-
วินทร์ เลียววาริณ0 วันที่ผ่านมา
เคยถามตัวเองไหมว่าคุณกำลังใช้ชีวิตแบบไหน รีบๆ ร้อนๆ ทำแต่ละเรื่องให้จบไวๆ (fast lane) หรือไปช้าๆ (slow life) ?
นานๆ ทีเราก็ควรสำรวจตัวเอง และปรับจังหวะย่างก้าวของเรา
ยังมีอีกหนทางหนึ่งคือใช้ชีวิตแบบ SLOW life
SLOW life เป็นคนละเรื่องกับ slow life
ในที่นี้ SLOW ย่อมาจากคำว่า Simple + Love + Open-hearted & Open-minded + Work hard
...................
-Simple-คือง่าย ๆ มองโลกแบบง่าย ๆ ใช้ชีวิตแบบง่าย ๆ ไม่ประดิดประดอย ไม่หยุมหยิม พูดแบบ simple คือไม่เรื่องมาก
กินข้าวก็กินเพื่อเอาแรง ไม่ต้องวุ่นวาย ไม่ต้องมีพิธีรีตองนัก
ซื้อรถก็เพื่อใช้งาน ไม่เสแสร้ง ไม่ทำให้ชีวิตยุ่งยาก ไม่เป็นทาสรถยนต์ หาเสื้อผ้าก็เอาแบบง่าย ๆ ไม่ต้องหรูหราเกินกำลังและความเหมาะสมของการใช้สอย ซักง่ายใส่สะดวก หาแฟนก็หาโดยไม่ต้องทำให้ชีวิตยุ่งยากขึ้น เหนื่อยขึ้น หรือต้องดิ้นรนจนไม่มีความสุข
...................
-Love-คือรัก ใคร ๆ ก็รู้ แต่รู้ไหมว่าจะรักอย่างไร?
รักแท้ต้องกำกับด้วยเมตตา ไม่ใช่รักเพื่อตัวเองอย่างเดียว รักแท้ไม่ใช่ความเป็นเจ้าของ ไม่ต้องถือสิทธิ์ ไม่ต้องคาดหวัง
ความรักยังรวมถึงชีวิตอื่น สังคม โลก พืช สัตว์ ไม่ทำร้ายใครและอะไร
เราจะรักคนอื่นได้อย่างไร หากเรายังทำลายโลกอยู่? เพราะความรักที่แท้คือหัวใจที่มีเมตตากำกับเสมอ
...................
-Open-hearted-คือการเปิดใจกว้าง ไม่มีอะไรไม่ดีที่ต้องปกปิด ใจสะอาดจนสามารถเปิดให้คนอื่นดูได้ ไม่เก็บขยะในหัวใจ
แต่เปิดใจกว้างอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องคู่กับเปิดสมองกว้างด้วย คนใจดีแต่โง่มักเป็นเหยื่อคนฉลาด คนคด คนโกง ใจดีก็เป็นทุกข์ได้หากรู้ไม่เท่าทันคนอื่น ดังนั้นใจดีต้องมาพร้อมกับสมองดี เปิดสมองกว้าง แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ
Open-hearted ต้องมาพร้อมกับ Open-minded พัฒนาไปพร้อมกัน
...................
-Work hard-คือทำงานหนัก เป็นคาถากันผีที่ดีที่สุดในโลก บุคคลสำคัญ คนที่เปลี่ยนแปลงโลก คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ล้วนใช้คาถานี้
ฉลาดแค่ไหนก็ไม่เกิดผลหากไม่ยอมลงมือทำงาน ทำงานนิดก็บ่นว่าเหนื่อยย่อมไม่มีวันประสบความสำเร็จ รวยแล้วไม่ทำงานก็จนลงได้
การทำงานหนักไม่ได้แปลว่าต้องแบกปูนหนักร้อยกิโลฯ หรือทำงานวันละ 20 ชั่วโมง ทำงานหนักหมายถึงใจสู้งาน ไม่หนีงาน ไม่กลัวมือเปื้อนดิน ไม่หยิบหย่ง เมื่อถึงเวลาต้องทำความฝันให้เป็นความจริง ก็ลงมือเลย ไม่เกี่ยงงอน ไม่แบมือขอเงินจากคนอื่น เพราะเรามีสมองและศักดิ์ศรี เรามีตีน เรายืนของเราเองได้
...................
คุณสมบัติทั้งสี่ประกอบกันเป็นชีวิตแบบ SLOW
มันเป็นชีวิตที่ดี ไม่เร่งรีบ แต่ก็ไม่เชื่องช้า ไม่หยุดนิ่ง แต่ก็ไม่ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา ช้าเมื่อถึงเวลาช้า เร็วเมื่อต้องเร็ว ทำงานเมื่อต้องทำงาน พักผ่อนเมื่อสมควรพักผ่อน ทุกอย่างสมดุล
ขยัน อดทน ทำงานหนัก ใช้ชีวิตแบบง่าย ๆ เปิดสมองเรียนรู้ทุกสิ่ง เปิดหัวใจ กล้าทำ กล้ารัก ไม่หมกเม็ดหมักหมมขยะในหัวใจ เท่านี้ชีวิตก็เจริญ ใจก็สงบ สุขไปจนวันตาย
อืม! สูตร SLOW life นี่ดีจริง ๆ
วินทร์ เลียววาริณ
29-4-25..................................
