-
วินทร์ เลียววาริณ0 วันที่ผ่านมา
สังเกตไหมว่าคนเราชอบแบ่งชีวิตเป็นสุขกับทุกข์โดยเด็ดขาด
การแบ่งแบบนี้ทำให้เกิดค่านิยมว่า เวลามีคนตาย ต้องตีหน้าเศร้าตลอด จะหัวเราะก็รู้สึกไม่เหมาะสม
เวลาถ่ายรูปในงานศพ หลายคนยิ้มโดยอัตโนมัติ แต่ถูกเพื่อนบอกว่า “เฮ้ย! อย่ายิ้ม นี่งานศพนะโว้ย!”
แต่ชีวิตไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์ เพราะเรื่องส่วนใหญ่ในชีวิตเราเป็นอัตวิสัย ไม่สามารถจัดหมวดหมู่ขาว-ดำได้
บางคนได้ข่าวแม่ตายแล้วรู้สึกเศร้าเสียใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ยินดีที่แม่ไม่ต้องทนทุกข์จากโรคร้ายที่รุมเร้าอีกต่อไป
ถูกไล่ออกจากงานเป็นความทุกข์ แต่ก็อาจมีความสุขเจืออยู่ที่ไม่ต้องทนเห็นหน้าเจ้านายมหาโหดอีกต่อไป
ชีวิตก็เหมือนการต้มไข่ ต้มสุกแค่ไหนขึ้นกับความพึงใจ ลิ้นรับความอร่อยของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนชอบแบบครึ่งสุก บางคนชอบแบบสุกเต็มที่
และถึงชอบแบบครึ่งสุกก็ยังแบ่งย่อยออกเป็นระดับอีกมากมาย สุก 52 เปอร์เซ็นต์ สุก 56.125 เปอร์เซ็นต์ สุก 57.54 เปอร์เซ็นต์
ไม่มีสูตรว่า เท่านี้คือสุข เท่านั้นคือทุกข์ มันปน ๆ กัน
ชีวิตไม่ใช่ขนมสอดไส้ที่แบ่งพื้นที่สุข-ทุกข์ออกจากกันชัดเจน ชีวิตคือข้าวสารที่มีข้าวเนื้อดีและกรวดปนมาด้วย
เคยไหมที่เราอยู่ในโมงยามแห่งความสุข แต่จิตนึกถึงเรื่องทุกข์ที่ยังไม่เกิดขึ้น? ในที่สุดมันก็กลายเป็นชั่วโมงของความทุกข์ไป เช่นกัน บางโอกาสที่เราอยู่ในห้วงยามของความทุกข์ แต่กลับรู้สึกอบอุ่นพร้อมที่จะเผชิญปัญหา เปี่ยมด้วยกำลังใจ ถึงแม้เกิดเรื่องร้าย ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกชั่วขณะนั้นอยู่ในโหมดทุกข์
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการเลือกของเราเอง
ยามทุกข์ใจ ก็ไม่จำเป็นต้องละทิ้งส่วนที่เป็นสุขเสียทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องหน้าบึ้งตึงเครียด ยามทุกข์ก็สามารถกินไอศกรีมหรือดูหนังได้
ยามสุขก็ไม่หลงระเริงกับรสชาติของความสบายกายสบายใจจนลืมไปว่ามันไม่ยั่งยืนอยู่ตลอดไป
เพราะเวลาก็คือเวลา สุขทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ว่าวันนั้นเป็นวันจันทร์หรือวันอาทิตย์ เป็นโอกาสอะไร สุขหรือทุกข์อยู่ที่เราปรุงแต่งมันขึ้นมา
สวัสดีวันจันทร์ รักษาระดับความสุขในร่างกายด้วยครับ
วินทร์ เลียววาริณ
28-4-25..................................
ท่อนหนึ่งจากหนังสือ ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว
31 บทความกำลังใจ ราคาเพียง 190 บาท = บทความละ 6.1 บาท (ไม่คิดค่าส่ง) หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
เล่มเดี่ยว https://www.winbookclub.com/store/detail/137/ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว
เซ็ทโปรโมชั่นพิเศษ
https://www.winbookclub.com/store/detail/235/R4%20%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%204
Shopee
https://shope.ee/Vj8bA8a4u?share_channel_code=60- แชร์
- 23
-
(ต่อจาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=1277860730369282&set=a.208269707328395)
หลังสงครามโลกยุติ โจรสลัดก็ยังไม่หยุดทำงาน เรือสินค้าของมลายูและพม่าถูกปล้น หายสาบสูญไปหลายสิบลำ
เรือสินค้าจำนวนมากหายไปกลางทะเลพร้อม ๆ กันทำให้เจ้าของเรือร้องเรียนต่อทางการอังกฤษ ผู้ปกครองมลายูและพม่า
ที่ปีนัง กลุ่มพ่อค้าปรึกษาหาทางปัญหานี้ ในที่สุดมีมติให้เรือสินค้าติดอาวุธ และมีขบวนเรือคุ้มกันไปด้วย
เวลา ๒๔.๐๐ น. วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๙ เรือโจรสลัดบุกปล้นเรือสินค้าที่กำลังแล่นไปปีนัง เมื่อเรือโจรไปถึงก็พบว่าเหยื่อรออยู่แล้วพร้อมปืน ระดมยิงใส่ ทั้งสองยิงกันราวสองชั่วโมง เรือโจรถูกจมสองลำ ถูกยิงตายห้าคน จับเป็นห้าคน
เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายโจรสลัดถูก ‘เอาคืน’
เดือนถัดมา เรือสินค้าถล่มเรือโจรสลัดด้วยปืนกลและระเบิดมือ จมเรือโจรสลัดได้หนึ่งลำ เรือลำที่สองหนีไป
