• วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหายไปสองอาทิตย์ เพราะติดงานหนังสือและยุ่งกับเรื่องอื่น

    วันนี้เล่าต่อ

    ล่าสุดเราเล่าถึงการยิงเป้า ๑๘ ศพเมื่อปี ๒๔๘๒

    หลังจากกำจัดศัตรูทางการเมือง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ผงาดเป็นหนึ่งในยุทธภพ แต่พลาดตรงไปร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่น เมื่อไทยอยู่ฝ่ายแพ้สงคราม จอมพล ป. ก็หลุดจากอำนาจ

    บ้านเมืองช่วงนั้นเละเทะ โจรภัยมากมาย ทั้งโจรอาชญากรและโจรในคราบตำรวจ

    ต้นปีนี้จีนส่งมือปราบหลิวจงอี้มาจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในไทย เพราะทนความล่าช้าของระบบไม่ได้ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเคยเกิดขึ้นมาก่อนในปี ๒๔๘๙

    ทางภาคใต้โจรสลัดตะรุเตาปล้นฆ่าอย่างหนัก จนอังกฤษทนไม่ได้ เข้ามาช่วยปราบให้

    เกาะตะรุเตาเริ่มใช้เป็นที่คุมขังนักโทษราวปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยเฉพาะนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ นักโทษโดยสันดาน กระทำผิดซ้ำซาก ไม่เข็ดหลาบ จึงถูกส่งมาดัดสันดานที่นี่ ต่อมาก็เพ่ิมนักโทษการเมือง

    ความเป็นอยู่ในเกาะไม่ดี และยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง อาหารการกินขาดแคลน อาจเรียกว่าถูก ‘ปล่อยเกาะ’ ตรงตามคำ

    นักโทษต้องหาอาหารเอง โดยจับปลาและปลูกพืชผัก กระนั้นอาหารก็ไม่พอ นักโทษต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอด นักโทษคดีอุกฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งจึงเริ่มออกปล้น

    พื้นที่นั้นมีเรือสินค้าผ่านไปมาเสมอ ระหว่างมาเลเซีย ไทย พม่า นักโทษเหล่านี้ลอบนำเรือออกจากเกาะ ปล้นเรือสินค้าที่แล่นผ่านมา โดยที่พัศดีรู้เห็นเป็นใจ และขอรับส่วนแบ่ง สินค้าที่ปล้นมาถูกนำไปจำหน่ายในตัวเมือง

    กลายเป็นขบวนการโจรสลัดแห่งตะรุเตา เป็นธุรกิจที่สร้างความร่ำรวยให้ทั้งโจรและผู้คุม

    การทำการใหญ่เช่นนี้เป็นไปตามสัจธรรม ‘หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก’

    นักโทษทำไม่ได้หากพัศดีไม่รู้เห็น พัศดีทำไม่ได้หากเจ้านายเบื้องบนไม่รับรู้

    เหตุที่โจรสลัดตะรุเตากำแหงหาญขนาดนี้ก็เพราะหัวหน้าโจรคือคนของรัฐ

    ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ ผู้อำนวยการเกาะตะรุเตาเป็นหัวหน้าโจรสลัดเสียเอง!

    กระบวนการปล้นกระทำโดยพัศดีคุมนักโทษออกไปกลางทะเล เมื่อปล้นสินค้ามาได้ ก็นำไปเก็บที่โกดังในเกาะ แล้วส่งออกไปจำหน่าย

    รายได้จากอาชีพโจรสลัดก็แบ่งสันปันส่วนกันระหว่างโจรสลัดในคราบนักโทษ โจรสลัดในคราบพัศดี โจรสลัดในคราบผู้อำนวยการ โจรสลัดในคราบตำรวจ โจรสลัดในคราบเจ้าหน้าที่อื่น ๆ

    เป็นบริษัทโจรสลัดที่จัดหาสินค้าและจำหน่ายครบวงจร

    โจรสลัดแห่งตะรุเตาโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ ไม่ได้ปล้นธรรมดา แต่ปล้นแล้วฆ่าเหยื่อทั้งลำ แล้วจมเรือเพื่อไม่ให้มีหลักฐาน

    บางครั้งขนถ่ายสินค้าไปบนเรือโจรสลัด แล้วจมเรือสินค้าทิ้ง พร้อมจับลูกเรือถ่วงน้ำ แล้วจมเรือเพื่อทำลายหลักฐาน บางครั้งก็โยงเรือสินค้า ลากจูงไปที่ท่าเรือตะโละอุดัง ขนถ่ายสินค้าแล้วนำเรือไปทำลาย ฆ่าลูกเรือทั้งหมดเช่นกัน