ท่อนหนึ่งจากหนังสือ ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว
31 บทความกำลังใจ ราคาเพียง 190 บาท = บทความละ 6.1 บาท (ไม่คิดค่าส่ง) หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
เล่มเดี่ยว https://www.winbookclub.com/store/detail/137/ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว
เซ็ทโปรโมชั่นพิเศษ
0- แชร์
- 31
-
เล่าเรื่องรัฐประหารของไทยต่อ
ก็มาถึงรัฐประหารปี พ.ศ. ๒๔๙๐
คณะราษฎรขึ้นสู่อำนาจในปี ๒๔๗๕ โดยรัฐประหาร หลังจากนั้นก็รัฐประหารกันเอง จนมาถึงครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๔๙๐
หลังจากนั้นก็ถือว่าคณะราษฎรหายไปจากโลก เหลือแต่ผู้ชนะคนเดียวที่สืบทอดมาจากคณะราษฎร
เรื่องเป็นมาอย่างไร? ก็ต้องอ่านสิ รอ'ไร!
เวลา ๑๗.๐๐ น. วันศุกร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ พล.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก ได้รับรายงานจากลูกน้อง “พวกนั้นร่นเวลาปฏิบัติการเข้ามา”
“เมื่อไร?”
“ห้าทุ่มคืนนี้ พวกนั้นรู้ว่าเรารู้”
“ข่าวรั่วจากไหน?”
“อาจจะรั่วจากพวกตำรวจ”
ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวว่า “สั่งทหารทุกหน่วยกลับกรมกองเดี๋ยวนี้”
มันเป็นคืนวันเสาร์ ทหารหลายหน่วยพักผ่อน เที่ยวเตร่ รถทหารจากหลายกรมกองวิ่งพล่าน ตามตัวทหารที่เที่ยวเตร่ในเมืองอย่างแข่งกับเวลา
คืนนี้ ในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า จะเกิดรัฐประหาร
“นายกฯอยู่ที่ไหน?”
“คืนนี้มีงานที่สวนอัมพร”
“ส่งคนไปแจ้งท่านทันที รวมทั้งคุณปรีดีด้วย”
พล.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ได้ข่าวการก่อรัฐประหารมาพักใหญ่แล้ว เชื่อว่าจะก่อการต้นเดือนพฤศจิกายน ข่าวกรองที่ได้รับคือ กำหนดก่อการเวลา ๐๕.๐๐ น. วันที่ ๘ พฤศจิกายน เขาจึงออกคำสั่งเตรียมจับพวกก่อการทั้งหมดก่อนเช้าวันที่ ๙ พฤศจิกายน
เห็นชัดว่าข่าวนี้รั่วไปถึงหูฝ่ายก่อการ จึงชิงลงมือก่อน
............................................
คืนวันที่ ๗ พฤศจิกายน พรรคประชาธิปัตย์จัดงานเต้นรำการกุศลชื่อ เมตตาบันเทิง ที่สวนอัมพร นายกรัฐมนตรี พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) และนายควง อภัยวงศ์ ผู้นำฝ่ายค้านไปร่วมงานด้วย
ท่ามกลางเสียงดนตรีและเสียงหัวเราะ ทหารคนสนิทเข้าไปหานายกรัฐมนตรี ยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้ พลเรือตรีถวัลย์อ่านแล้ว ผลุนผลันออกจากงานทันที
กระดาษแผ่นนั้นแจ้งว่ามีคนกำลังเดินทางมาจับตัวนายกรัฐมนตรี
รอยต่อของคืนวันศุกร์ที่ ๗ กับวันเสาร์ที่ ๘ คณะก่อการก็ลงมือ
ทหารของ พล.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ขยับตัว แต่ไม่ทันเสียแล้ว กองกำลังฝ่ายก่อการกลืนเมืองในเวลาอันสั้น
เวลาเที่ยงคืนครึ่ง สถานีวิทยุกระจายเสียงก็ประกาศข่าวยึดอำนาจ
............................................
หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ปรีดี พนมยงค์ เชิญ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในเดือนมกราคม ๒๔๘๙ ก็ลาออกเพื่อให้จัดเลือกตั้ง นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สองในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ลาออก ปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกจากสภาฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดช อดีตนักโทษการเมืองบางส่วนหวนกลับเข้าสู่การเมือง เช่น ม.จ. สิทธิพร กฤดากร ม.ร.ว.นิมิตร มงคล นวรัตน พระยาศราภัยวานิช สอ เศรษฐบุตร โชติ คุ้มพันธ์ จับมือกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า
ทันใดนั้นเมืองไทยก็ประกอบด้วยสามขั้วอำนาจ
๑. ขั้ว ปรีดี พนมยงค์ ประกอบด้วยพวกเสรีไทย ส.ส. ภาคอีสาน นักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
๒. ขั้วจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่หมดอำนาจหลังสงครามโลก แต่ยังมีอำนาจแฝง
๓. ขั้วอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม เช่น กลุ่มอดีตกบฏบวรเดช พรรคก้าวหน้า
วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๙๐ ทหารกลุ่มจอมพล ป. ก่อตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์ มีหลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อลงเลือกตั้งที่จะมาถึง
วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จับมือกับ ควง อภัยวงศ์ ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ยุบพรรคก้าวหน้ามารวมกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขาธิการพรรค
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ปรีดี พนมยงค์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จัดการเลือกตั้งใหม่ ผลคือ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
............................