นอกจากนี้ทางการอังกฤษส่งเรือรบประกบเรือสินค้า เมื่อเรือโจรสลัดบุกปล้น ก็ถูกยิงสวนกลับ
อังกฤษเริ่มกดดันรัฐบาลไทย
วันหนึ่งรัฐบาลไทยได้รับจดหมายด่วนจากกองบัญชาการทหารอังกฤษภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ แจ้งเรื่องโจรสลัดตะรุเตาปล้นเรือสินค้าของอาณานิคมอังกฤษ
จดหมายเขียนตรง ๆ ว่า ถ้ารัฐบาลไทยไม่ลงมือ อังกฤษจะลงมือเอง แม้เป็นเขตน่านน้ำไทย
ประเทศไทยในช่วงหลังสงครามไม่ต้องการมีเรื่องขัดใจกับอังกฤษเนื่องจากอังกฤษเป็นประเทศเดียวที่ไม่ยอมให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงครามแต่ถูกสหรัฐอเมริกากดดันจนยอมรับ การที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นโจรสลัดเสียเองทำให้ฝ่ายไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในที่สุดก็ตกลงให้อังกฤษยกกำลังทหารไปปราบโจรสลัดตะรุเตา
ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงที่รัฐบาลไทยไม่ปราบปรามโจรสลัดเอง แต่ยอมให้อังกฤษปราบ เป็นเพราะเครือข่ายของโจรสลัดกว้างขวางจนปราบยาก ในที่สุดงานปราบโจรสลัดก็เป็นของกองทัพอังกฤษ
ทางการไทยเพียงทำหน้าที่ประสานงาน ส่ง ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ ข้าหลวงตรวจการกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้แทนไปปีนังอย่างเงียบเชียบ เพื่อร่วมวางแผนกับฝ่ายอังกฤษ ที่ประชุมวางแผนการบุกเกาะตะรุเตาราวกลางเดือนมีนาคม แม้กระทำอย่างเป็นความลับ แต่กระนั้นแผนการบุกตะรุเตาของอังกฤษก็เข้าหูฝ่ายโจรสลัดอย่างไม่น่าเชื่อ
ขุนอภิพัฒน์ฯรู้ข่าวลับ ก็กลับไปที่ตะรุเตา บัญชาการให้ขนย้ายสินค้าไปซ่อนหรือเผาทำลายหลักฐานตลอดทั้งคืน นักโทษโจรสลัดหลายคนรู้ว่าความผิดมาถึงตัว ก็เผ่นหนี โดยสารเรือเล็กหลบหนีไป
๗ นาฬิกาวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เครื่องบินอังกฤษสองลำบินผ่านเกาะเพื่อสังเกตการณ์ ตามมาด้วยเรือรบ นำโดยพลจัตวาเธอร์เรย์ ส่งทหารห้าร้อยคนขึ้นฝั่ง ยึดเกาะได้อย่างง่ายดาย เพราะฝ่ายโจรสลัดยอมแพ้แต่โดยดี ขณะที่ผู้อำนวยการเกาะออกไปต้อนรับทหารอังกฤษ
ทหารอังกฤษจับโจรสลัดและข้าราชการจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผู้อำนวยการ ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ ไปส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเพื่อดำเนินคดี อาจเพราะไม่แน่ใจว่าคนร้ายจะหายตัวไปได้
พลจัตวาเธอร์เรย์เกรงว่าพวกโจรสลัดจะหลบหนีตอนจับตัวไปส่งที่จังหวัดสตูล ตลอดทางไปสตูล สั่งให้โจรสลัดที่ถูกจับนั่งตากแดดบนดาดฟ้าเรือเพื่อทรมาน
วันที่ ๒๑ มีนาคม ทหารอังกฤษถอนตัวออกจากเกาะ เหลือกำลังเล็กน้อยดูแลเกาะ
ทหารอังกฤษส่งมอบผู้ต้องหาให้ฝ่ายไทย โดยมี ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ ข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ประสานงาน
ในการดำเนินคดี ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ กับ ร.อ. วิทวอร์ด นำข้าวสารสามกระสอบ พริกแห้งสองกระสอบเป็นของกลางสำหรับดำเนินคดี
ฝากขังโจรสลัดในเรือนจำสตูล หลังจากนั้น ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ ก็โทรเลขรายงานไปที่กระทรวงมหาดไทย
นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นสอบสวนเรื่องนี้ แต่งตั้งพระยารามราชภักดีเป็นประธาน พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ
หลักฐานในมือ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์นั้นมัดพวกโจรสลัดตะรุเตาแน่นหนา
นโยบาย ‘ร่วมกันปล้น แบ่งกันรับ’ ของโจรสลัดตะรุเตาทำให้ระบบยุติธรรมทำงานได้ยากมาก เพราะไม่มีใครกล้าเป็นพยาน ในที่สุดก็ส่งคดีไปที่ศาลจังหวัดสงขลา เพื่อไม่ให้ระบบยุติธรรมถูกเส้นสายของโจรสลัดกดดันหรือคุกคาม
ขณะที่คดีความดำเนินไป พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ก็ถูก ‘ย้ายฟ้าผ่า’ เข้าประจำกรม กลิ่นความไม่ปกติโชยไปทั่ว หรือว่าอำนาจโจรสลัดจะแผ่ไปถึงกรุงเทพฯ?
