• วินทร์ เลียววาริณ
    1 วันที่ผ่านมา

    เช้าวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ประชาชนชาวไทยตื่นขึ้นมาพร้อมข่าวว่ารัฐบาลเก่าถูกโค่นแล้ว

    คณะรัฐประหารคือกลุ่มทหารนอกราชการ นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ น.อ. กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ. ถนอม กิตติขจร พ.ท. ประภาส จารุเสถียร ร.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เรียกกลุ่มของตนเองว่า คณะทหารแห่งชาติ

    เช้าวันที่ ๘ พฤศจิกายน พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร แถลงต่อสื่อมวลชนถึงเหตุผลที่ก่อรัฐประหารด้วยน้ำตานองหน้าว่า “เรายึดอำนาจเพราะความจำเป็นจริง ๆ”

    ทันใดนั้น พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ก็ได้รับฉายาจากชาวบ้านว่า ‘วีรบุรุษเจ้าน้ำตา’ หรือ ‘บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล’

    คณะทหารแห่งชาติแต่งตั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้หมดบทบาททางการเมืองไปแล้ว เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ มีอำนาจควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ

    คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๐ ฉบับชั่วคราว หรือที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม เพราะหลวงกาจสงครามร่างไว้ล่วงหน้า แล้วนำไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มในบ้าน เพราะกลัวว่าหากถูกตำรวจจับได้ จะต้องข้อหากบฏ

    ผู้ก่อการตั้งใจให้จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ใครคนหนึ่งในที่ประชุมรัฐประหารกล่าวว่า “จังหวะยังไม่เหมาะสมที่จอมพล ป. จะเป็นนายกฯ”

    “ทำไม?”

    “จอมพล ป. ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ยากที่ฝ่ายตะวันตกจะยอมรับรัฐบาลใหม่”

    “งั้นเราก็ต้องหาตัวแทนขัดตาทัพไปก่อน”

    นอมินีก็ไปลงที่พันธมิตรทางการเมือง

    นายควง อภัยวงศ์ กับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ถูกตามตัวโดยด่วนไปพบฝ่ายทหารและจอมพล ป. พิบูลสงคราม

    คณะทหารให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

    นายควงถามความเห็นลูกพรรค หลายเสียงว่า “ไม่ควรรับ คุณควงจะเป็นเครื่องมือคณะรัฐประหารเปล่า ๆ”

    แต่เสียงลูกพรรคส่วนใหญ่ให้รับ “เพื่อเห็นแก่ชาติบ้านเมือง”

    จอมพล ป. ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “ผมไม่ยอมรับตำแหน่งการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากตำแหน่งทางทหารเท่านั้น แต่ทั้งนี้ผมจะอยู่ช่วยไปพลางก่อน จนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาราษฎรเสร็จแล้ว”

    เพื่อล้างคาวคณะรัฐประหารให้หมดไป นายควง อภัยวงศ์ ก็จัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก นายควง อภัยวงศ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย

    นายควงบอกคนใกล้ชิดว่า “หากราคาสินค้าไม่ลดลงมา ผมตายแน่”

    ผ่านไปไม่กี่เดือน ราคาสินค้าก็ยังไม่ลง

    ในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๙๑ นายทหารสี่นายไปหานายควง อภัยวงศ์ ที่บ้าน หนึ่งในนั้นกล่าวว่า “กระผมในนามของคณะรัฐประหารมาเพื่อแจ้งแก่ท่านนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาตัวเองในการกราบถวายบังคมลาออก”

    ก่อนลากลับกล่าวอย่างสุภาพว่า “เราจะรอคอยคำตอบภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง”

    ยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อมา ประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่หน้าเดิม

    จอมพล ป. พิบูลสงคราม

    เมื่อเหตุผลที่จี้ให้นายควงลาออกคือราคาสินค้าสูง และหากจอมพล ป. ไม่สามารถแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงได้ ก็ไม่ชอบธรรมที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

    ดังนั้นในเวลาไม่นาน รัฐบาลก็ประกาศตั้งราคาสินค้าทั้งหมดให้ต่ำลงมาได้อย่างน่าอัศจรรย์!

    ราคาสินค้าลดตามคำสั่ง แม้คุณภาพและปริมาณลดตามไปด้วย แต่ก็ถือว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจสำเร็จแล้ว!

    แต่รัฐประหาร ๒๔๙๐ ยังไม่ได้ถอนรากถอนโคนศัตรูทางการเมืองที่แท้จริง

    ปรีดี พนมยงค์

    ...........................

