• วินทร์ เลียววาริณ
    8 เดือนที่ผ่านมา

    โลกมีนักเขียนมากมาย แต่มี  ‘นักเขียน’ ไม่มาก

    นักเขียนต่างจาก ‘นักเขียน’ อย่างไร?

    นักเขียนเขียนเรื่อง ‘นักเขียน’ เขียนชีวิต

    นักเขียนเขียนงานสำหรับอ่าน ‘นักเขียน’ เขียนงานสำหรับจารึกในวิญญาณ

    สำหรับนักอยากเขียนทั้งหลาย ผมขอแนะนำให้มุ่งเป้าฝึกฝนตนเองเป็น ‘นักเขียน’ ดีกว่า เพราะไหน   ๆ ก็ต้องเหนื่อยแล้ว เพิ่ม ‘app’ อีกเล็กน้อยก็ได้ของดีกว่า

    ทางสู่ ‘นักเขียน’ ไม่ยากอย่างที่คิด มีเพียงสามอย่าง

    1 อ่าน 2 คิด 3 ทำ

    ........................

    1 อ่าน

    อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า นิยาย สารคดี ฯลฯ ทุกประเภทหมายถึงทุกประเภท

    ถามว่าไม่อ่านแล้วเขียนเลยได้ไหม

    ตอบว่าได้ แต่ดูจากนักเขียนผู้สร้างชั้นเลิศทั้งหลายในโลก ทุกคนอ่านมากทั้งนั้น ผมยังไม่เคยเจอนักเขียนสักคนในโลกนี้ที่ไม่เคยอ่าน ไม่ชอบอ่าน แต่เขียนดีมาก เหตุผลเพราะการอ่านช่วยเราสองเรื่องคือ เปิดโลกทัศน์ และสอนวิธีการเขียนทางอ้อม

    แต่คำว่า ‘การอ่าน’ ไม่ได้หมายถึงสักแต่อ่าน ไม่ใช่อ่านว่าพระเอกปล้ำนางเอกหรือเปล่า คนร้ายถูกฆ่าตายหรือไม่ แต่อ่านแบบวิเคราะห์ทำไมพระเอกจึงปล้ำนางเอก ทำไมคนร้ายถูกฆ่าตาย

    และศึกษาว่าทำไมจึงลำดับเรื่องอย่างนั้น ทำไมต้องมีฉากนั้นฉากนี้ เราสามารถปรับปรุงมันให้ดีขึ้นหรือเปล่า มีทางเลือกอื่นอีกไหม

    พูดง่าย ๆ คือ ขณะอ่านให้ท้าประลองคนเขียนไปด้วย คิดให้ไกลกว่าคนเขียน อย่างนี้จึงจะพัฒนา

    ........................

    2 คิด

    คำว่า ‘คิด’ ไม่ใช่การเค้นสมองคิดว่าจะเดินเรื่องอย่างไร พระเอกควรฆ่าคนร้ายอย่างไร ‘คิด’ ในที่นี้หมายถึงการฝึกตนเป็นนักคิด เข้าใจโลก ชีวิต อย่างแทงทะลุ และสามารถคิดข้ามช็อตไกลออกไปอีก

    ลองถามตัวเองว่า เราจะอ่านงานเขียนของคนอื่นหรือไม่ ถ้าเรารู้หมดแล้ว? คำตอบคงไม่

    นักเขียนต้องเดินนำหน้าคนอ่านอย่างน้อยหนึ่งก้าว ถ้าสองสามก้าวยิ่งดี สิบก้าวเป็นเลิศ เพราะถ้านักเขียนไม่สามารถคิดไปไกลกว่าคนอ่าน คนอ่านเขาจะเสียเวลาอ่านของเราไปทำไม?

    การคิดพล็อตเป็นส่วนง่ายที่สุดของการเขียน การเขียนโดยเสนอความคิดที่ลุ่มลึกต่างหากที่ยาก

    การฝึกเป็นนักเขียนจึงต้องฝึกเป็นนักคิดไปพร้อมกัน

    เจออะไรก็คิดไปไกลกว่าสิ่งที่เห็น วิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจ จินตนาการเพื่อให้ไปไกลกว่าแค่สิ่งที่เราเห็นหรือถูกสอนมา

    ถ้าฝึกคิดดี งานที่เขียนก็จะสะท้อนความคิดนั้น และคนอ่านก็สามารถต่อยอดความคิดต่อไป จะว่าไปแล้วหัวใจของงานเขียนดีอยู่ที่ความคิด รายละเอียดเรื่อง ภาษาเป็นเพียงส่วนปลีกย่อย

    เชื้อเพลิงของการฝึกคิดก็คือการศึกษา การวิเคราะห์ บ่อยครั้งต้องใช้จินตนาการเป็นเครื่องมือ

    ........................

    3 ทำ

    คือการฝึกฝีมือ

    จิตรกรเอกวาดรูปสวยด้วยฝีแปรง จอมกระบี่ชนะศัตรูด้วยท่าเพลงอันเชี่ยวชาญ นักเขียนก็เหมือนกัน

    การฝึกฝนอาจเริ่มที่เขียนไดอารี จดหมายถึงเพื่อน เรื่องที่เจอในแต่ละวัน เล่าอย่างง่าย   ๆ แต่ให้เข้าใจ ฝึกไปเรื่อย   ๆ จนสามารถคุมงานได้ ไม่ใช่่ปล่อยให้งานคุมเราจนปวดหัว กุมขมับทั้งวัน เขียนหนังสือแล้วไม่มีความสุขเลย

    สามข้อนี้คือทางสู่ความเป็น ‘นักเขียน’ ทั้งสามอย่างทำไปพร้อมกันได้ อาจกินเวลา 10-20 ปี

    ถ้าคิดว่านานไป ก็ต้องใช้ 30 ปี ถ้าร้องว่าจะบ้าหรือ อย่างนี้ต้องใช้ 50 ปี ถ้าบอกว่าไม่มีเวลา ก็ต้อง 100 ปี

    ยิ่งรีบเท่าไร ก็ยิ่งไปช้า เพราะมันไม่มีทางลัดจริง ๆ

    เราไม่อาจปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ในเวลาปีเดียว มันต้องใช้เวลายาวนาน เพราะต้นไม้งอกทีละมิลลิเมตร ไม่ใช่ทีละศอก

    เอาละ ฟังดูน่ากลัว แต่ทำได้จริง ๆ ไม่ยากอย่างที่ผมขู่หรอก

    และถ้าคุณถอยหลังจากอ่านคำขู่นี้ คุณก็ไม่ได้อยากเขียนจริง ๆ

    จากอีบุ๊ค #ปล่อยให้ความเปลี่ยนแปลงพาไป / วินทร์ เลียววาริณ

    สั่งได้ทางเว็บและ The Meb

    1
    • 1 แชร์
    • 62

บทความล่าสุด