ไม่นานต่อมา รัฐมนตรี เตียง ศิริขันธ์ ฉายาขุนพลภูพาน ก็ขอตัว พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ไปทำงานด้วย
พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ได้โอกาสรายงานความจริงเรื่องโจรสลัดตะรุเตาแก่นายเตียงผู้เป็นเจ้าของคำพูด “ข้าพเจ้าต้องการให้ทุก ๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง” จึงต้องการปราบโจรสลัดตะรุเตาเช่นกัน
พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์จึงได้ทำงานนี้ต่อไป
แต่ทำได้ไม่นานก็มีคำสั่งฟ้าผ่าย้ายไปรับตำแหน่งผู้บังคับการเขต ๑ ลำปาง
พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ยังดิ้นรนต่อไป ติดต่อผู้ใหญ่หลายคน ให้รับทราบว่า การย้ายเขาออกไปอาจทำให้คดีพลิก และโจรสลัดหลุดรอดไปได้
พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ถูกส่งตัวกลับมาอีกครั้งเพื่อให้จัดการคดีนี้จนสำเร็จก่อน
ศาลชั้นต้นจังหวัดสงขลาพิพากษาลงโทษขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ จำคุก ๑๕ ปี โจรสลัดที่เหลือได้รับโทษไปตามความผิด
ผ่านสามศาล ศาลฎีกาก็ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
รัฐบาลสั่งปิดทัณฑสถานตะรุเตาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ นักโทษบนเกาะถูกย้ายไปฝากขังตามเรือนจำจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้
การทำคดีใหญ่ระดับนี้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ผู้ต้องหามีอิทธิพลสูงสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าเมืองไทยยังมีตำรวจน้ำดี อย่างไรก็ตาม ชะตาชีวิตของ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข กลับพลิกผัน เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏวังหลวงในปี ๒๔๙๒ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ก็ถูกสังหารโหดคาบ้าน
ประวัติศาสตร์ไทยท่อนโจรสลัดแห่งตะรุเตาบอกเราสองเรื่อง
หนึ่ง ข้าราชการชั่ว เลวร้ายกว่าโจร
สอง หากผู้รักษากฎหมายเอาจริง ไม่มีทางที่โจรผู้ร้ายจะเหิมเกริมได้
............................
จากชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม / วินทร์ เลียววาริณ
ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ คุ้มที่สุด 6 เล่ม 1,000 บาท จากราคาปก 1,605.-
118 เรื่อง = เรื่องละ 8.4 บาทหนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
สั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6
0 วันที่ผ่านมา -
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหายไปสองอาทิตย์ เพราะติดงานหนังสือและยุ่งกับเรื่องอื่น
วันนี้เล่าต่อ
ล่าสุดเราเล่าถึงการยิงเป้า ๑๘ ศพเมื่อปี ๒๔๘๒
หลังจากกำจัดศัตรูทางการเมือง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ผงาดเป็นหนึ่งในยุทธภพ แต่พลาดตรงไปร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่น เมื่อไทยอยู่ฝ่ายแพ้สงคราม จอมพล ป. ก็หลุดจากอำนาจ
บ้านเมืองช่วงนั้นเละเทะ โจรภัยมากมาย ทั้งโจรอาชญากรและโจรในคราบตำรวจ
ต้นปีนี้จีนส่งมือปราบหลิวจงอี้มาจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในไทย เพราะทนความล่าช้าของระบบไม่ได้ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเคยเกิดขึ้นมาก่อนในปี ๒๔๘๙
ทางภาคใต้โจรสลัดตะรุเตาปล้นฆ่าอย่างหนัก จนอังกฤษทนไม่ได้ เข้ามาช่วยปราบให้
เกาะตะรุเตาเริ่มใช้เป็นที่คุมขังนักโทษราวปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยเฉพาะนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ นักโทษโดยสันดาน กระทำผิดซ้ำซาก ไม่เข็ดหลาบ จึงถูกส่งมาดัดสันดานที่นี่ ต่อมาก็เพ่ิมนักโทษการเมือง
ความเป็นอยู่ในเกาะไม่ดี และยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง อาหารการกินขาดแคลน อาจเรียกว่าถูก ‘ปล่อยเกาะ’ ตรงตามคำ
นักโทษต้องหาอาหารเอง โดยจับปลาและปลูกพืชผัก กระนั้นอาหารก็ไม่พอ นักโทษต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอด นักโทษคดีอุกฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งจึงเริ่มออกปล้น
พื้นที่นั้นมีเรือสินค้าผ่านไปมาเสมอ ระหว่างมาเลเซีย ไทย พม่า นักโทษเหล่านี้ลอบนำเรือออกจากเกาะ ปล้นเรือสินค้าที่แล่นผ่านมา โดยที่พัศดีรู้เห็นเป็นใจ และขอรับส่วนแบ่ง สินค้าที่ปล้นมาถูกนำไปจำหน่ายในตัวเมือง
กลายเป็นขบวนการโจรสลัดแห่งตะรุเตา เป็นธุรกิจที่สร้างความร่ำรวยให้ทั้งโจรและผู้คุม
การทำการใหญ่เช่นนี้เป็นไปตามสัจธรรม ‘หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก’
นักโทษทำไม่ได้หากพัศดีไม่รู้เห็น พัศดีทำไม่ได้หากเจ้านายเบื้องบนไม่รับรู้
เหตุที่โจรสลัดตะรุเตากำแหงหาญขนาดนี้ก็เพราะหัวหน้าโจรคือคนของรัฐ
ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ ผู้อำนวยการเกาะตะรุเตาเป็นหัวหน้าโจรสลัดเสียเอง!