เวลานั้นเศรษฐกิจไทยตกต่ำมากซึ่งเป็นผลจากสงครามโลก ไทยต้องส่งข้าวสารให้อังกฤษ ๑.๕ ล้านตันตามข้อตกลงเพื่อปลดไทยจากประเทศแพ้สงคราม ข้าวขาดแคลน พ่อค้ากักตุนข้าว ประชาชนกินข้าวที่ใช้เลี้ยงสัตว์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่คนไทยต้องต่อแถวเข้าคิวซื้อข้าว น้ำตาลทราย ไม้ขีดไฟ เสื้อผ้าขาดแคลน เกิดภาวะเงินเฟ้อ
สิ่งที่ตามมากับปัญหาเศรษฐกิจคืออาชญากรรม โจรผู้ร้ายชุกชุม อาวุธจำนวนมหาศาลจากกองทัพญี่ปุ่นและเสรีไทยที่ใช้ต้านญี่ปุ่น กลายเป็นเครื่องมือประกอบอาชญากรรม
นายกรัฐมนตรีคนใหม่พยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่มิเพียงไม่สำเร็จ ยังมีปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่เป็นข่าวใหญ่คือการซื้อจอบเสียมไม่ได้มาตรฐานแจกจ่ายให้ราษฎรทำการเกษตร ชาวบ้านชาวเมืองเรียกว่า ‘กินจอบกินเสียม’
นี่เป็นโอกาสทองของขั้วอำนาจที่ ๒
พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ผู้สนิทสนมกับจอมพล ป. วิทยุไปถามอดีตนายกฯที่ลพบุรีว่า “จะเอายังไง? กองทัพพายัพพร้อมแล้ว”
คลื่นใต้น้ำเริ่มต้นเมื่อเกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มทหารกับกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม เป้าหมายคือโค่นรัฐบาลพลเรือนของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์
กลุ่มทหารนอกราชการนำโดย พล.ท. ผิน ชุนหะวัณ นาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม เริ่มเคลื่อนไหว เจรจาจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นพันธมิตรทางการเมือง ด้านหนึ่งโจมตีรัฐบาลทางรัฐสภา ด้านหนึ่งเตรียมยึดอำนาจด้วยกำลัง
สิงหาคม ๒๔๙๐ กลุ่มทหารวางแผนยึดอำนาจ โดยประชุมที่บ้านนายกมล พหลโยธิน
อธิบดีกรมตำรวจ หลวงสังวรยุทธกิจ รายงาน ปรีดี พนมยงค์ และนายกรัฐมนตรีว่า “พวกนั้นเอาแน่”
แต่อดีตหัวหน้าเสรีไทยไม่เชื่อ กล่าวว่า “พวกนั้นมีแต่ทหารนอกประจำการ ทำอะไรไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม ปรีดี พนมยงค์ สั่งบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่า “หากเกิดเรื่องให้ไปที่มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ฯ ที่เก็บอาวุธของเสรีไทย และใช้บ้านมลิวัลย์เป็นวอร์รูม”
กลิ่นรัฐประหารโชยในอากาศ แต่ยังไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น จนนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “นอนรอปฏิวัติมานานแล้ว ไม่เห็นปฏิวัติเสียที”
ตำรวจรู้เรื่องความพยายามก่อรัฐประหาร แต่ไม่ทำอะไร
ร.ต.อ. เฉียบ อัมพุนันท์ ถามอธิบดีกรมตำรวจ หลวงสังวรยุทธกิจว่า “ทำไมไม่จับพวกคิดก่อการ?”
หลวงสังวรยุทธกิจตอบว่า “เราเป็นข้าราชการ ไม่เกี่ยวกับการเมือง จะเปลี่ยนกี่รัฐบาล เราก็เป็นข้าราชการประจำ”
ร.ต.อ. เฉียบว่า “อ้าว! ตำรวจมีหน้าที่ปราบคนที่คิดล้มรัฐบาล”
อธิบดีกรมตำรวจหัวเราะ แล้วว่า “จับอะไรกัน เขามาชวนผมเสียด้วยซ้ำ แต่ผมขอเป็นกลาง ปล่อยให้เขาทำไป แต่เราก็ไม่ได้ขัดขวางอะไร”
เหตุผลที่อธิบดีกรมตำรวจให้คือ รัฐบาลหลวงธำรงฯ “มันเซ็งลี้กันนัก ให้ออกไปกันเสียก็ดี”
จึงสั่งลูกน้องว่า ถ้าเกิดการยึดอำนาจ ให้ตำรวจอยู่เฉย ๆ
แล้วการยึดอำนาจก็เกิดขึ้นในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๐
To be continued.