    ตัวอย่าง เช่น ๓ มกราคม ๒๔๘๙ กลุ่มนักโทษโจรสลัดปล้นเรือพม่า สังหารลูกเรือแปดชีวิตทั้งพม่าและจีน จับทุกคนมัดมือไพล่หลัง แล้วโยนลงทะเล ท่ามกลางเสียงร้องขอชีวิต

    ครั้งหนึ่งลูกเรือที่ถูกปล้นเจ็ดคนถูกฆ่าโดยมัดไว้กับลูกบวบไม้ซุง โยงออกไปจนถึงจุดปากช่องมฤตยู ที่เรียกว่า สลาจินเจน ซึ่งอยู่ระหว่างปลายแหลมคอคอดของเกาะตะรุเตากับเกาะลังกาวี น้ำทะลตรงนั้นเชี่ยวกราก เมื่อเรือโจรสลัดลากลูกบวบไม้ซุงไปถึง ก็ตัดเชือก เหยื่อทั้งเจ็ดก็ถูกน้ำวนดูดหายไปในพริบตา

    โจรสลัดตะรุเตาทำลายหลักฐานด้วยวิธีนี้หลายครั้ง

    การสังหารเหยื่อปิดปากเป็นส่วนหนึ่งของงาน บางครั้งไม่ได้ฆ่าโดยตรง แต่ปล่อยให้อดตาย

    หลายครั้งหลังจากปล้นแล้ว โจรสลัดจะจับตัวลูกเรือไปทิ้งไว้ที่เกาะนิรนามแห่งหนึ่ง เป็นเกาะร้าง ไม่มีอาหาร ไม่มีทางหนี ปล่อยให้ตายอย่างเลือดเย็น แม้ไม่ได้ฆ่าทันที แต่ก็เหมือนฆ่า ภายหลังพบซากโครงกระดูกคนจำนวนหนึ่งบนเกาะนั้น

    แต่ทว่าไม่ทุกคนที่ถูกปล่อยยบนเกาะมรณะแห่งนั้นจะตาย

    หนังสือ โจรสลัดเกาะตะรุเตา โดย แสวง ตุงคะบรรหาร บันทึกว่า ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๘ เรือสินค้าลำหนึ่งถูกเรือใบลำเล็กแล่นประกบแล้วยิงปืนขู่เป็นระยะ เรือเหยื่อแล่นหนีไม่ทัน จึงทอดสมอถูกปล้นสินค้าราคาร่วมแสน ได้แก่ยางรถยนต์ ข้าว พริก ฯลฯ หลังจากขนถ่ายสินค้า พบเรือตำรวจมาแต่ไกล โจรสลัดก็พาลูกเรือจีนสี่คนที่ถูกปล้นไปด้วยกับเรือเล็ก หลังจากนั้นก็พาเหยื่อทั้งสี่ไปทิ้งไว้ที่เกาะร้างแห่งนั้น

    ลูกเรือจีนทั้งสี่ดิ้นรนเอาชีวิตรอด ช่วยกันต่อแพไม้ไผ่ ลอยกลางทะลสามวันสามคืน จนพบเรือประมงลำหนึ่งช่วยไว้

    แต่เคราะห์กรรมซ้ำเติม เมื่อเรือประมงนั้นเป็นเรือจากเกาะตะรุเตา ก็พาลูกเรือเดนตายทั้งสี่กลับไปที่เกาะตะรุเตา!

    ด้วยไหวพริบ ลูกเรือทั้งสี่บอกโจรสลัดบนเกาะว่า เรือแตก ไม่ได้ถูกปล้น แล้วแกล้งบ้า

    ในที่สุดโจรสลัดก็ปล่อยตัวลูกเรือทั้งสี่ไป และต่อมาทั้งสี่ก็เป็นพยานชี้ตัวผู้คุมที่เป็นโจรสลัด  ....................................