กระบวนการปล้นกระทำโดยพัศดีคุมนักโทษออกไปกลางทะเล เมื่อปล้นสินค้ามาได้ ก็นำไปเก็บที่โกดังในเกาะ แล้วส่งออกไปจำหน่าย
รายได้จากอาชีพโจรสลัดก็แบ่งสันปันส่วนกันระหว่างโจรสลัดในคราบนักโทษ โจรสลัดในคราบพัศดี โจรสลัดในคราบผู้อำนวยการ โจรสลัดในคราบตำรวจ โจรสลัดในคราบเจ้าหน้าที่อื่น ๆ
เป็นบริษัทโจรสลัดที่จัดหาสินค้าและจำหน่ายครบวงจร
โจรสลัดแห่งตะรุเตาโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ ไม่ได้ปล้นธรรมดา แต่ปล้นแล้วฆ่าเหยื่อทั้งลำ แล้วจมเรือเพื่อไม่ให้มีหลักฐาน
บางครั้งขนถ่ายสินค้าไปบนเรือโจรสลัด แล้วจมเรือสินค้าทิ้ง พร้อมจับลูกเรือถ่วงน้ำ แล้วจมเรือเพื่อทำลายหลักฐาน บางครั้งก็โยงเรือสินค้า ลากจูงไปที่ท่าเรือตะโละอุดัง ขนถ่ายสินค้าแล้วนำเรือไปทำลาย ฆ่าลูกเรือทั้งหมดเช่นกัน
ตัวอย่าง เช่น ๓ มกราคม ๒๔๘๙ กลุ่มนักโทษโจรสลัดปล้นเรือพม่า สังหารลูกเรือแปดชีวิตทั้งพม่าและจีน จับทุกคนมัดมือไพล่หลัง แล้วโยนลงทะเล ท่ามกลางเสียงร้องขอชีวิต
ครั้งหนึ่งลูกเรือที่ถูกปล้นเจ็ดคนถูกฆ่าโดยมัดไว้กับลูกบวบไม้ซุง โยงออกไปจนถึงจุดปากช่องมฤตยู ที่เรียกว่า สลาจินเจน ซึ่งอยู่ระหว่างปลายแหลมคอคอดของเกาะตะรุเตากับเกาะลังกาวี น้ำทะลตรงนั้นเชี่ยวกราก เมื่อเรือโจรสลัดลากลูกบวบไม้ซุงไปถึง ก็ตัดเชือก เหยื่อทั้งเจ็ดก็ถูกน้ำวนดูดหายไปในพริบตา
โจรสลัดตะรุเตาทำลายหลักฐานด้วยวิธีนี้หลายครั้ง
การสังหารเหยื่อปิดปากเป็นส่วนหนึ่งของงาน บางครั้งไม่ได้ฆ่าโดยตรง แต่ปล่อยให้อดตาย
หลายครั้งหลังจากปล้นแล้ว โจรสลัดจะจับตัวลูกเรือไปทิ้งไว้ที่เกาะนิรนามแห่งหนึ่ง เป็นเกาะร้าง ไม่มีอาหาร ไม่มีทางหนี ปล่อยให้ตายอย่างเลือดเย็น แม้ไม่ได้ฆ่าทันที แต่ก็เหมือนฆ่า ภายหลังพบซากโครงกระดูกคนจำนวนหนึ่งบนเกาะนั้น
แต่ทว่าไม่ทุกคนที่ถูกปล่อยยบนเกาะมรณะแห่งนั้นจะตาย
หนังสือ โจรสลัดเกาะตะรุเตา โดย แสวง ตุงคะบรรหาร บันทึกว่า ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๘ เรือสินค้าลำหนึ่งถูกเรือใบลำเล็กแล่นประกบแล้วยิงปืนขู่เป็นระยะ เรือเหยื่อแล่นหนีไม่ทัน จึงทอดสมอถูกปล้นสินค้าราคาร่วมแสน ได้แก่ยางรถยนต์ ข้าว พริก ฯลฯ หลังจากขนถ่ายสินค้า พบเรือตำรวจมาแต่ไกล โจรสลัดก็พาลูกเรือจีนสี่คนที่ถูกปล้นไปด้วยกับเรือเล็ก หลังจากนั้นก็พาเหยื่อทั้งสี่ไปทิ้งไว้ที่เกาะร้างแห่งนั้น
ลูกเรือจีนทั้งสี่ดิ้นรนเอาชีวิตรอด ช่วยกันต่อแพไม้ไผ่ ลอยกลางทะลสามวันสามคืน จนพบเรือประมงลำหนึ่งช่วยไว้
แต่เคราะห์กรรมซ้ำเติม เมื่อเรือประมงนั้นเป็นเรือจากเกาะตะรุเตา ก็พาลูกเรือเดนตายทั้งสี่กลับไปที่เกาะตะรุเตา!
ด้วยไหวพริบ ลูกเรือทั้งสี่บอกโจรสลัดบนเกาะว่า เรือแตก ไม่ได้ถูกปล้น แล้วแกล้งบ้า
ในที่สุดโจรสลัดก็ปล่อยตัวลูกเรือทั้งสี่ไป และต่อมาทั้งสี่ก็เป็นพยานชี้ตัวผู้คุมที่เป็นโจรสลัด ....................................
