• วินทร์ เลียววาริณ
    2 ปีที่ผ่านมา

    ท่านพ่อยึดรากเหง้าของความเป็นจีนอย่างสูง แม้มีลูกสิบคน แต่ก็เจียดเงินให้ลูกทุกคนเรียนภาษาจีน ค่าเล่าเรียนเดือนละราว 25 บาทเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นมา ราคาของรากเหง้าและวัฒนธรรมไม่ถูก

    ผมจำชื่อครูสอนภาษาจีนไม่ได้แล้ว เป็นหญิงจีนวัยราว 40-50 อาศัยอยู่ในห้องแถวไม้แห่งหนึ่ง ไม่ใกล้บ้านผม แต่ก็ไม่ไกลเกินเดินเท้า

    ทุกเย็นผมเดินไปเรียนภาษาจีน บางครั้งก็เดินไปเรียนพร้อมกับเพื่อนซึ่งเป็นเด็กข้างบ้าน ผมสะท้อนฉากชีวิตจริงนี้ในเรื่องสั้น เช็งเม้ง

    “ทุกเย็นผมกับฮกเดินไปเรียนภาษาจีนพร้อมกัน เรามักแวะที่สวนมะละกอกลางทาง เล่นฟันดาบโดยใช้ก้านใบมะละกอ เมื่อเด็ดใบออกก็ได้อาวุธประจำตัว เป็นกระบี่จอมยุทธ์ สมมุติตัวเองเป็นมือกระบี่อย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์จีน”

    หลักสูตร Chinese 101 หรือที่ถูกน่าจะเป็น Chinese Torture 101 เริ่มด้วยหนังสือจีนมาตรฐาน บทที่ 1 คือ “ม่ามา ม่ามาไหล ไหลไหลไหล ม่ามาไคว่ไหล ไคว่ไหลคั่นตี้ตี้” ฯลฯ

    ต่อมาก็ขึ้นเล่ม 2 3 4 ไล่ไปเรื่อย ความสนุกเริ่มลดลงตามลำดับ การเรียนภาษาจีนกลายเป็นการฝึกความอดทน

    หลักสูตรภาษาจีนนี้มีทั้งคัดลายมือ อ่านออกเสียง แต่ที่ผมเกลียดที่สุดคือ dictation (เขียนตามคำบอก)

    ความจริงมันก็ไม่ใช่ dictation เป๊ะ แต่เป็นการท่องจำและเขียน ฝึกทั้งการท่องเนื้อความและอักษรจีนแต่ละตัว ครูให้นักเรียนไปท่องข้อความที่กำหนดไว้ เมื่อมาถึงก็เขียนข้อความนั้นโดยให้คว่ำหนังสือไว้ ห้ามแอบดู

    แล้วใครเล่าจะแอบดูหนังสือตอนครูมองอยู่ล่ะ?

    ครูมีนักเรียนหลายคน เมื่อครูเผลอ เราก็แอบเปิดหนังสือมาดู แล้วเขียนตาม

    ก็ขึ้นชั้นใหม่มาได้เรื่อยๆ ความยากเพิ่มขึ้น

    ผมเกลียดการเรียนพิเศษจีน แต่มันเป็นภาคบังคับของชีวิตลูกจีนในเมืองไทย หากใช้ภาษาของท่านโก้วเล้งคือ “คนในยุทธจักรไม่เป็นตัวของตัวเอง” (人在江湖,身不由己.)

    แล้วสวรรค์ก็โปรด ภาษานิยายจีนกำลังภายในคือ ‘วาสนาในคราเคราะห์’

    ผลสอบอันดับที่ 25 ทำให้ท่านพ่อสั่งให้ผมเลิกเรียนภาษาจีน เรียนพิเศษเฉพาะภาษาอังกฤษ

    ....…

    ตรงกันข้ามกับ Chinese 101 ผมชอบเรียนพิเศษภาษาอังกฤษมาก

    ท่านพ่อรู้ว่าภาษาอังกฤษจำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต จึงเจียดเงินให้เรียน