    อิทธิพลของโจรสลัดตะรุเตาครองอำนาจในพื้นที่แถบนั้น ผลประโยชน์ถูกแจกจ่ายเพื่อให้ทุกคนปิดปากสนิท และมันก็ได้ผล เมื่อคดีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีใครกล้าเปิดปาก

    ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์เป็นบุคคลสำคัญในถิ่นนั้น มีเพื่อนเป็นตำรวจระดับผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ไปจนถึงบุคคลระดับข้าหลวง

    การปล้นในระดับนี้ย่อมเป็นข่าว นักโทษย่อมรู้ แต่ไม่กล้าพูด ส่วนชาวบ้านชาวเมืองสตูลจำนวนมากรู้เรื่องนี้ แต่ไม่มีใครกล้าพูด ต่างรู้ว่าแม้แต่ตำรวจและข้าราชการระดับสูงก็เกี่ยวข้อง ทั้งหมดกลัวภัยถึงตัว

    ที่น่าแปลกคือ ข่าวโจรสลัดตะรุเตาเป็นเรื่องรู้กันทั่วภาคใต้และมลายู พม่า อังกฤษ แต่ทางการไทยกลับ “ไม่รู้เรื่อง” เลย

    อย่างไรก็ตาม กลิ่นของโจรสลัดตะรุเตาก็เข้าถึงจมูกของนายตำรวจคนหนึ่งนาม พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข

    หลังสงครามโลกยุติ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ถูกส่งไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธร ภาค ๙ ดูแลพื้นที่จังหวัดสตูล ซึ่งรวมเกาะตะรุเตาด้วย

    หนังสือ โจรสลัดเกาะตะรุเตา โดย แสวง ตุงคะบรรหาร บันทึกว่า ขณะที่อิทธิพลโจรสลัดครอบคลุมจังหวัดสตูล ก็ยังมีตำรวจชั้นผู้น้อยที่หาญกล้าต่อกร เช่น ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ส.ต.อ. ชั้น โพธิ์ทอง

    ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ได้รับรายงานลับจากตำรวจชั้นผู้น้อยคนหนึ่งว่า บนเกาะตะรุเตาขณะนั้นมีสินค้าที่ปล้นมากองพะเนิน เต็มโกดัง โกดังใหญ่ของนิคมกว้างขวางพอบรรจุข้าวสารได้หมื่นกระสอบ จึงทำบันทึกถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ขอตรวจค้นเกาะตะรุเตา

    บันทึกของ ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ให้รายละเอียดและเหตุผลของการบุกจู่โจมไปตรวจค้น เพื่อไม่ให้โจรสลัดไหวตัวทัน

    คำตอบจากเบื้องบนทำให้ตำรวจหนุ่มอึ้ง

    พ.ต.ต. หลวงอนุมานขจัดเหตุ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล เขียนว่า “ไม่อนุญาตให้ท่านขึ้นไปค้นและจับกุม เกาะตะรุเตาเป็นสถานที่ราชการโดยเฉพาะของนิคม ท่านจะไปตรวจค้นจับกุมมิได้ ส่วนปืนกลที่ขออนุมัติมานั้น ก็ไม่อนุญาตเช่นกัน”

    ในคืนที่ผู้กำกับออกคำสั่งห้าม ร.ต.ท. สวัสดิ์นั้น ทางเกาะตะรุเตาก็วิ่งพล่านทำลายหลักฐาน ผู้คุมสั่งให้นักโทษขนสินค้าในโกดังไปแอบซ่อนตามจุดต่าง ๆ บนเกาะ แต่สินค้าส่วนใหญ่ขนลงเรือสินค้าสี่ลำไปขายในเมือง ซึ่งต้องขนถ่ายถึงสามเที่ยว

    หลักฐานที่จะมัดตัวโจรสลัดถูกทำลายในพริบตา

    ในเวลาต่อมา ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ได้จับกุมโจรสลัดพร้อมของกลางส่งขึ้นศาล แต่ครั้นถึงกำหนดขึ้นศาล ผู้ต้องหาทั้งหลายก็ ‘หายตัว’ ไปต่างประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์

    อิทธิพลของโจรสลัดกว้างขวางกว่าเงื้อมมือกฏหมายเอื้อมถึง

    ไม่มีทางที่จะต่อกรกับอำนาจทมิฬ ตำรวจที่หาญสู้ก็ถูกย้ายไปจากพื้นที่

    ในเมื่อรัฐไทยทำอะไรไม่ได้ อังกฤษก็เข้ามาจัดการให้

    พรุ่งนี้ค่อยเล่าต่อ

    วินทร์ เลียววาริณ
    27-4-25

    ..............................

    จากชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม

    ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ คุ้มที่สุด 6 เล่ม 1,000 บาท จากราคาปก 1,605.-
    118 เรื่อง = เรื่องละ 8.4 บาท

    หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว

    สั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6 

    สั่งทางเว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/176/%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%20%E0%B9%91-%E0%B9%95%20+%20%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%A9 

    0
    • 0 แชร์
    • 16

บทความล่าสุด