรษฐกิจใหม่
จีนต้องสร้างกลุ่มการค้าใหม่ แทนที่สหรัฐฯ อาจ 100%
เวียดนามกับอินเดียนั้นเล่นเกมเป็น คบทั้งจีนและสหรัฐฯ
เมื่อวานนี้เพิ่งได้ดูเทปคำปราศรัยต่อสภาของนายกฯสิงคโปร์ ลอเรนซ์ หว่อง
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นเขาพูด เป็นการประชุมเรื่องผลจากการถูกอัดด้วยกำปั้นสวมนวมยี่ห้อ TARIFF
ใช่ สิงคโปร์ก็ถูกอัด
แต่ ลอเรนซ์ หว่อง อัดกลับแบบนิ่มๆ สุภาพทุกคำ
ลอเรนซ์ หว่อง บอกว่าสิงคโปร์ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ จึงไม่มีเหตุผลที่สหรัฐฯจะอัดสิงคโปร์ด้วย นวมยี่ห้อ TARIFF
"เพื่อนกันไม่ทำเพื่อนแบบนี้"
แรง ตรง แต่ไม่ใช้อารมณ์
คำปราศรัยสั้น ประชับ พูดเป็นฉากๆ บอกที่มาที่ไปชัดเจน อธิบายเหตุผล วิเคราะห์สถานการณ์ชัดเจน
ที่สำคัญคือบอกว่าจะทำอย่างไรต่อไป
เขาบอกว่าสิงคโปร์จะเจ็บ แต่พวกเขาจะสร้างลูกค้าใหม่ ตอนนี้เขาก็เริ่มเดินสายไปแล้วหลายประเทศ
ไม่มีการรอแม้นาทีเดียว
ในเกม geopolitics บางครั้งการเดินหมากต้องแม่นและเร็ว
วินทร์ เลียววาริณ
15-4-251 วันที่ผ่านมา -
หลังจากท่านประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีการค้า หุ้นทั่วโลกก็ดิ่งลงเหว ครั้นท่านประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศว่า "รอไว้ก่อน" หุ้นก็ขึ้นอีก
หุ้นโลกเราขึ้นๆ ลงๆ เปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งกว่าอารมณ์ภรรยา
ข้าพเจ้าเริ่มสงสัยว่า หากตลาดหุ้นแปรปรวนตามข่าว มันก็ดูเหมือนเรามิได้เล่นหุ้น แต่หุ้นเล่นเรา
หรือว่าข้าพเจ้าคิดมิถูก?
ข้าพเจ้าเล่นหุ้นมาหลายปี รายได้ขึ้นบ้างลงบ้าง แต่ขึ้นมากกว่าลง แต่ก็หากินแบบนี้มาตลอด
วันหนึ่งข้าพเจ้ากินข้าวในศูนย์อาหารของตลาดหุ้น ใช้ไอแพดดูกราฟการขึ้นลงของหุ้นไปด้วย
ขอทานผอมโซคนหนึ่งหน้าตามอมแมมเดินมาหาข้าพเจ้า ท่าทางหิวโหย ยื่นมือมาหา
“ขอเงินกินข้าวหน่อยเถอะครับ”
ข้าพเจ้าสบตาขอทาน เห็นสีหน้าเศร้าสร้อยเงื่องหงอย ข้าพเจ้ารู้สึกสงสาร จึงให้เงินขอทานไปซื้ออาหาร ขอทานกล่าวขอบคุณ ซื้ออาหารแล้วก็นั่งกินข้าง ๆ ข้าพเจ้า ขณะที่ข้าพเจ้าดูหุ้นต่อ
ในช่วงหนึ่งขอทานชะโงกหน้าดูจอของข้าพเจ้า แล้วเอ่ยว่า “หุ้นตัวนี้ราคากำลังจะพุ่งขึ้นแล้ว”
ข้าพเจ้าเลิกคิ้ว หันไปดูเขา
“คุณรู้ได้ยังไง?”
“ก็ดูเส้น moving average เห็นค่า MA50 ราคาแตะเส้น support ก็มี reversal และเมื่อดูจากการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA แล้ว ราคาหุ้นกำลังจะขึ้น แต่ถ้าให้แน่ใจ น่าจะใช้เส้น EMA ระบุทิศทางของแนวโน้มราคาหุ้นในวันนี้เพื่อหาจังหวะขายหรือจังหวะ short...”
ข้าพเจ้าตกใจ ถามขอทานว่า “เอ๊ะ! คุณรู้เรื่องเทคนิคหุ้นด้วย?”
ขอทานผอมโซตอบว่า “ก็เพราะรู้ วันนี้จึงเป็นอย่างนี้ไง”
...........