อิทธิพลของโจรสลัดตะรุเตาครองอำนาจในพื้นที่แถบนั้น ผลประโยชน์ถูกแจกจ่ายเพื่อให้ทุกคนปิดปากสนิท และมันก็ได้ผล เมื่อคดีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีใครกล้าเปิดปาก
ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์เป็นบุคคลสำคัญในถิ่นนั้น มีเพื่อนเป็นตำรวจระดับผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ไปจนถึงบุคคลระดับข้าหลวง
การปล้นในระดับนี้ย่อมเป็นข่าว นักโทษย่อมรู้ แต่ไม่กล้าพูด ส่วนชาวบ้านชาวเมืองสตูลจำนวนมากรู้เรื่องนี้ แต่ไม่มีใครกล้าพูด ต่างรู้ว่าแม้แต่ตำรวจและข้าราชการระดับสูงก็เกี่ยวข้อง ทั้งหมดกลัวภัยถึงตัว
ที่น่าแปลกคือ ข่าวโจรสลัดตะรุเตาเป็นเรื่องรู้กันทั่วภาคใต้และมลายู พม่า อังกฤษ แต่ทางการไทยกลับ “ไม่รู้เรื่อง” เลย
อย่างไรก็ตาม กลิ่นของโจรสลัดตะรุเตาก็เข้าถึงจมูกของนายตำรวจคนหนึ่งนาม พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข
หลังสงครามโลกยุติ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ถูกส่งไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธร ภาค ๙ ดูแลพื้นที่จังหวัดสตูล ซึ่งรวมเกาะตะรุเตาด้วย
หนังสือ โจรสลัดเกาะตะรุเตา โดย แสวง ตุงคะบรรหาร บันทึกว่า ขณะที่อิทธิพลโจรสลัดครอบคลุมจังหวัดสตูล ก็ยังมีตำรวจชั้นผู้น้อยที่หาญกล้าต่อกร เช่น ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ส.ต.อ. ชั้น โพธิ์ทอง
ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ได้รับรายงานลับจากตำรวจชั้นผู้น้อยคนหนึ่งว่า บนเกาะตะรุเตาขณะนั้นมีสินค้าที่ปล้นมากองพะเนิน เต็มโกดัง โกดังใหญ่ของนิคมกว้างขวางพอบรรจุข้าวสารได้หมื่นกระสอบ จึงทำบันทึกถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ขอตรวจค้นเกาะตะรุเตา
บันทึกของ ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ให้รายละเอียดและเหตุผลของการบุกจู่โจมไปตรวจค้น เพื่อไม่ให้โจรสลัดไหวตัวทัน
คำตอบจากเบื้องบนทำให้ตำรวจหนุ่มอึ้ง
พ.ต.ต. หลวงอนุมานขจัดเหตุ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล เขียนว่า “ไม่อนุญาตให้ท่านขึ้นไปค้นและจับกุม เกาะตะรุเตาเป็นสถานที่ราชการโดยเฉพาะของนิคม ท่านจะไปตรวจค้นจับกุมมิได้ ส่วนปืนกลที่ขออนุมัติมานั้น ก็ไม่อนุญาตเช่นกัน”
ในคืนที่ผู้กำกับออกคำสั่งห้าม ร.ต.ท. สวัสดิ์นั้น ทางเกาะตะรุเตาก็วิ่งพล่านทำลายหลักฐาน ผู้คุมสั่งให้นักโทษขนสินค้าในโกดังไปแอบซ่อนตามจุดต่าง ๆ บนเกาะ แต่สินค้าส่วนใหญ่ขนลงเรือสินค้าสี่ลำไปขายในเมือง ซึ่งต้องขนถ่ายถึงสามเที่ยว
หลักฐานที่จะมัดตัวโจรสลัดถูกทำลายในพริบตา
ในเวลาต่อมา ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ได้จับกุมโจรสลัดพร้อมของกลางส่งขึ้นศาล แต่ครั้นถึงกำหนดขึ้นศาล ผู้ต้องหาทั้งหลายก็ ‘หายตัว’ ไปต่างประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์
อิทธิพลของโจรสลัดกว้างขวางกว่าเงื้อมมือกฏหมายเอื้อมถึง
ไม่มีทางที่จะต่อกรกับอำนาจทมิฬ ตำรวจที่หาญสู้ก็ถูกย้ายไปจากพื้นที่
ในเมื่อรัฐไทยทำอะไรไม่ได้ อังกฤษก็เข้ามาจัดการให้
พรุ่งนี้ค่อยเล่าต่อ
วินทร์ เลียววาริณ
27-4-25..............................
จากชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม
ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ คุ้มที่สุด 6 เล่ม 1,000 บาท จากราคาปก 1,605.-
118 เรื่อง = เรื่องละ 8.4 บาทหนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
สั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6
1 วันที่ผ่านมา -
ผมดื่มชาเขียวเป็นประจำ และเลี่ยงการดื่มนอกบ้าน เพราะพบว่าบางร้าน สีเขียวของชาดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ
เวลาผ่านรถเข็นผลไม้ เห็นฝรั่งกับมะม่วงที่ปอกเปลือกแล้วสีเขียวแสบตา ก็สงสัยว่าจะไม่ใช่เขียวธรรมชาติ
ชาจีนก็ดื่ม แต่ไม่ถี่เท่าชาเขียว
ชาข้าวก็ชอบ เป็นชาจากญี่ปุ่นเหมือนกัน
ผมไม่ค่อยดื่มชาเย็น แต่ในฤดูร้อนปีนี้ ก็ดื่มชาดำเย็นไปหลายแก้วเหมือนกัน
ผู้อ่านชอบดื่มชาไทยไหมครับ? ถ้าดื่ม วันนี้คงเห็นข่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบสีในเครื่องดื่มชานมไทย
ผลการตรวจพบสีสังเคราะห์ในชาไทยทุกยี่ห้อ ที่เรียกว่า Sunset Yellow FCF บางยี่ห้อตัวเลขสูงมาก
ผมไม่ค่อยชอบคำว่าสังเคราะห์หรืออะไรที่ไม่ใช่ของธรรมชาติ ฟังแล้วอารมณ์อยากดื่มหายไปกว่าครึ่ง
Sunset Yellow FCF เป็นสารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้นมา ใช้ในอาหาร มีหลายแบบ เช่น Yellow 5 และ Yellow 6 เป็นสารเคมีเดียวกัน แต่ให้สีต่างกัน
บางประเทศในโลกสั่งห้ามการใช้สารชนิดนี้ เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ห้ามสาร Yellow 5 แต่หลายประเทศยังอนุญาตให้ใช้อยู่
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ Sunset Yellow FCF ในอาหารและเครื่องดื่มได้ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ใช้ในปริมาณ 0-4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) ต่อวัน
ถามว่าแล้วมันก่อมะเร็งไหม คำตอบคือยังศึกษาอยู่ มีการศึกษาหลายปีก่อนว่ามันส่งผลต่อเด็กที่เป็น ADHD
โดยรวมถ้าดื่มในกำหนดของ อย. ก็น่าจะปลอดภัย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ถือทางมัชฌิมาปฏิปทาดีกว่ากระมังครับ
วินทร์ เลียววาริณ
27-4-251 วันที่ผ่านมา -
เอเฮ โดเก็น หรือ โดเก็น เซนจิ (แปลว่า อาจารย์เซนโดเก็น) เกิดในตระกูลขุนนางเมื่อปี ค.ศ. 1200 บิดาทำงานในวัง ตายไปตอนเขาอายุเพียงสองขวบ แม่ตายอีกห้าปีถัดมา การเป็นเด็กกำพร้าแต่เล็กทำให้เขามองเห็นสัจธรรมของความไม่เที่ยงมาตั้งแต่เล็ก
เมื่ออายุสิบสองเขาไปอยู่กับลุงผู้เปิดโลกธรรมให้เขา เขาตัดสินใจบวชสายนิกายเทียนไท่ที่ภูเขาฮิเอ สถานที่เดียวกับที่ เอไซ เซนจิ เคยไปศึกษา
เขาขบคิดและตั้งคำถามว่า สัทธรรมปุณฑริกสูตร บอกว่า มนุษย์ล้วนเกิดมาพร้อมธรรมชาติแห่งพุทธะ การแสวงหาการรู้แจ้งโดยการฝึกจึงไม่ใช่ทางที่ถูก ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ทำไมพระพุทธะในแต่ละยุคที่รู้แจ้งแล้วจึงต้องแสวงหาการรู้แจ้งและฝึกฝนทางวิญญาณเพื่อให้ไปถึงสภาวะนั้น? หากทุกคนมีธรรมชาติดังกล่าว ทำไมเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกินที่จะได้มา?
ไม่มีใครตอบเขาได้ ดังนั้นเขาจึงดั้นด้นค้นหาคำตอบจากอาจารย์อื่น ๆ ในที่สุดเขาก็พบจากอาจารย์โคอินแห่งวัดอนโจ
เจ้าอาวาสวัดอนโจกล่าวกับเขาว่า "หากเจ้าจะรู้คำตอบนี้จริง ๆ ก็มีแต่ต้องไปเรียนที่เมืองจีน นั่นคือต้นกำเนิดของเซน"
"เช่นนั้นศิษย์ก็จะไปเมืองจีน"
"เจ้ามิจำเป็นต้องเดินทางไปถึงเมืองจีน เนื่องจากมีอาจารย์ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งเคยไปศึกษาเซนในเมืองจีนมาก่อน และมาตั้งวัดในญี่ปุ่นนี่เอง"
"ท่านผู้นั้นคือใคร?"
"เอไซ เซนจิ แห่งวัดเคนอิน"
ดังนั้นเขาจึงเดินทางไปหา เอไซ เซนจิ ที่เกียวโต และพบว่าอาจารย์เอไซเป็นผู้นำเซนสายรินไซเข้ามาญี่ปุ่นก่อนเขาเกิดเพียงเก้าปี
ในวัยเพียงสิบสี่ปี เขาเรียนกับอาจารย์เอไซอย่างขะมักเขม้น เอไซ เซนจิ บอกเขาว่า "การคิดถึงธรรมชาติของพุทธะก็เป็นความคิดปรุงแต่ง เพราะคำว่า 'ธรรมชาติแห่งพุทธะ' ก็คือการคิดแบบทวินิยม"
ได้ยินแล้ว เขาก็เริ่มเข้าใจ แต่เขาก็รู้ว่ายังไม่สมบูรณ์
โดเก็นเรียนกับ เอไซ เซนจิ ได้เพียงปีเดียว อาจารย์ก็มรณภาพ เขาศึกษาเซนต่อกับศิษย์ของ เอไซ เซนจิ คนหนึ่งนาม เมียวเซ็น นานอีกแปดปี เขาสนิทสนมกับอาจารย์คนใหม่ผู้นี้มาก
ในวัยยี่สิบสาม เขากับอาจารย์เมียวเซ็นตัดสินใจเดินทางไปเมืองจีนพร้อมกันเพื่อศึกษาเซนเพิ่มเติม
โดเก็นไปเรียนเซนที่วัดเซนจีนซึ่งเน้นการเรียนจากโกอาน เขาไม่แน่ใจนักว่านี่เป็นวิธีที่ถูกต้อง
สองปีต่อมาโดเก็นไปเรียนเซนสายเส้าต้งที่ภูเขาเทียนต้งที่หนิงโป อาจารย์คนใหม่ของเขาคือเทียนถงหรูจิ้ง (1163-1228) วิธีการคิดของอาจารย์เทียนถงหรูจิ้งแตกต่างจากอาจารย์อื่น ๆ ที่เขาเคยพบ
โดเก็นฝึกฝนทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือหนาว เขาบอกว่า "ถ้าศิษย์ไม่ฝึกขณะที่ร่างกายยังแข็งแรง จะมีร่างกายเอาไว้ทำไม?"
