• วินทร์ เลียววาริณ
    0 วันที่ผ่านมา

    (ต่อจาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=1277860730369282&set=a.208269707328395)

    หลังสงครามโลกยุติ โจรสลัดก็ยังไม่หยุดทำงาน เรือสินค้าของมลายูและพม่าถูกปล้น หายสาบสูญไปหลายสิบลำ

    เรือสินค้าจำนวนมากหายไปกลางทะเลพร้อม ๆ กันทำให้เจ้าของเรือร้องเรียนต่อทางการอังกฤษ ผู้ปกครองมลายูและพม่า

    ที่ปีนัง กลุ่มพ่อค้าปรึกษาหาทางปัญหานี้ ในที่สุดมีมติให้เรือสินค้าติดอาวุธ และมีขบวนเรือคุ้มกันไปด้วย

    เวลา ๒๔.๐๐ น. วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๙ เรือโจรสลัดบุกปล้นเรือสินค้าที่กำลังแล่นไปปีนัง เมื่อเรือโจรไปถึงก็พบว่าเหยื่อรออยู่แล้วพร้อมปืน ระดมยิงใส่ ทั้งสองยิงกันราวสองชั่วโมง เรือโจรถูกจมสองลำ ถูกยิงตายห้าคน จับเป็นห้าคน

    เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายโจรสลัดถูก ‘เอาคืน’

    เดือนถัดมา เรือสินค้าถล่มเรือโจรสลัดด้วยปืนกลและระเบิดมือ จมเรือโจรสลัดได้หนึ่งลำ เรือลำที่สองหนีไป

    นอกจากนี้ทางการอังกฤษส่งเรือรบประกบเรือสินค้า เมื่อเรือโจรสลัดบุกปล้น ก็ถูกยิงสวนกลับ

    อังกฤษเริ่มกดดันรัฐบาลไทย

    วันหนึ่งรัฐบาลไทยได้รับจดหมายด่วนจากกองบัญชาการทหารอังกฤษภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ แจ้งเรื่องโจรสลัดตะรุเตาปล้นเรือสินค้าของอาณานิคมอังกฤษ

    จดหมายเขียนตรง ๆ ว่า ถ้ารัฐบาลไทยไม่ลงมือ อังกฤษจะลงมือเอง แม้เป็นเขตน่านน้ำไทย

    ประเทศไทยในช่วงหลังสงครามไม่ต้องการมีเรื่องขัดใจกับอังกฤษเนื่องจากอังกฤษเป็นประเทศเดียวที่ไม่ยอมให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงครามแต่ถูกสหรัฐอเมริกากดดันจนยอมรับ การที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นโจรสลัดเสียเองทำให้ฝ่ายไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในที่สุดก็ตกลงให้อังกฤษยกกำลังทหารไปปราบโจรสลัดตะรุเตา

    ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงที่รัฐบาลไทยไม่ปราบปรามโจรสลัดเอง แต่ยอมให้อังกฤษปราบ เป็นเพราะเครือข่ายของโจรสลัดกว้างขวางจนปราบยาก ในที่สุดงานปราบโจรสลัดก็เป็นของกองทัพอังกฤษ

    ทางการไทยเพียงทำหน้าที่ประสานงาน ส่ง ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ ข้าหลวงตรวจการกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้แทนไปปีนังอย่างเงียบเชียบ เพื่อร่วมวางแผนกับฝ่ายอังกฤษ ที่ประชุมวางแผนการบุกเกาะตะรุเตาราวกลางเดือนมีนาคม แม้กระทำอย่างเป็นความลับ แต่กระนั้นแผนการบุกตะรุเตาของอังกฤษก็เข้าหูฝ่ายโจรสลัดอย่างไม่น่าเชื่อ

    ขุนอภิพัฒน์ฯรู้ข่าวลับ ก็กลับไปที่ตะรุเตา บัญชาการให้ขนย้ายสินค้าไปซ่อนหรือเผาทำลายหลักฐานตลอดทั้งคืน นักโทษโจรสลัดหลายคนรู้ว่าความผิดมาถึงตัว ก็เผ่นหนี โดยสารเรือเล็กหลบหนีไป

    ๗ นาฬิกาวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เครื่องบินอังกฤษสองลำบินผ่านเกาะเพื่อสังเกตการณ์ ตามมาด้วยเรือรบ นำโดยพลจัตวาเธอร์เรย์ ส่งทหารห้าร้อยคนขึ้นฝั่ง ยึดเกาะได้อย่างง่ายดาย เพราะฝ่ายโจรสลัดยอมแพ้แต่โดยดี ขณะที่ผู้อำนวยการเกาะออกไปต้อนรับทหารอังกฤษ

    ทหารอังกฤษจับโจรสลัดและข้าราชการจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผู้อำนวยการ ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ ไปส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเพื่อดำเนินคดี อาจเพราะไม่แน่ใจว่าคนร้ายจะหายตัวไปได้