    ในราตรีรัฐประหาร ๒๔๙๐ เมื่อทหารบุกทำเนียบท่าช้าง นาทีที่เสียงปืนรถถังยิงประตูทำเนียบ ปรีดี พนงยงค์ ก็หนีไปได้อย่างหวุดหวิดพร้อมคนสนิทสองสามคน

    นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ รัฐมนตรี บอกว่า “เราสามารถสู้ได้ เพราะมีอาวุธเสรีไทยมากพอ หากทหารเรือร่วมด้วย”

    นายเตียง ศิริขันธ์ เสนอว่า “เราสามารถยกไปตั้งหลักที่อีสาน และประกาศให้อีสานเป็นรัฐอิสระ”

    แต่ทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ปฏิเสธ บอกว่า “ต่อให้สู้ชนะ ก็ไม่มีประโยชน์ ตอนนี้ประชาชนไม่เอารัฐบาลชุดนี้”

    ปรีดี พนมยงค์ หนีไปหลบภัยที่ฐานทัพเรือสัตหีบระยะหนึ่ง เพื่อประเมินสถานการณ์ หลังจากนั้นก็เดินทางไปสิงคโปร์ ด้วยความช่วยเหลือของทหารเรือ

    อดีตหัวหน้าเสรีไทยผู้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯและอังกฤษ ได้รับความช่วยเหลือจาก น.อ. สแตรทฟอร์ด เดนนิส ผู้ช่วยทูตทหารเรืออังกฤษ กับ น.อ. อัลเฟรด การ์เดส ผู้ช่วยทูตทหารเรือสหรัฐฯ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก เจฟฟรี ทอมป์สัน เอกอัครราชทูตอังกฤษ เอ็ดวิน สแตนตัน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย วางแผนส่งนายปรีดีไปที่สิงคโปร์

    น.อ. สแตรทฟอร์ด เดนนิส พา ปรีดี พนมยงค์ และผู้ติดตามสามคนไปส่งลงเรือยนต์ที่ท่าเรือกรุงเทพฯ น.อ. อัลเฟรด การ์เดส เป็นผู้ขับเรือชักธงชาติสหรัฐฯ ออกจากปากน้ำเจ้าพระยา ไปส่งขึ้นเรือบรรทุกน้ำมันบริษัทเชลล์ไปสิงคโปร์ โดยเอกอัครราชทูตอังกฤษและสหรัฐฯติดต่อกับผู้จัดการบริษัทเชลล์ในประเทศไทยก่อนแล้ว

    ปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปถึงสิงคโปร์วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน  ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ ลอร์ด คิลเลิน มาต้อนรับ พักที่สิงคโปร์หกเดือน

    ระหว่างนั้นปรีดีขอให้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน (นายดิเรก ชัยนาม เป็นเอกอัครราชทูต) และสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงนานกิง (สงวน ตุลารักษ์ เป็นเอกอัครราชทูต) ออกหนังสือเดินทางให้

    ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๑ ปรีดี พนมยงค์ ไปฮ่องกง แล้วไปต่อที่เซี่ยงไฮ้ และตัดสินใจไปลี้ภัยที่เม็กซิโก ผ่านเมืองซาน ฟรานซิสโก

    ขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ กำลังจะเดินทางออกจากจีน รองกงสุลสหรัฐฯประจำเซี่ยงไฮ้ นายนอร์แมน บี. ฮันนาห์ กระชากหนังสือเดินทางของนายปรีดีจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีน และขีดฆ่าวีซ่าของสหรัฐฯที่สถานทูตสหรัฐฯในลอนดอนประทับตราให้ ผลคือ ปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถไปเม็กซิโก

    อดีตหัวหน้าเสรีไทยรู้สึกเศร้าใจ เพราะเมื่อปีก่อนเพิ่งได้รับเหรียญ Medal of Freedom จากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่กลับถูกหมิ่นประมาทไม่ให้เกียรติแม้แต่น้อย

    ไม่นานกงสุลใหญ่สหรัฐฯก็มาขอโทษ แจ้งว่า นายนอร์แมนเป็นสายลับซีไอเอ กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯให้ประทับตราวีซ่าคืนแล้ว

    ปรีดี พนมยงค์ เปลี่ยนใจไม่ไปสหรัฐฯ แต่อยู่เมืองจีนต่อไป ตามคำเชิญของจอมพลเจียงไคเช็ก

    คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต การขีดฆ่าวีซ่าของสหรัฐฯทำให้ ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ไปสหรัฐฯและเม็กซิโก มันเปลี่ยนวิถีการเมืองไทยไปด้วย

    ปรีดี พนมยงค์ ตัดสินใจหวนกลับเมืองไทย

    สะสางบัญชี

    ผลก็คือรัฐประหารครั้งใหม่

    วินทร์ เลียววาริณ
    ๓๐-๔-๖๘

    ............................

    ย่อความจากชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม

    ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ คุ้มที่สุด 6 เล่ม 1,000 บาท จากราคาปก 1,605.-
    118 เรื่อง = เรื่องละ 8.4 บาท หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว

    สั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6 

    สั่งทางเว็บ https://www.winbookclub.com/store/detail/176/%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%20%E0%B9%91-%E0%B9%95%20+%20%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%A9 

    0
    • 0 แชร์
    • 14

บทความล่าสุด