วินทร์ เลียววาริณ
29-4-25
............................ย่อความจากชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม
ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ คุ้มที่สุด 6 เล่ม 1,000 บาท จากราคาปก 1,605.-
118 เรื่อง = เรื่องละ 8.4 บาท หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้วสั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6
0 วันที่ผ่านมา -
(ต่อจาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=1277860730369282&set=a.208269707328395)
หลังสงครามโลกยุติ โจรสลัดก็ยังไม่หยุดทำงาน เรือสินค้าของมลายูและพม่าถูกปล้น หายสาบสูญไปหลายสิบลำ
เรือสินค้าจำนวนมากหายไปกลางทะเลพร้อม ๆ กันทำให้เจ้าของเรือร้องเรียนต่อทางการอังกฤษ ผู้ปกครองมลายูและพม่า
ที่ปีนัง กลุ่มพ่อค้าปรึกษาหาทางปัญหานี้ ในที่สุดมีมติให้เรือสินค้าติดอาวุธ และมีขบวนเรือคุ้มกันไปด้วย
เวลา ๒๔.๐๐ น. วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๙ เรือโจรสลัดบุกปล้นเรือสินค้าที่กำลังแล่นไปปีนัง เมื่อเรือโจรไปถึงก็พบว่าเหยื่อรออยู่แล้วพร้อมปืน ระดมยิงใส่ ทั้งสองยิงกันราวสองชั่วโมง เรือโจรถูกจมสองลำ ถูกยิงตายห้าคน จับเป็นห้าคน
เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายโจรสลัดถูก ‘เอาคืน’
เดือนถัดมา เรือสินค้าถล่มเรือโจรสลัดด้วยปืนกลและระเบิดมือ จมเรือโจรสลัดได้หนึ่งลำ เรือลำที่สองหนีไป
นอกจากนี้ทางการอังกฤษส่งเรือรบประกบเรือสินค้า เมื่อเรือโจรสลัดบุกปล้น ก็ถูกยิงสวนกลับ
อังกฤษเริ่มกดดันรัฐบาลไทย
วันหนึ่งรัฐบาลไทยได้รับจดหมายด่วนจากกองบัญชาการทหารอังกฤษภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ แจ้งเรื่องโจรสลัดตะรุเตาปล้นเรือสินค้าของอาณานิคมอังกฤษ
จดหมายเขียนตรง ๆ ว่า ถ้ารัฐบาลไทยไม่ลงมือ อังกฤษจะลงมือเอง แม้เป็นเขตน่านน้ำไทย
ประเทศไทยในช่วงหลังสงครามไม่ต้องการมีเรื่องขัดใจกับอังกฤษเนื่องจากอังกฤษเป็นประเทศเดียวที่ไม่ยอมให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงครามแต่ถูกสหรัฐอเมริกากดดันจนยอมรับ การที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นโจรสลัดเสียเองทำให้ฝ่ายไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในที่สุดก็ตกลงให้อังกฤษยกกำลังทหารไปปราบโจรสลัดตะรุเตา
ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงที่รัฐบาลไทยไม่ปราบปรามโจรสลัดเอง แต่ยอมให้อังกฤษปราบ เป็นเพราะเครือข่ายของโจรสลัดกว้างขวางจนปราบยาก ในที่สุดงานปราบโจรสลัดก็เป็นของกองทัพอังกฤษ
ทางการไทยเพียงทำหน้าที่ประสานงาน ส่ง ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ ข้าหลวงตรวจการกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้แทนไปปีนังอย่างเงียบเชียบ เพื่อร่วมวางแผนกับฝ่ายอังกฤษ ที่ประชุมวางแผนการบุกเกาะตะรุเตาราวกลางเดือนมีนาคม แม้กระทำอย่างเป็นความลับ แต่กระนั้นแผนการบุกตะรุเตาของอังกฤษก็เข้าหูฝ่ายโจรสลัดอย่างไม่น่าเชื่อ
ขุนอภิพัฒน์ฯรู้ข่าวลับ ก็กลับไปที่ตะรุเตา บัญชาการให้ขนย้ายสินค้าไปซ่อนหรือเผาทำลายหลักฐานตลอดทั้งคืน นักโทษโจรสลัดหลายคนรู้ว่าความผิดมาถึงตัว ก็เผ่นหนี โดยสารเรือเล็กหลบหนีไป
๗ นาฬิกาวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เครื่องบินอังกฤษสองลำบินผ่านเกาะเพื่อสังเกตการณ์ ตามมาด้วยเรือรบ นำโดยพลจัตวาเธอร์เรย์ ส่งทหารห้าร้อยคนขึ้นฝั่ง ยึดเกาะได้อย่างง่ายดาย เพราะฝ่ายโจรสลัดยอมแพ้แต่โดยดี ขณะที่ผู้อำนวยการเกาะออกไปต้อนรับทหารอังกฤษ
ทหารอังกฤษจับโจรสลัดและข้าราชการจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผู้อำนวยการ ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ ไปส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเพื่อดำเนินคดี อาจเพราะไม่แน่ใจว่าคนร้ายจะหายตัวไปได้
พลจัตวาเธอร์เรย์เกรงว่าพวกโจรสลัดจะหลบหนีตอนจับตัวไปส่งที่จังหวัดสตูล ตลอดทางไปสตูล สั่งให้โจรสลัดที่ถูกจับนั่งตากแดดบนดาดฟ้าเรือเพื่อทรมาน
วันที่ ๒๑ มีนาคม ทหารอังกฤษถอนตัวออกจากเกาะ เหลือกำลังเล็กน้อยดูแลเกาะ
ทหารอังกฤษส่งมอบผู้ต้องหาให้ฝ่ายไทย โดยมี ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ ข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ประสานงาน
ในการดำเนินคดี ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ กับ ร.อ. วิทวอร์ด นำข้าวสารสามกระสอบ พริกแห้งสองกระสอบเป็นของกลางสำหรับดำเนินคดี
ฝากขังโจรสลัดในเรือนจำสตูล หลังจากนั้น ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ ก็โทรเลขรายงานไปที่กระทรวงมหาดไทย
นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นสอบสวนเรื่องนี้ แต่งตั้งพระยารามราชภักดีเป็นประธาน พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ
หลักฐานในมือ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์นั้นมัดพวกโจรสลัดตะรุเตาแน่นหนา
นโยบาย ‘ร่วมกันปล้น แบ่งกันรับ’ ของโจรสลัดตะรุเตาทำให้ระบบยุติธรรมทำงานได้ยากมาก เพราะไม่มีใครกล้าเป็นพยาน ในที่สุดก็ส่งคดีไปที่ศาลจังหวัดสงขลา เพื่อไม่ให้ระบบยุติธรรมถูกเส้นสายของโจรสลัดกดดันหรือคุกคาม
ขณะที่คดีความดำเนินไป พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ก็ถูก ‘ย้ายฟ้าผ่า’ เข้าประจำกรม กลิ่นความไม่ปกติโชยไปทั่ว หรือว่าอำนาจโจรสลัดจะแผ่ไปถึงกรุงเทพฯ?