    พลจัตวาเธอร์เรย์เกรงว่าพวกโจรสลัดจะหลบหนีตอนจับตัวไปส่งที่จังหวัดสตูล ตลอดทางไปสตูล สั่งให้โจรสลัดที่ถูกจับนั่งตากแดดบนดาดฟ้าเรือเพื่อทรมาน

    วันที่ ๒๑ มีนาคม ทหารอังกฤษถอนตัวออกจากเกาะ เหลือกำลังเล็กน้อยดูแลเกาะ

    ทหารอังกฤษส่งมอบผู้ต้องหาให้ฝ่ายไทย โดยมี ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ ข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ประสานงาน

    ในการดำเนินคดี ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ กับ ร.อ. วิทวอร์ด นำข้าวสารสามกระสอบ พริกแห้งสองกระสอบเป็นของกลางสำหรับดำเนินคดี

    ฝากขังโจรสลัดในเรือนจำสตูล หลังจากนั้น ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ ก็โทรเลขรายงานไปที่กระทรวงมหาดไทย

    นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นสอบสวนเรื่องนี้ แต่งตั้งพระยารามราชภักดีเป็นประธาน พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ

    หลักฐานในมือ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์นั้นมัดพวกโจรสลัดตะรุเตาแน่นหนา

    นโยบาย ‘ร่วมกันปล้น แบ่งกันรับ’ ของโจรสลัดตะรุเตาทำให้ระบบยุติธรรมทำงานได้ยากมาก เพราะไม่มีใครกล้าเป็นพยาน ในที่สุดก็ส่งคดีไปที่ศาลจังหวัดสงขลา เพื่อไม่ให้ระบบยุติธรรมถูกเส้นสายของโจรสลัดกดดันหรือคุกคาม

    ขณะที่คดีความดำเนินไป พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ก็ถูก ‘ย้ายฟ้าผ่า’ เข้าประจำกรม กลิ่นความไม่ปกติโชยไปทั่ว หรือว่าอำนาจโจรสลัดจะแผ่ไปถึงกรุงเทพฯ?

    ไม่นานต่อมา รัฐมนตรี เตียง ศิริขันธ์ ฉายาขุนพลภูพาน ก็ขอตัว พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ไปทำงานด้วย

    พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ได้โอกาสรายงานความจริงเรื่องโจรสลัดตะรุเตาแก่นายเตียงผู้เป็นเจ้าของคำพูด “ข้าพเจ้าต้องการให้ทุก ๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง” จึงต้องการปราบโจรสลัดตะรุเตาเช่นกัน

    พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์จึงได้ทำงานนี้ต่อไป

    แต่ทำได้ไม่นานก็มีคำสั่งฟ้าผ่าย้ายไปรับตำแหน่งผู้บังคับการเขต ๑ ลำปาง

    พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ยังดิ้นรนต่อไป ติดต่อผู้ใหญ่หลายคน ให้รับทราบว่า การย้ายเขาออกไปอาจทำให้คดีพลิก และโจรสลัดหลุดรอดไปได้

    พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ถูกส่งตัวกลับมาอีกครั้งเพื่อให้จัดการคดีนี้จนสำเร็จก่อน

    ศาลชั้นต้นจังหวัดสงขลาพิพากษาลงโทษขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ จำคุก ๑๕ ปี โจรสลัดที่เหลือได้รับโทษไปตามความผิด

    ผ่านสามศาล ศาลฎีกาก็ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

    รัฐบาลสั่งปิดทัณฑสถานตะรุเตาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ นักโทษบนเกาะถูกย้ายไปฝากขังตามเรือนจำจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้

    การทำคดีใหญ่ระดับนี้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ผู้ต้องหามีอิทธิพลสูงสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าเมืองไทยยังมีตำรวจน้ำดี อย่างไรก็ตาม ชะตาชีวิตของ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข กลับพลิกผัน เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏวังหลวงในปี ๒๔๙๒ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ก็ถูกสังหารโหดคาบ้าน

    ประวัติศาสตร์ไทยท่อนโจรสลัดแห่งตะรุเตาบอกเราสองเรื่อง

    หนึ่ง ข้าราชการชั่ว เลวร้ายกว่าโจร

    สอง หากผู้รักษากฎหมายเอาจริง ไม่มีทางที่โจรผู้ร้ายจะเหิมเกริมได้

    ............................

    จากชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม / วินทร์ เลียววาริณ

    ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ คุ้มที่สุด 6 เล่ม 1,000 บาท จากราคาปก 1,605.-
    118 เรื่อง = เรื่องละ 8.4 บาท

    หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว

    สั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6 

    สั่งทางเว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/176/%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%20%E0%B9%91-%E0%B9%95%20+%20%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%A9 

    0
    • 0 แชร์
    • 8

บทความล่าสุด