    ครูสอนภาษาอังกฤษเป็นคนจีน ชื่อครูซิ้วหมิ่น ภาษาอังกฤษของแกเป็นที่เลื่องลือในยุทธจักรหาดใหญ่ แกเปิดบ้านสอนภาษาอังกฤษอย่างเดียว มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

    ครูซิ้วหมิ่นไม่สอนตัวต่อตัว แต่สอนเป็นชั้น ในตอนหัวค่ำมีนักเรียนจำนวนมากไปเรียน

    ตำราที่ครูสอนเป็นหนังสือ Oxford Progressive English for Adult Learners ของ A.S. Hornby ก็เรียนไปหลายเล่ม ผมพัฒนาภาษาอังกฤษจากครูซิ้วหมิ่นมาก หลายปีต่อมาเมื่อผมไปเรียนต่อชั้น ม.ศ. 4 ที่กรุงเทพฯ ก็พบว่าหลักสูตรชั้นเตรียมอุดมศึกษาสอนหนังสือเล่มเดียวกัน แต่ผมเรียนจบมานานแล้ว

    แปลว่าครูซิ้วหมิ่นสอนเด็กต่างจังหวัดด้วยตำราของนักเรียนชั้นมัธยมปลายของกรุงเทพฯ

    ศิษย์ขอคารวะท่านอาจารย์ย้อนหลัง!

    ภาษาอังกฤษของผมอยู่ในเกณฑ์ดีมาตั้งแต่เด็ก ทุกอาทิตย์ผมซื้อหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนมาอ่าน ชื่อ Student Weekly เดิมชื่อ Kaleidoscope ของ Bangkok Post คอลัมน์ที่ผมชอบคือเกม crossword ผมพัฒนาเรื่องคำศัพท์จากการเล่นปริศนาอักษรไขว้มากทีเดียว เพราะมันบังคับให้ผมเปิดหาคำจากพจนานุกรม

    สำหรับชะตากรรมภาษาจีนของผมนั้นสะดุดไปหลายปี มันเป็น ‘unfinished business’ อย่างหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปี 2 ผมติดนิยายจีนกำลังภายในอย่างหนัก จนเกิดความอยากอ่านนิยายต้นฉบับภาษาจีน

    วันหนึ่งผมก็ไปเยาวราช ซื้อพจนานุกรมจีนไทยฉบับ จักร วรศีล มาหนึ่งเล่ม กับหนังสือเรื่อง 三少爺的劍 (ซาเสียวเอี้ย) ของท่านโก้วเล้งสองเล่ม แล้วเริ่มต้นเรียนภาษาจีนใหม่ด้วยตัวเอง

    บางครั้งคนในยุทธจักรก็เป็นตัวของตัวเอง 

    (ยังมีต่อ)

    18
    • 5 แชร์
    • 945
    Tigger
    ภาษาจีนได้ที่ 25 นักเรียนกี่คนครับ ภาษาอังกฤษตอนประถมแน่นอนมี dictation แน่นอน มันทำให้ผมอกสั่นขวัญแขวนทุกครั้ง ที่อาจารย์เอ๋ยคำนี้ เข้ามหาลัย มาเรียนเมืองกรุง เดินห้าง ผมอ่านยี่ห้อเสื้ออิโตคิน เป็นกิโยติน เพื่อนเกือบหงายหลัง แต่ผมฟังเพลงภาษาปะกิตนะ มีคลื่นหนึ่ง เพลงภาษาอังกฤษล้วน ดีเจผู้ชาย น้ำเสียงอบอุ่น ใจดี ผมฟังทุกค่ำ ถึงจะมีคำปลอบใจว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ตัวตัดสินความเก่งของผู้คน แต่มันแสดงว่า ถ้าเค้าเก่ง ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเค้าพยายาม ผ่านไปนานมากแล้ว หนังสือภาษาจีนยังใช้ปกคล้ายไรกันอยู่เลยนะครับ อาจารย์ฟังเพลงจีนมั้ยครับ ขอบคุณครับ
    ดูความเห็น 12 รายการ ...

บทความล่าสุด