วินทร์ เลียววาริณ
เล่าใหม่จากขำขันที่ได้ยินมาขอให้มีความสุขกับสงกรานต์อีกวัน
1 วันที่ผ่านมา -
หนังฮอลลีวูดส่วนใหญ่วางโครงเรื่องแบบที่เรียกว่า The three-act structure
แบ่งเรื่องเป็นสามท่อน
The first act วางรากตัวละคร เหตุการณ์ และมีบางสิ่งเกิดขึ้น หรือ Setup
The second act ตัวละครพยายามแก้ปัญหาจาก The first act ความขัดแย้งต่างๆ
The third act การแก้ปัญหา ไคลแม็กซ์ บทสรุป
หนังส่วนใหญ่อยู่ในโครงสร้างแบบนี้ ยกเว้นหนังแนวทดลอง เช่น Pulp Fiction ของ เควนติน ทาแรนติโน Memento ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน
งานอย่าง Oppenheimer ของโนแลน ก็ยังจัดว่าเข้าข่าย The three-act structure
หนังโรงเรื่องล่าสุดที่ผมดูคือ The Amateur ก็เดินตามสูตรสามท่อนนี้
The Amateur เป็นหนังจารกรรมสายลับ การเล่าเรื่อง จังหวะเรื่อง โทนหนัง ทุกอย่างเดินตามหลักมาตรฐาน ไม่มีจุดผิดพลาด แต่ที่แปลกคือ หนังในภาพรวมกลับไม่รู้สึกว่าไปถึงจุดที่เราอินกับเรื่องมาก ทั้งที่องค์ประกอบหนังมีครบทุกอย่าง
ทำไม?
ข้อแรก น่าจะเพราะเรื่องไม่ค่อยสมจริง
(มีสปอยเลอร์)
ตัวเอกเป็นนักวิเคราะห์ในองค์การซีไอเอ (เหมือน แจ็ค ไรอัน) เมื่อภรรยาถูกคนร้ายฆ่า ก็ข่มขู่หัวหน้า เพื่อจะลงภาคสนาม ไปสู้กับพวกก่อการร้ายมืออาชีพ ทั้งที่ไม่เคยใช้อาวุธ
พล็อตนี้ไม่ว่าจะพยายามอุดช่องโหว่อย่างไร ก็ไม่สมจริงแต่แรก
คริสโตเฟอร์ ลี เคยรับบทคนร้ายในหนัง เจมส์ บอนด์ เรื่อง The Man with the Golden Gun เป็นลูกพี่ลูกน้องกับ เอียน เฟลมมิง ผู้แต่งหนังสือชุดบอนด์ บอกว่า หนังสายลับต้องมีความสมจริง ส่วนหนัง เจมส์ บอนด์ นั้น ไม่สมจริงเลย
เขาบอกว่า "สายลับที่สูงกว่าหกฟุต หล่อลากดิน ขับรถหรูคนนี้ไม่มีทางอยู่รอดในโลกของสายลับจริงเกินสามนาที!"
เพราะโลกของสายลับจริงไม่ใช่สนามเด็กเล่นของมือสมัครเล่น
ในโลกสายลับ ยากที่คนที่ไร้ประสบการณ์จะเข้าไปทำเรื่องของมืออาชีพ
.....................
ข้อสอง พล็อตค่อนข้างคลิเช่ หนังแนวนี้สร้างมามาก ในยุค 70 พระเอก อเลน เดอลอง รับบทแบบนี้อยู่เรื่อง รถถูกระเบิด ลูกเมียตาย ตามล่าคนร้าย
เมื่อเทียบกับ spy thriller หลายเรื่องในรอบหลายปีนี้ เช่น The Old Man, The Night Manager, All the Old Knives (Laurence Fishburne เล่นเป็นตัวประกอบเช่นกัน) ล้วนทำได้อารมณ์ตื่นเต้นกว่า ทั้งที่มีองค์ประกอบน้อยกว่าหรือเทียบกับหนังที่ไม่ใช่ spy thriller ของ เดวิด ฟินเชอร์ ที่เพิ่งออกมาไม่นาน The Killer ตัวเอกตามล่าคนร้ายที่ทำร้ายภรรยา ทั้งที่เรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เราก็ยังรู้สึกตื่นเต้น และคาดเดาตอนจบไม่ได้
นี่คล้ายบอกว่า คนดูไม่เพียงต้องการความสดใหม่กว่าเดิม ยังต้องการการเล่าเรื่องที่สดใหม่กว่าเดิม และไม่จำเป็นต้องเป็น The three-act structure
อย่างไรก็ตาม The Amateur ก็เป็นหนังให้ความบันเทิงในระดับหนึ่ง แลเห็นความประณีตของงานทั้งเรื่อง น่าเสียดายที่พล็อตออกจะเป็น 'The Amateur' ตามชื่อ
ป.ล. (สปอยเลอร์) ฉากที่หญิงรัสเซีย (Inquiline) ขอนอนกอดกับพระเอก เหมือนฉากที่นักบินอวกาศหญิงรัสเซียขอกอด Dr. Heywood Floyd ในหนังไซไฟ 2010 สาวรัสเซียเหมือนกัน!
7.5/10
ฉายในโรงภาพยนตร์วินทร์ เลียววาริณ 14-4-25
(มาตรการให้คะแนนของ วินทร์ เลียววาริณ : ความคิดสร้างสรรค์ + สาระ + ศิลปะการเล่าเรื่อง)
วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)
2 วันที่ผ่านมา