ไม่นานต่อมา รัฐมนตรี เตียง ศิริขันธ์ ฉายาขุนพลภูพาน ก็ขอตัว พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ไปทำงานด้วย
พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ได้โอกาสรายงานความจริงเรื่องโจรสลัดตะรุเตาแก่นายเตียงผู้เป็นเจ้าของคำพูด “ข้าพเจ้าต้องการให้ทุก ๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง” จึงต้องการปราบโจรสลัดตะรุเตาเช่นกัน
พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์จึงได้ทำงานนี้ต่อไป
แต่ทำได้ไม่นานก็มีคำสั่งฟ้าผ่าย้ายไปรับตำแหน่งผู้บังคับการเขต ๑ ลำปาง
พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ยังดิ้นรนต่อไป ติดต่อผู้ใหญ่หลายคน ให้รับทราบว่า การย้ายเขาออกไปอาจทำให้คดีพลิก และโจรสลัดหลุดรอดไปได้
พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ถูกส่งตัวกลับมาอีกครั้งเพื่อให้จัดการคดีนี้จนสำเร็จก่อน
ศาลชั้นต้นจังหวัดสงขลาพิพากษาลงโทษขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ จำคุก ๑๕ ปี โจรสลัดที่เหลือได้รับโทษไปตามความผิด
ผ่านสามศาล ศาลฎีกาก็ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
รัฐบาลสั่งปิดทัณฑสถานตะรุเตาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ นักโทษบนเกาะถูกย้ายไปฝากขังตามเรือนจำจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้
การทำคดีใหญ่ระดับนี้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ผู้ต้องหามีอิทธิพลสูงสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าเมืองไทยยังมีตำรวจน้ำดี อย่างไรก็ตาม ชะตาชีวิตของ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข กลับพลิกผัน เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏวังหลวงในปี ๒๔๙๒ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ก็ถูกสังหารโหดคาบ้าน
ประวัติศาสตร์ไทยท่อนโจรสลัดแห่งตะรุเตาบอกเราสองเรื่อง
หนึ่ง ข้าราชการชั่ว เลวร้ายกว่าโจร
สอง หากผู้รักษากฎหมายเอาจริง ไม่มีทางที่โจรผู้ร้ายจะเหิมเกริมได้
............................
จากชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม / วินทร์ เลียววาริณ
ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ คุ้มที่สุด 6 เล่ม 1,000 บาท จากราคาปก 1,605.-
118 เรื่อง = เรื่องละ 8.4 บาทหนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
สั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6
1 วันที่ผ่านมา -
สังเกตไหมว่าคนเราชอบแบ่งชีวิตเป็นสุขกับทุกข์โดยเด็ดขาด
การแบ่งแบบนี้ทำให้เกิดค่านิยมว่า เวลามีคนตาย ต้องตีหน้าเศร้าตลอด จะหัวเราะก็รู้สึกไม่เหมาะสม
เวลาถ่ายรูปในงานศพ หลายคนยิ้มโดยอัตโนมัติ แต่ถูกเพื่อนบอกว่า “เฮ้ย! อย่ายิ้ม นี่งานศพนะโว้ย!”
แต่ชีวิตไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์ เพราะเรื่องส่วนใหญ่ในชีวิตเราเป็นอัตวิสัย ไม่สามารถจัดหมวดหมู่ขาว-ดำได้
บางคนได้ข่าวแม่ตายแล้วรู้สึกเศร้าเสียใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ยินดีที่แม่ไม่ต้องทนทุกข์จากโรคร้ายที่รุมเร้าอีกต่อไป
ถูกไล่ออกจากงานเป็นความทุกข์ แต่ก็อาจมีความสุขเจืออยู่ที่ไม่ต้องทนเห็นหน้าเจ้านายมหาโหดอีกต่อไป
ชีวิตก็เหมือนการต้มไข่ ต้มสุกแค่ไหนขึ้นกับความพึงใจ ลิ้นรับความอร่อยของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนชอบแบบครึ่งสุก บางคนชอบแบบสุกเต็มที่
และถึงชอบแบบครึ่งสุกก็ยังแบ่งย่อยออกเป็นระดับอีกมากมาย สุก 52 เปอร์เซ็นต์ สุก 56.125 เปอร์เซ็นต์ สุก 57.54 เปอร์เซ็นต์
ไม่มีสูตรว่า เท่านี้คือสุข เท่านั้นคือทุกข์ มันปน ๆ กัน
ชีวิตไม่ใช่ขนมสอดไส้ที่แบ่งพื้นที่สุข-ทุกข์ออกจากกันชัดเจน ชีวิตคือข้าวสารที่มีข้าวเนื้อดีและกรวดปนมาด้วย
เคยไหมที่เราอยู่ในโมงยามแห่งความสุข แต่จิตนึกถึงเรื่องทุกข์ที่ยังไม่เกิดขึ้น? ในที่สุดมันก็กลายเป็นชั่วโมงของความทุกข์ไป เช่นกัน บางโอกาสที่เราอยู่ในห้วงยามของความทุกข์ แต่กลับรู้สึกอบอุ่นพร้อมที่จะเผชิญปัญหา เปี่ยมด้วยกำลังใจ ถึงแม้เกิดเรื่องร้าย ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกชั่วขณะนั้นอยู่ในโหมดทุกข์
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการเลือกของเราเอง
ยามทุกข์ใจ ก็ไม่จำเป็นต้องละทิ้งส่วนที่เป็นสุขเสียทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องหน้าบึ้งตึงเครียด ยามทุกข์ก็สามารถกินไอศกรีมหรือดูหนังได้
ยามสุขก็ไม่หลงระเริงกับรสชาติของความสบายกายสบายใจจนลืมไปว่ามันไม่ยั่งยืนอยู่ตลอดไป
เพราะเวลาก็คือเวลา สุขทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ว่าวันนั้นเป็นวันจันทร์หรือวันอาทิตย์ เป็นโอกาสอะไร สุขหรือทุกข์อยู่ที่เราปรุงแต่งมันขึ้นมา
สวัสดีวันจันทร์ รักษาระดับความสุขในร่างกายด้วยครับ
วินทร์ เลียววาริณ
28-4-25..................................