อาจารย์เทียนถงหรูจิ้งสอนให้เขาปลดปล่อยกายและใจเป็นอิสระ อาจารย์มีวิธีการสอนต่างไปจากคนอื่น ด้วยประโยคที่ตราตรึงใจเขาไปนานชั่วชีวิตคือ "จงสลัดกายและใจออกไป"
หลักของอาจารย์คือ "การศึกษาวิถีทางที่แท้ก็คือการศึกษาตัวเอง การศึกษาตัวเองก็คือการลืมตัวตนของตัวเอง การลืมตัวตนของตัวเองก็คือการรู้แจ้งจากทุกสิ่งในจักรวาล การรู้แจ้งจากทุกสิ่งในจักรวาลก็คือการสลัดกายและใจออกไปจากตัวเองและคนอื่น แม้แต่ร่องรอยของการรู้แจ้งก็ถูกปิดทิ้งไป แล้วชีวิตที่รู้แจ้งจะเดินต่อไปตลอดกาล"
ส่วนที่ยากที่สุดของการรู้แจ้งคือการปล่อยวางความคิดปรุงแต่งและความคิดสำเร็จรูปทั้งหลาย
การปลดปล่อยการและใจก็เช่นการวางผลไม้ในตะกร้าก้นรั่ว หรือการเทน้ำใส่ในถังที่มีรูรั่ว เมื่อรู็ตัวว่าก้นถังรั่ว ใส่เท่าไรก็ไม่มีทางเต็ม
วันหนึ่งเขาได้ยินอาจารย์เทียนถงหรูจิ้งดุศิษย์คนหนึ่งที่เผลอหลับว่า "การฝึกซาเซนก็คือการละวางทั้งกายและจิต เจ้างีบแบบนี้จะบรรลุอะไรได้"
บัดนั้นเขาก็เข้าใจทันทีว่า ซาเซนไม่ใช่แค่การนั่งนิ่ง ๆ แต่เป็นการเปิดเผยตัวตนของตน หมดซึ่งทวินิยม และด้วยประโยคนี้ โดเก็นก็บรรลุธรรม
โดเก็นมองเห็นว่า ฟืนที่ก่อไฟมิได้กลายเป็นเถ้า ชีวิตก็มิได้กลายเป็นความตาย เช่นเดียวกับฤดูหนาวมิได้กลายเป็นฤดูใบไม้ผลิ ทั้งนี้เพราะทุก ๆ ชั่วขณะของเวลาเป็นช่วงยามของมันเอง
และนี่คือที่มาของศิษย์โดดเด่นที่สุดของของ เอไซ เซนจิ คือ เอเฮ โดเก็น ผู้ไม่เดินตามเส้นทางของอาจารย์ และเป็นคนวางรากฐาน โซโต เซน ในญี่ปุ่น
วินทร์ เลียววาริณ
27-4-25................................
จาก มังกรเซน และ Mini Zen (เซนฉบับการ์ตูน)
หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้วมังกรเซน Shopee คลิก https://shope.ee/2VUCymbmSh?share_channel_code=6
เว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/244/Mini%20Zen%20คู่%20Mini%20Tao
1 วันที่ผ่านมา -
(ต่อจากตอนที่แล้ว https://www.facebook.com/photo?fbid=1275520810603274&set=a.208269707328395)
หลังจากหมดไวน์แดงไปอีกหนึ่งขวด โก้วเล้งถามข้าพเจ้า "คุณสายเขียนอะไร?"
"เขียนตามใบสั่ง ผมเป็นนักเขียนผี เพราะหากเขียนในชื่อของผม มักขายไม่ออก จึงไม่มีใครอยากตีพิมพ์งานของผม"
"ผมเองเขียนนิทานมาหลายปีแล้ว แต่ไม่มีใครยอมตีพิมพ์ บรรณาธิการบอกว่าภาษาของผมสั้น ห้วน เป็นปรัชญาเกินไป เด็กอ่านไม่รู้เรื่อง"
"งั้นคุณน่าจะเปลี่ยนไปเขียนเรื่องแนวอื่น อย่างนิยายกำลังภายในแบบใหม่"
"อย่างไรครับที่เป็นแบบใหม่?"
"คุณก็อาจสร้างตัวละครที่สมจริง เล่นอะไรแรง ๆ เลย เช่นอาจสร้างตัวละครที่มีทั้งด้านดีและไม่ดีในคนเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเก่งเกินไปก็ได้ อาจสร้างตัวละครที่เหมือนอย่างผม ขาไม่ดี..."
"ขาคุณสายเป็นอะไร?"
"ผมเหยียบตะปูแล้วไม่รักษา คุณอาจให้พระเอกของคุณขาไม่ดีอย่างผม เดินลากเท้าทีละก้าว... อ้อ! เขาบ้ากินหมูแผ่น... เอางี้! ผมว่าให้เป็นโรคลมบ้าหมูด้วยจะแรงกว่า แต่ฝีมือดาบของเขาไวมาก ฟันฉับเดียว แมลงวันที่บินผ่านขาดเป็นสองท่อน มันเปื้อนเลือดตกลงมาแบบสโลว์โมชั่นเหมือนเกล็ดหิมะที่ลอยลงมาช้า ๆ"
"หิมะเปื้อนเลือด... หิมะแดง! จอมดาบหิมะแดง!"
