• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    ผมได้รับนาฬิกาข้อมือเรือนแรกตอนอายุ 17 เมื่อต้องไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ พ่อจึงเจียดเงินซื้อนาฬิกาเก่าๆ ให้หนึ่งเรือน พอใช้บอกเวลาได้

    เจ็ดปีต่อมา ผมซื้อนาฬิกาเรือนแรกด้วยเงินเดือนตัวเองตอนไปทำงานที่สิงคโปร์ ยี่ห้อ Bulova ราคาประมาณสัก 150 เหรียญ (1,500 บาท - เวลานั้นหนึ่งเหรียญ = 10 บาท) ต่อมาก็เปลี่ยนอีกหลายเรือน ส่วนมากราคาไม่แพง ไม่ใช่ไม่ชอบของแพง แต่ไม่มีปัญญาซื้อ

    จนมาถึงจุดจุดหนึ่ง ก็ล้างมือในอ่างทองคำ เลิกสวมนาฬิกาข้อมือ

    มันเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตอย่างหนึ่ง ไม่รู้ว่าคิดอะไรอยู่ในวันที่ตัดสินใจเลิกสวมนาฬิกา แต่มันก็ทำให้รู้สึกเบาตัว ไม่ต้องยกมือขึ้นลงวันละหลายรอบ อาจเป็นก้าวแรกๆ ของชีวิต minimalism

    จนถึงวันนี้ ผมไม่สวมนาฬิกามาราวๆ สามสิบปีแล้ว กลายเป็นความเคยชิน ไม่ได้รู้สึกแปลกอะไร

    ที่สำคัญคือไม่เคยมีปัญหาเรื่องไม่ตรงเวลานัดหมาย เพราะจะว่าไปแล้ว การตรงต่อเวลาไม่ได้ขึ้นกับว่าสวมหรือไม่สวมนาฬิกา สวมนาฬิกาแพงหรือถูก

    อีกประการรอบตัวเราทุกวันนี้เต็มไปด้วยนาฬิกา

    ข้อมือว่างมานานจนชินเหมือนม้าป่าไร้บังเหียน

    ไม่ได้แอนตี้นาฬิกาหรอกนะ เพราะยังชอบดูดีไซน์นาฬิกา เพียงแต่ไม่มีกิเลสอยากเป็นเจ้าของนาฬิกาแพงๆ เท่านั้น

    จนกระทั่งโลกโคจรมาถึงหลักไมล์แห่งนวัตกรรมที่เรียกว่านาฬิกาสุขภาพ คราวนี้ผมเริ่มสนใจ เพราะบางครั้งก็อยากใช้วัดชีพจรตัวเองว่าเวลาอยู่ใกล้สาวๆ มันเต้นเป็นปกติหรือเปล่า

    การสวมนาฬิกาสุขภาพน่าจะทำให้เรารู้ว่าออกกำลังกายพอหรือเปล่า ฯลฯ

    เวลานี้เพื่อนๆ ในวัยเดียวกับผมสวมนวัตกรรมชนิดนี้เพื่อดูสุขภาพ เป็นอุปกรณ์ที่ดีชนิดหนึ่งโดยเฉพาะคนวัยทอง แต่เมื่อนึกว่าต้องสวมเฟอร์นิเจอร์ที่ข้อมือ และก้มดูทุกชั่วโมงว่าวันนี้เดินไปกี่ก้าวแล้ว ก็เปลี่ยนใจ

    คิดว่าจะใช้วิธี ‘แมะ’ แบบหมอจีนก็แล้วกัน

    ก็ว่าจะรอจนมีเทคโนโลยีสุขภาพแบบอื่นที่ไม่ใช่นาฬิกา เช่น เครื่องจักรนาโนที่ฝังในร่างกาย ส่งข้อมูลตรงไปที่สมอง

    แต่เกรงว่าจะตายก่อนโลกมีเทคโนโลยีนี้

    ถ้าตายไปแล้ว หากทำพิธีกงเต๊ก ช่วยเผานาฬิกาสุขภาพไปให้สักเรือน เอาแบบแพงๆ หน่อยนะ

    อยู่บนสวรรค์เห็นนางฟ้ามากมาย ใจอาจเต้นผิดจังหวะ ถ้าได้นาฬิกากงเต๊กช่วย ก็น่าจะดี

    วินทร์ เลียววาริณ
    16-4-25

    0
    • 0 แชร์
    • 13

บทความล่าสุด