ท่อนหนึ่งจากหนังสือ ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว
31 บทความกำลังใจ ราคาเพียง 190 บาท = บทความละ 6.1 บาท (ไม่คิดค่าส่ง) หนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
เล่มเดี่ยว https://www.winbookclub.com/store/detail/137/ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว
เซ็ทโปรโมชั่นพิเศษ
https://www.winbookclub.com/store/detail/235/R4%20%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%204
Shopee
https://shope.ee/Vj8bA8a4u?share_channel_code=61 วันที่ผ่านมา -
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหายไปสองอาทิตย์ เพราะติดงานหนังสือและยุ่งกับเรื่องอื่น
วันนี้เล่าต่อ
ล่าสุดเราเล่าถึงการยิงเป้า ๑๘ ศพเมื่อปี ๒๔๘๒
หลังจากกำจัดศัตรูทางการเมือง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ผงาดเป็นหนึ่งในยุทธภพ แต่พลาดตรงไปร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่น เมื่อไทยอยู่ฝ่ายแพ้สงคราม จอมพล ป. ก็หลุดจากอำนาจ
บ้านเมืองช่วงนั้นเละเทะ โจรภัยมากมาย ทั้งโจรอาชญากรและโจรในคราบตำรวจ
ต้นปีนี้จีนส่งมือปราบหลิวจงอี้มาจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในไทย เพราะทนความล่าช้าของระบบไม่ได้ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเคยเกิดขึ้นมาก่อนในปี ๒๔๘๙
ทางภาคใต้โจรสลัดตะรุเตาปล้นฆ่าอย่างหนัก จนอังกฤษทนไม่ได้ เข้ามาช่วยปราบให้
เกาะตะรุเตาเริ่มใช้เป็นที่คุมขังนักโทษราวปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยเฉพาะนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ นักโทษโดยสันดาน กระทำผิดซ้ำซาก ไม่เข็ดหลาบ จึงถูกส่งมาดัดสันดานที่นี่ ต่อมาก็เพ่ิมนักโทษการเมือง
ความเป็นอยู่ในเกาะไม่ดี และยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง อาหารการกินขาดแคลน อาจเรียกว่าถูก ‘ปล่อยเกาะ’ ตรงตามคำ
นักโทษต้องหาอาหารเอง โดยจับปลาและปลูกพืชผัก กระนั้นอาหารก็ไม่พอ นักโทษต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอด นักโทษคดีอุกฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งจึงเริ่มออกปล้น
พื้นที่นั้นมีเรือสินค้าผ่านไปมาเสมอ ระหว่างมาเลเซีย ไทย พม่า นักโทษเหล่านี้ลอบนำเรือออกจากเกาะ ปล้นเรือสินค้าที่แล่นผ่านมา โดยที่พัศดีรู้เห็นเป็นใจ และขอรับส่วนแบ่ง สินค้าที่ปล้นมาถูกนำไปจำหน่ายในตัวเมือง
กลายเป็นขบวนการโจรสลัดแห่งตะรุเตา เป็นธุรกิจที่สร้างความร่ำรวยให้ทั้งโจรและผู้คุม
การทำการใหญ่เช่นนี้เป็นไปตามสัจธรรม ‘หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก’
นักโทษทำไม่ได้หากพัศดีไม่รู้เห็น พัศดีทำไม่ได้หากเจ้านายเบื้องบนไม่รับรู้
เหตุที่โจรสลัดตะรุเตากำแหงหาญขนาดนี้ก็เพราะหัวหน้าโจรคือคนของรัฐ
ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ ผู้อำนวยการเกาะตะรุเตาเป็นหัวหน้าโจรสลัดเสียเอง!