"คุณเห็นภาพใช่มั้ย?"
"โอ! เยส! ตุ้ย! ใช่! เป็นความตายที่งดงามมาก"
"จะเห็นว่าตัวละครที่เป็นแบบแอนตี้ฮีโร่มีสีสันกว่าตัวละครแบบเดิม ๆ"
"งั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องให้พระเอกเป็นคนหนุ่มหล่อเหลา"
"ถูกต้อง อาจเป็นพวกจอมยุทธ์ขี้เมา อายุมากขึ้นมาหน่อย เป็นขี้เมาอย่างผมกับคุณ แต่ปามีดแม่นเป็นบ้า ผมเคยเห็นใครคนหนึ่งสลัดมีดสั้นออกจากหนังสือแม่นระดับตัดแมลงวันที่บินห่างสองวาขาดสองท่อน รู้แล้ว เอางี้... ตัวละครนี้ชอบอ่านหนังสือและฝึกฝนมีดสั้นไปพร้อมกัน เขาอ่านมากและไปสอบเอนทรานซ์ในเมืองหลวงได้ที่หนึ่ง เอาเป็นที่สองก็แล้วกัน เดี๋ยวจะเก่งเกินไป"
"ทำไมใช้มีด ไม่ใช้ดาบหรือกระบี่?"
"คนใช้ดาบเยอะแล้ว เอาเป็นจอมมีดดีกว่า มีดสั้นเล็ก ๆ ดูธรรมดา แต่มีฤทธิ์มาก"
"เขาชื่ออะไร?"
"เขาเป็นคนที่อบอุ่นมาก ถ้าเป็นคนไทย ผมจะตั้งชื่อเขาว่า คิมหันต์ แปลว่าฤดูร้อน เป็นคิมหันต์ที่ชอบลี้จากความรัก"
"ลี้คิมหันต์ แต้จิ๋วออกเสียงว่า ลี้คิมฮวง เชิญว่าต่อไป"
"เขาร่อนเร่ไปทั่วยุทธจักร เพราะ..."
ข้าพเจ้านึกถึงหญิงสาวที่อยู่ในใจ "...ผู้หญิงคนหนึ่ง งดงามยิ่ง"
"ถ้างดงามมาก ทำไมเขาจึงจากเธอมา?"
"ชายชาตรีมีบ้างพึงกระทำ มีบ้างมิพึงกระทำ เขาจากมาเพราะอกหักจากผู้หญิงคนนั้น เขาอกหักเพราะหลีกทางให้เพื่อน"
"ทำไม? เพื่ออะไร?"
"ชายชาตรีมีบ้างพึงกระทำ มีบ้างมิพึงกระทำ ทั้งนี้เพราะเพื่อนคนนั้นเคยช่วยชีวิตเขาไว้ และบอกเขาว่าหลงรักผู้หญิงคนเดียวกับที่เขารัก เขาไม่มีทางเลือกนอกจากลาจากสตรีที่รักมาอย่างเศร้าสลด"
"โรแมนติกสิ้นดี"
ข้าพเจ้าสำลักเหล้า ไอโขลก
"อา! รู้แล้ว เขามักใช้มีดสั้นแกะสลักแท่งไม้เป็นใบหน้าของหญิงคนนั้นขณะที่ไอโขลก และซดเหล้าแทนยาแก้ไอ ทั้งไอแค้ก ๆ และไอเลิฟยู เธออยู่ในใจของเขามาตลอด"
"น้ำตาผมใกล้ไหลแล้ว"
ข้าพเจ้ายื่นกระดาษทิชชูให้โก้วเล้ง
ลูกค้าฝรั่งคนหนึ่งที่นั่งอยู่ที่โต๊ะใกล้ ๆ เอ่ยแทรกขึ้นว่า "ขออภัย ผมขอแนะนำตนเอง ผมชื่อ มาริโอ พูโซ ผมบังเอิญได้ยินคุณทั้งสองคุยกัน คุณยังพอมีทิชชู เอ้ย! พล็อตเหลือให้ผมบ้างไหม?"
"คุณจะเอาพล็อตไปทำไม?"
"ผมเป็นนักแต่งนิทาน..."
"แปลกนะ แถวนี้มีแต่นักแต่งนิทาน"
"ผมเองก็เบื่อเขียนนิทานให้เด็กอ่านแล้ว อยากเขียนแบบโหด ๆ มั่ง"
ข้าพเจ้าเหลือบมองหนังสือที่อ่านค้างอยู่ มาเฟียก้นซอย ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
"คุณก็อาจสร้างตัวละครที่เป็นเจ้าพ่อ แบบคนแก่ ๆ ใจดี แต่คิดอ่านลึกซึ้ง..."
ข้าพเจ้าสำลักไวน์ ไอเสียงแหบ
"เขาเป็นเจ้าพ่อที่มักยื่นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ เสียงของเขาแหบพร่าเหมือนคนใกล้หมดลม แต่ให้ตายเถอะ กลับมีอำนาจเหลือเกิน แกมีลูกชายสามคนชื่อ ซอนนี่ พงษ์, เฟรด บุญมา และ ไมเกิ้ล ล้วน..."
โก้วเล้งกับ มาริโอ พูโซ มองตากัน แล้วต่างคนต่างง่วนกับการจด
.....................................
จาก ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติ พิมพ์ครั้งที่ 85
นวนิยายรัก + อิงประวัติศาสตร์ + ไซไฟ + ล้อเลียน + เสียดสีการเมือง2 วันที่ผ่านมา