กระบวนการปล้นกระทำโดยพัศดีคุมนักโทษออกไปกลางทะเล เมื่อปล้นสินค้ามาได้ ก็นำไปเก็บที่โกดังในเกาะ แล้วส่งออกไปจำหน่าย
รายได้จากอาชีพโจรสลัดก็แบ่งสันปันส่วนกันระหว่างโจรสลัดในคราบนักโทษ โจรสลัดในคราบพัศดี โจรสลัดในคราบผู้อำนวยการ โจรสลัดในคราบตำรวจ โจรสลัดในคราบเจ้าหน้าที่อื่น ๆ
เป็นบริษัทโจรสลัดที่จัดหาสินค้าและจำหน่ายครบวงจร
โจรสลัดแห่งตะรุเตาโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ ไม่ได้ปล้นธรรมดา แต่ปล้นแล้วฆ่าเหยื่อทั้งลำ แล้วจมเรือเพื่อไม่ให้มีหลักฐาน
บางครั้งขนถ่ายสินค้าไปบนเรือโจรสลัด แล้วจมเรือสินค้าทิ้ง พร้อมจับลูกเรือถ่วงน้ำ แล้วจมเรือเพื่อทำลายหลักฐาน บางครั้งก็โยงเรือสินค้า ลากจูงไปที่ท่าเรือตะโละอุดัง ขนถ่ายสินค้าแล้วนำเรือไปทำลาย ฆ่าลูกเรือทั้งหมดเช่นกัน
ตัวอย่าง เช่น ๓ มกราคม ๒๔๘๙ กลุ่มนักโทษโจรสลัดปล้นเรือพม่า สังหารลูกเรือแปดชีวิตทั้งพม่าและจีน จับทุกคนมัดมือไพล่หลัง แล้วโยนลงทะเล ท่ามกลางเสียงร้องขอชีวิต
ครั้งหนึ่งลูกเรือที่ถูกปล้นเจ็ดคนถูกฆ่าโดยมัดไว้กับลูกบวบไม้ซุง โยงออกไปจนถึงจุดปากช่องมฤตยู ที่เรียกว่า สลาจินเจน ซึ่งอยู่ระหว่างปลายแหลมคอคอดของเกาะตะรุเตากับเกาะลังกาวี น้ำทะลตรงนั้นเชี่ยวกราก เมื่อเรือโจรสลัดลากลูกบวบไม้ซุงไปถึง ก็ตัดเชือก เหยื่อทั้งเจ็ดก็ถูกน้ำวนดูดหายไปในพริบตา
โจรสลัดตะรุเตาทำลายหลักฐานด้วยวิธีนี้หลายครั้ง
การสังหารเหยื่อปิดปากเป็นส่วนหนึ่งของงาน บางครั้งไม่ได้ฆ่าโดยตรง แต่ปล่อยให้อดตาย
หลายครั้งหลังจากปล้นแล้ว โจรสลัดจะจับตัวลูกเรือไปทิ้งไว้ที่เกาะนิรนามแห่งหนึ่ง เป็นเกาะร้าง ไม่มีอาหาร ไม่มีทางหนี ปล่อยให้ตายอย่างเลือดเย็น แม้ไม่ได้ฆ่าทันที แต่ก็เหมือนฆ่า ภายหลังพบซากโครงกระดูกคนจำนวนหนึ่งบนเกาะนั้น
แต่ทว่าไม่ทุกคนที่ถูกปล่อยยบนเกาะมรณะแห่งนั้นจะตาย
หนังสือ โจรสลัดเกาะตะรุเตา โดย แสวง ตุงคะบรรหาร บันทึกว่า ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๘ เรือสินค้าลำหนึ่งถูกเรือใบลำเล็กแล่นประกบแล้วยิงปืนขู่เป็นระยะ เรือเหยื่อแล่นหนีไม่ทัน จึงทอดสมอถูกปล้นสินค้าราคาร่วมแสน ได้แก่ยางรถยนต์ ข้าว พริก ฯลฯ หลังจากขนถ่ายสินค้า พบเรือตำรวจมาแต่ไกล โจรสลัดก็พาลูกเรือจีนสี่คนที่ถูกปล้นไปด้วยกับเรือเล็ก หลังจากนั้นก็พาเหยื่อทั้งสี่ไปทิ้งไว้ที่เกาะร้างแห่งนั้น
ลูกเรือจีนทั้งสี่ดิ้นรนเอาชีวิตรอด ช่วยกันต่อแพไม้ไผ่ ลอยกลางทะลสามวันสามคืน จนพบเรือประมงลำหนึ่งช่วยไว้
แต่เคราะห์กรรมซ้ำเติม เมื่อเรือประมงนั้นเป็นเรือจากเกาะตะรุเตา ก็พาลูกเรือเดนตายทั้งสี่กลับไปที่เกาะตะรุเตา!
ด้วยไหวพริบ ลูกเรือทั้งสี่บอกโจรสลัดบนเกาะว่า เรือแตก ไม่ได้ถูกปล้น แล้วแกล้งบ้า
ในที่สุดโจรสลัดก็ปล่อยตัวลูกเรือทั้งสี่ไป และต่อมาทั้งสี่ก็เป็นพยานชี้ตัวผู้คุมที่เป็นโจรสลัด ....................................
อิทธิพลของโจรสลัดตะรุเตาครองอำนาจในพื้นที่แถบนั้น ผลประโยชน์ถูกแจกจ่ายเพื่อให้ทุกคนปิดปากสนิท และมันก็ได้ผล เมื่อคดีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีใครกล้าเปิดปาก
ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์เป็นบุคคลสำคัญในถิ่นนั้น มีเพื่อนเป็นตำรวจระดับผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ไปจนถึงบุคคลระดับข้าหลวง
การปล้นในระดับนี้ย่อมเป็นข่าว นักโทษย่อมรู้ แต่ไม่กล้าพูด ส่วนชาวบ้านชาวเมืองสตูลจำนวนมากรู้เรื่องนี้ แต่ไม่มีใครกล้าพูด ต่างรู้ว่าแม้แต่ตำรวจและข้าราชการระดับสูงก็เกี่ยวข้อง ทั้งหมดกลัวภัยถึงตัว
ที่น่าแปลกคือ ข่าวโจรสลัดตะรุเตาเป็นเรื่องรู้กันทั่วภาคใต้และมลายู พม่า อังกฤษ แต่ทางการไทยกลับ “ไม่รู้เรื่อง” เลย
อย่างไรก็ตาม กลิ่นของโจรสลัดตะรุเตาก็เข้าถึงจมูกของนายตำรวจคนหนึ่งนาม พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข
หลังสงครามโลกยุติ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ถูกส่งไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธร ภาค ๙ ดูแลพื้นที่จังหวัดสตูล ซึ่งรวมเกาะตะรุเตาด้วย
หนังสือ โจรสลัดเกาะตะรุเตา โดย แสวง ตุงคะบรรหาร บันทึกว่า ขณะที่อิทธิพลโจรสลัดครอบคลุมจังหวัดสตูล ก็ยังมีตำรวจชั้นผู้น้อยที่หาญกล้าต่อกร เช่น ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ส.ต.อ. ชั้น โพธิ์ทอง
ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ได้รับรายงานลับจากตำรวจชั้นผู้น้อยคนหนึ่งว่า บนเกาะตะรุเตาขณะนั้นมีสินค้าที่ปล้นมากองพะเนิน เต็มโกดัง โกดังใหญ่ของนิคมกว้างขวางพอบรรจุข้าวสารได้หมื่นกระสอบ จึงทำบันทึกถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ขอตรวจค้นเกาะตะรุเตา
บันทึกของ ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ให้รายละเอียดและเหตุผลของการบุกจู่โจมไปตรวจค้น เพื่อไม่ให้โจรสลัดไหวตัวทัน
คำตอบจากเบื้องบนทำให้ตำรวจหนุ่มอึ้ง
พ.ต.ต. หลวงอนุมานขจัดเหตุ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล เขียนว่า “ไม่อนุญาตให้ท่านขึ้นไปค้นและจับกุม เกาะตะรุเตาเป็นสถานที่ราชการโดยเฉพาะของนิคม ท่านจะไปตรวจค้นจับกุมมิได้ ส่วนปืนกลที่ขออนุมัติมานั้น ก็ไม่อนุญาตเช่นกัน”
ในคืนที่ผู้กำกับออกคำสั่งห้าม ร.ต.ท. สวัสดิ์นั้น ทางเกาะตะรุเตาก็วิ่งพล่านทำลายหลักฐาน ผู้คุมสั่งให้นักโทษขนสินค้าในโกดังไปแอบซ่อนตามจุดต่าง ๆ บนเกาะ แต่สินค้าส่วนใหญ่ขนลงเรือสินค้าสี่ลำไปขายในเมือง ซึ่งต้องขนถ่ายถึงสามเที่ยว
หลักฐานที่จะมัดตัวโจรสลัดถูกทำลายในพริบตา
ในเวลาต่อมา ร.ต.ท. สวัสดิ์ บัวบาน ได้จับกุมโจรสลัดพร้อมของกลางส่งขึ้นศาล แต่ครั้นถึงกำหนดขึ้นศาล ผู้ต้องหาทั้งหลายก็ ‘หายตัว’ ไปต่างประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์
อิทธิพลของโจรสลัดกว้างขวางกว่าเงื้อมมือกฏหมายเอื้อมถึง
ไม่มีทางที่จะต่อกรกับอำนาจทมิฬ ตำรวจที่หาญสู้ก็ถูกย้ายไปจากพื้นที่
ในเมื่อรัฐไทยทำอะไรไม่ได้ อังกฤษก็เข้ามาจัดการให้
พรุ่งนี้ค่อยเล่าต่อ
วินทร์ เลียววาริณ
27-4-25..............................
จากชุด ประวัติศาสตร์ที่เราลืม
ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ คุ้มที่สุด 6 เล่ม 1,000 บาท จากราคาปก 1,605.-
118 เรื่อง = เรื่องละ 8.4 บาทหนังสือหมดเมื่อไร จะไม่ตีพิมพ์ใหม่แล้ว
สั่งทาง Shopee https://shope.ee/30QSjhDgNg?share_channel_code=6
2 วันที่ผ่านมา -
ผมดื่มชาเขียวเป็นประจำ และเลี่ยงการดื่มนอกบ้าน เพราะพบว่าบางร้าน สีเขียวของชาดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ
เวลาผ่านรถเข็นผลไม้ เห็นฝรั่งกับมะม่วงที่ปอกเปลือกแล้วสีเขียวแสบตา ก็สงสัยว่าจะไม่ใช่เขียวธรรมชาติ
ชาจีนก็ดื่ม แต่ไม่ถี่เท่าชาเขียว
ชาข้าวก็ชอบ เป็นชาจากญี่ปุ่นเหมือนกัน
ผมไม่ค่อยดื่มชาเย็น แต่ในฤดูร้อนปีนี้ ก็ดื่มชาดำเย็นไปหลายแก้วเหมือนกัน
ผู้อ่านชอบดื่มชาไทยไหมครับ? ถ้าดื่ม วันนี้คงเห็นข่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบสีในเครื่องดื่มชานมไทย
ผลการตรวจพบสีสังเคราะห์ในชาไทยทุกยี่ห้อ ที่เรียกว่า Sunset Yellow FCF บางยี่ห้อตัวเลขสูงมาก
ผมไม่ค่อยชอบคำว่าสังเคราะห์หรืออะไรที่ไม่ใช่ของธรรมชาติ ฟังแล้วอารมณ์อยากดื่มหายไปกว่าครึ่ง
Sunset Yellow FCF เป็นสารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้นมา ใช้ในอาหาร มีหลายแบบ เช่น Yellow 5 และ Yellow 6 เป็นสารเคมีเดียวกัน แต่ให้สีต่างกัน
บางประเทศในโลกสั่งห้ามการใช้สารชนิดนี้ เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ห้ามสาร Yellow 5 แต่หลายประเทศยังอนุญาตให้ใช้อยู่
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ Sunset Yellow FCF ในอาหารและเครื่องดื่มได้ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ใช้ในปริมาณ 0-4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) ต่อวัน
ถามว่าแล้วมันก่อมะเร็งไหม คำตอบคือยังศึกษาอยู่ มีการศึกษาหลายปีก่อนว่ามันส่งผลต่อเด็กที่เป็น ADHD
โดยรวมถ้าดื่มในกำหนดของ อย. ก็น่าจะปลอดภัย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ถือทางมัชฌิมาปฏิปทาดีกว่ากระมังครับ
วินทร์ เลียววาริณ
27-4-252 วันที่ผ่านมา